ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายบวรติดต่อทำสัญญาประกันชีวิตของนางจันทร์ภริยากับบริษัท มั่นใจประกันชีวิต จำกัด ในการแถลงถึงสุขภาพ นายบวรแถลงว่าภริยามีสุขภาพดี ซึ่งความเป็นจริงนางจันทร์เป็นมะเร็งที่เต้านม แต่นางจันทร์นิ่งเฉยเสีย บริษัทตกลงรับทำประกันภัยให้ เวลาผ่านไปหกเดือนหลังจากทำสัญญา นางจันทร์ได้เสียชีวิตลงเพราะถูกไฟฟ้าดูด นายบวรจึงติดต่อขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท แต่บริษัทปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่านางจันทร์ปกปิดข้อความจริง นายบวรโต้แย้งว่านายบวรเป็นผู้เอาประกันไม่เกี่ยวกับการปกปิดของนางจันทร์ และการที่นางจันทร์เสียชีวิตมาจากสาเหตุไฟฟ้าดูด ซึ่งไม่เกี่ยวกับโรค ดังนี้ ข้อโต้แย้งของนายบวรฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายบวรและนางจันทร์เป็นสามีภริยากัน จึงถือว่านายบวรมีส่วนได้เสียในเหตุที่
เอาประกัน สัญญาประกันชีวิตจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามมาตรา 863ตามข้อเท็จจริง การที่นายบวรติดต่อทำสัญญาประกันชีวิตของนางจันทร์กับบริษัท มั่นใจประกันชีวิตจำกัด โดยที่นางจันทร์ผู้ถูกเอาประกันนิ่งเฉยเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงว่าตนเป็นมะเร็งที่เต้านม ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ โดยหากบริษัทฯได้ทราบความจริงก็จะเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือมิฉะนั้นก็บอกปัดไม่ทำสัญญาด้วยนั้น ย่อมส่งผลทำให้สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 865
และเมื่อนางจันทร์เสียชีวิตและบริษัทฯปฏิเสธการจ่ายเงิน การที่นายบวรได้โต้แย้งว่าตนเป็นผู้เอาประกันไม่เกี่ยวกับการปกปิดของนางจันทร์นั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะหน้าที่เปิดเผยข้อความจริงตามมาตรา 865 ย่อมเป็นของทั้งผู้เอาประกันและผู้ถูกเอาประกัน
ส่วนการโต้แย้งที่ว่านางจันทร์เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าดูดไม่เกี่ยวกับโรคนั้น ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวตกเป็นโมฆียะแล้วตั้งแต่ต้น แม้เสียชีวิตด้วยสาเหตุใด บริษัทก็มีสิทธิบอกล้างและปฏิเสธการจ่ายเงินได้ทั้งสิ้น หากเป็นการใช้สิทธิบอกล้างภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดสรุป ข้อโต้แย้งของนายบวรฟังไม่ขึ้นทั้งสองกรณี
ข้อ 2 นายมีเจ้าของตึกแถวทำสัญญาเอาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง โดยระบุให้นายมากเจ้าหนี้เป็นผู้รับประโยชน์ กำหนดเวลาคุ้มครอง 1 ปี หนึ่งอาทิตย์ต่อมานายมากแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตน สองเดือนต่อมานายมีขายตึกแถวนี้ให้นายแมน โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน หลังจากนั้น 7 วันต่อมานายมีบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังบริษัทประกันวินาศภัย ต่อมาอีก 1 เดือน ในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับเกิดอัคคีภัยขึ้นทำให้ตึกแถวของนายมีเสียหายทั้งหมด ดังนี้อยากทราบว่า นายมี นายมาก นายแมน ใครเป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 374 วรรคสอง ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น
มาตรา 875 ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย
ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่งถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ โดยปกติสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เกิดวินาศภัยขึ้นนั้นย่อมเป็นของคู่สัญญา คือ นายมีผู้เอาประกันภัย แต่เมื่อนายมีระบุให้นายมากเป็นผู้รับประโยชน์ และนายมากได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น คือ ได้ปฏิบัติตามมาตรา 374 วรรคสองแล้ว สิทธินี้จึงตกไปเป็นของนายมาก
ตามข้อเท็จจริง แม้ต่อมานายมีจะได้โอนวัตถุที่เอาประกันภัยคือตึกแถวให้นายแมน และได้บอกกล่าวการโอนไปยังบริษัทประกันภัย ซึ่งโดยหลักจะมีผลทำให้สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยโอนตามไปด้วย ตามมาตรา 875 วรรคสองก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่านายมีไม่มีสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทน ผู้ที่มีสิทธิคือนายมาก ดังนั้น สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจึงไม่โอนไปยังนายแมน เพราะสิทธิดังกล่าวจะโอนไปได้ก็ต่อเมื่อนายมีผู้เอาประกันเป็นผู้มีสิทธิเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นทำให้ตึกแถวของนายมีเสียหาย และในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น นายมากผู้รับประโยชน์จึงเป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
สรุป การโอนวัตถุที่เอาประกันภัยรายนี้ ไม่ทำให้สิทธิตามสัญญาประกันภัยโอนไปยังผู้รับโอน คือนายแมน ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนคือนายมาก
ข้อ 3 นายดำได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะไว้กับบริษัท ประกันชีวิต จำกัด จำนวนเงินที่เอาประกัน 5 แสนบาท สัญญากำหนด 10 ปี ระบุให้นางเหลืองภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ในขณะทำสัญญานายดำได้แถลงอายุของตนกับบริษัทว่ามีอายุ 58 ปี ทั้งที่อายุจริงของนายดำคือ 63 ปี ทั้งนี้เพื่อให้อายุอยู่ในเกณฑ์ตามข้อกำหนดของบริษัท ซึ่งบริษัทได้กำหนดว่าผู้ที่จะเอาประกันชีวิตได้นั้นต้องมีอายุขั้นสูงไม่เกิน 60 ปี ในระหว่างอายุสัญญานายดำประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต นางเหลืองจึงไปขอรับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะผู้รับประโยชน์ แต่บริษัทปฏิเสธการจ่าย โดยอ้างว่านายดำปกปิดเรื่องอายุ โดยแถลงไว้คลาดเคลื่อน สัญญาจึงเป็นโมฆียะ และได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตนี้ภายในกำหนดระยะเวลาบอกล้าง จงวินิจฉัยว่า บริษัทมีสิทธิที่จะบอกล้างได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบการวินิจฉัยด้วย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 889 ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง
มาตรา 893 วรรคสอง แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่าในขณะที่ทำสัญญานั้น อายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางการค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายดำได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ จึงถือว่านายดำเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน สัญญาจึงมีผลผูกพันตามมาตรา 863 ประกอบมาตรา 889
ตามข้อเท็จจริง ในขณะทำสัญญา ดำได้แถลงอายุของตนคลาดเคลื่อน เพื่อให้อายุอยู่ในเกณฑ์ตามข้อกำหนดของบริษัท ซึ่งแท้จริงแล้ว อายุของดำอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางการค้าปกติของบริษัท จึงทำให้สัญญาประกันชีวิตของดำตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 893 วรรคสอง
เมื่อสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ บริษัทจึงมีสิทธิที่จะบอกล้างได้ภายในกำหนดระยะเวลาการบอกล้าง ข้ออ้างของบริษัทจึงฟังขึ้น ดังนั้น นางเหลืองผู้รับประโยชน์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตของดำ
สรุป สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ บริษัทมีสิทธิบอกล้างได้