การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายบุญมีเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุก ปรากฏว่านายบุญมากได้มาเช่ารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเพื่อใช้ในกิจการ โดยทําสัญญาเช่ากันปีต่อปี หลังจากนั้นนายบุญมีได้นํารถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปทําประกัน วินาศภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัย แต่ไม่ได้บอกกับบริษัทผู้รับประกันภัยทราบว่ารถคันดังกล่าว นายบุญมากได้เช่าอยู่ ในระหว่างการเช่าและภายในอายุสัญญาประกันภัย นายบุญมีได้ผิดสัญญากับ นายบุญมาก ขายรถยนต์บรรทุกตามสัญญาเช่านั้นให้กับนายบุญหลายพร้อมกับโอนทะเบียนรถยนต์ หลังจากนั้นนายบุญมีกับนายบุญหลายได้ร่วมกันแจ้งการโอนขายรถยนต์บรรทุกให้บริษัทผู้รับ ประกันภัยทราบ ต่อมานายบุญมากได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแล้วไปประสบอุบัติเหตุ รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหาย
จงวินิจฉัยว่า นายบุญมีหรือนายบุญหลาย จะมีสิทธิเรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 865 วรรคแรก “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณี ประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผย ข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 865 วรรคแรก ได้กําหนดไว้ว่า ในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย มีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงที่มีลักษณะสําคัญซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรืออาจบอกปัดไม่ยอมทําสัญญาให้ผู้รับประกันภัยทราบ มิฉะนั้นแล้วสัญญานั้นจะตกเป็นโมฆียะ
กรณีตามอุทาหรณ์ นายบุญมีหรือนายบุญหลาย จะมีสิทธิเรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัย ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่นั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ สัญญาประกันภัยรายนี้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย หรือตกเป็นโมฆียะ เพราะถ้าสัญญาประกันภัยรายนี้ตกเป็นโมฆียะแล้ว นายบุญมีหรือนายบุญหลายย่อมไม่มีสิทธิ เรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
จากข้อเท็จจริง การที่นายบุญมีซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกได้นํารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว ไปทําสัญญาประกันวินาศภัย โดยไม่ได้บอกกับบริษัทผู้รับประกันภัยว่ารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวนั้นนายบุญมาก เช่าอยู่ กรณีนี้จึงถือว่าในเวลาทําสัญญาประกันภัย นายบุญมีไม่ได้เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะจูงใจ ประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา ดังนั้นสัญญาประกันภัยรายนี้จึง ตกเป็นโมฆียะเมื่อนายบุญมากได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแล้วไปประสบอุบัติเหตุ ทําให้รถยนต์บรรทุก ได้รับความเสียหาย นายบุญมีหรือนายบุญหลายจึงไม่มีสิทธิเรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
สรุป
นายบุญมีหรือนายบุญหลายไม่มีสิทธิเรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ เพราะสัญญาประกันภัยรายนี้ตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 865 วรรคแรก
ข้อ 2 นายเอี่ยมเป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่ง นายเอี่ยมใช้รถยนต์คันดังกล่าวมาได้ปีกว่า หลังจากนั้นนายเอี่ยมได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวไปให้กับนางอรทัย วันที่ 25 มิถุนายน 2556 ภายหลังจากทําสัญญา ซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว ในวันนั้นเองนายเอี่ยมก็ได้ทําสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัทเชี่ยวชาญ ประกันภัย จํากัด เป็นการประกันภัยประเภทที่ 1 คือ คุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับตัวรถที่เอา ประกันรวมทั้งความรับผิดต่อบุคคลที่สามด้วย จํานวนเงินซึ่งเอาประกันภัยสองแสนบาทมีกําหนดเวลา 1 ปี หลังจากทําสัญญา วันที่ 24 มิถุนายน 2557 นายอ่องขับรถบรรทุกโดยความประมาทเลินเล่อ ชนกับรถยนต์ของนางอรทัยได้รับความเสียหาย ตีราคาความเสียหายเป็นเงินหนึ่งแสนบาท ปรากฏว่า บริษัทเชี่ยวชาญประกันภัย จํากัด ได้นํารถยนต์ของนางอรทัยไปซ่อมและสามารถนํากลับไปใช้ได้แล้ว
ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า บริษัทเชี่ยวชาญ ประกันภัย จํากัด มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายอ่องได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 880 วรรคแรก “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย และของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอี่ยมซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่งได้ขายรถยนต์คันดังกล่าว ให้กับนางอรทัยไปแล้ว และภายหลังจากการทําสัญญาซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว นายเอี่ยมก็ได้ทําสัญญาประกันภัย รถยนต์คันดังกล่าวไว้กับบริษัทเชี่ยวชาญประกันภัย จํากัด นั้น จะเห็นได้ว่าในขณะที่ทําสัญญาประกันภัยนายเอี่ยม ไม่ได้เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว และแม้ว่าการประกันภัยจะได้ทําในนามของ นายเอี่ยมเอง ก็ไม่ถือว่านายเอี่ยมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้แต่อย่างใด ดังนั้นสัญญา ประกันภัยจึงไม่ผูกพันคู่สัญญา (มาตรา 863)
และเมื่อสัญญาประกันภัยไม่ผูกพันคู่สัญญา ดังนั้น การที่นายอ่องขับรถบรรทุกโดยความ ประมาทเลินเล่อชนกับรถยนต์ของนางอรทัยได้รับความเสียหาย และบริษัทเชี่ยวชาญประกันภัย จํากัด ได้นํารถยนต์ ของนางอรทัยไปซ่อมและสามารถนํากลับไปใช้ได้แล้ว บริษัทเชี่ยวชาญประกันภัยจํากัดก็จะใช้สิทธิตามมาตรา 880 วรรคแรก เพื่อเข้ารับช่วงสิทธิของนายเอียมในการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากนายอ่องไม่ได้ (ฎีกาที่ 115/2511 และ 961/2522)
สรุป
บริษัท เชี่ยวชาญประกันภัย จํากัด ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายอ่อง
ข้อ 3 สมชายกับสมศรีเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรชายหนึ่งคนคือ สมพงษ์ สมพงษ์ได้ไปทําสัญญาประกันชีวิตของนายสมชายบิดาของตนไว้กับบริษัทประกันชีวิต จํากัด เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 จํานวนเงินที่เอาประกัน 2 ล้านบาท สัญญากําหนด 5 ปี โดยระบุให้ตนเองเป็น ผู้รับประโยชน์ ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2555 สมพงษ์ก็ได้ไปทําสัญญาประกันชีวิตของสมศรีมารดา อีกกรมธรรม์หนึ่งไว้กับบริษัทเดียวกันนั้น จํานวนเงินที่เอาประกัน 1 ล้านบาท สัญญากําหนด 5 ปี โดยระบุให้สมพงษ์เป็นผู้รับประโยชน์อีกเช่นกัน ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 สมชายกับสมศรี ทะเลาะกันอย่างรุนแรง เนื่องจากสมชายไปติดพันสดสี ซึ่งเป็นสาวสวยข้างบ้าน จึงทําให้สมศรีเกิด การหึงหวง สมชายบันดาลโทสะ จึงใช้ปืนยิงสมศรีถึงแก่ความตาย และด้วยความเสียใจในเหตุที่เกิดขึ้น เขาจึงได้ยิงตัวตายตามสมศรีไป สมพงษ์จึงไปขอรับเงินจากบริษัทประกันชีวิตตามสัญญาทั้ง 2 กรณี ดังกล่าว
จงวินิจฉัยว่าบริษัทจะต้องชดใช้เงินให้กับสมพงษ์ เนื่องจากเหตุการตายของสมชายและสมศรีหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับ ประกันภัยจําต้องใช้เงินนั้นในเมือมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ
(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจําต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สมพงษ์ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของสมชายและสมศรี ได้ไป ทําสัญญาประกันชีวิตของสมชายบิดาของตน และได้ไปทําสัญญาประกันชีวิตของสมศรีมารดาอีกกรมธรรม์หนึ่ง ไว้กับบริษัทประกันชีวิต จํากัด ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 และวันที่ 15 มีนาคม 2555 ตามลําดับ โดยได้ระบุให้ ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ทั้ง 2 กรมธรรม์นั้น ย่อมสามารถทําได้เพราะถือว่าสมพงษ์ผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในเหตุ ที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา
แต่อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 895 ผู้รับประกันภัยสามารถปฏิเสธการใช้เงินตามสัญญา ประกันชีวิตได้ ในกรณีที่
1 บุคคลผู้ถูกเอาประกันชีวิตกระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทําสัญญา
2 บุคคลผู้ถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้เงินหรือปฏิเสธไม่ใช้ เงินแก่สมพงษ์เนื่องจากเหตุการตายของสมชายและสมศรีได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของสมชาย การที่สมชายใช้ปืนยิงตัวตาย ถือเป็นกรณีที่บุคคลผู้ถูกเอาประกันชีวิต กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันทําสัญญา ดังนั้นบริษัทจึงสามารถปฏิเสธการใช้เงินให้แก่ สมพงษ์ตามสัญญาประกันชีวิตได้ตามมาตรา 895 (1)
กรณีของสมศรี การที่สมชายใช้ปืนยิงสมศรีตายนั้นแม้เป็นการฆ่าสมศรีตายโดยเจตนา แต่สมชาย มิใช่เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีที่บุคคลผู้ถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895 (2) ดังนั้น บริษัทจึงปฏิเสธไม่ใช้เงินแก่สมพงษ์ตามสัญญาประกันชีวิตไม่ได้ บริษัทจะต้องชดใช้เงินให้กับสมพงษ์
สรุป
บริษัทสามารถปฏิเสธไม่ใช้เงินแก่สมพงษ์เนื่องจากเหตุการตายของสมชายได้ แต่จะต้อง ชดใช้เงินให้แก่สมพงษ์เนื่องจากเหตุการตายของสมศรี จะปฏิเสธไม่ใช้เงินให้แก่สมพงษ์ไม่ได้