การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายกล้าเป็นข้าราชการบำนาญ  มีรถเก๋งอยู่คันหนึ่งแต่ไม่ค่อยได้ใช้  จึงให้นายเก่งลูกชายขับไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง  และในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์  นายกล้าจึงได้ใช้ขับไปทำบุญที่วัด  นายเก่งกลัวว่ารถที่ตนใช้อยู่เป็นประจำจะถูกขโมย  จึงได้นำรถคันดังกล่าวไปทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทบางกอกประกันภัย  จำกัด  ในวงเงิน  3  แสนบาท  สัญญากำหนด  1  ปี  ระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์  หลังจากทำสัญญาได้  4  เดือน  นายกล้าก็ป่วยเป็นโรคหัวใจวายตาย  นายเก่งจึงได้รับมรดกทั้งหมดรวมทั้งรถเก๋งคันที่เอาประกันนั้นด้วย  22  เดือนต่อมา  นายเก่งได้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนเสาไฟฟ้าได้รับความเสียหายเป็นเงิน  2  แสนบาท นายเก่งจึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัย  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทบางกอกประกันภัย  จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้นายเก่งหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

อันจำนวนวินาศจริงนั้น  ท่านให้ตีราคา  ณ  สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น  อนึ่ง  จำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  สัญญาประกันภัย  ไม่ว่าจะเป็นสัญญาประกันวินาศภัยหรือสัญญาประกันชีวิต  ถ้าผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย  สัญญาประกันวินาศภัยหรือสัญญาประกันชีวิตนั้นย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญา  ตามมาตรา  863  กล่าวคือ  สิทธิและหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

สำหรับส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยนี้  คงพิจารณาเฉพาะในขณะเมื่อทำสัญญาประกันภัยเท่านั้น  หากปรากฏว่าในขณะทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียแล้ว  สัญญาประกันภัยย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญา

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  บริษัทบางกอกประกันภัย  จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเก่งหรือไม่  เห็นว่า  ในขณะที่ทำสัญญาประกันวินาศภัยนั้น  นายเก่งยังไม่มีส่วนได้เสียในรถคันนั้นแต่อย่างใด  เนื่องจากรถยังเป็นของนายกล้าผู้เป็นบิดาอยู่  แม้นายกล้าจะให้นายเก่งใช้สอยได้ก็หาทำให้นายเก่งมีส่วนได้เสียในรถนั้นไม่  เมื่อนายเก่งผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในรถซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย  สัญญาประกันวินาศภัยนั้นย่อมไม่ผูกพันนายเก่ง  ตามมาตรา  863

และถึงแม้ว่าต่อมานายกล้าตายลง  จะทำให้นายเก่งได้เป็นเจ้าของรถคันนั้นโดยทางมรดก  แต่หาทำให้สัญญาประกันภัยซึ่งไม่ผูกพันคู่สัญญามาตั้งแต่แรก  กลับมามีผลผูกพันแต่อย่างใด  เพราะเหตุแห่งส่วนได้เสียนั้นพิจารณาในขณะทำสัญญาประกันภัยเท่านั้น  เมื่อในขณะทำสัญญาประกันภัย  นายเก่งไม่มีส่วนได้เสีย  แม้ภายหลังต่อมานายเก่งจะมีส่วนได้เสีย  สัญญาประกันภัยก็ไม่มีผลผูกพัน  ตามมาตรา 863  ดังนั้นการที่วินาศภัยเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกัน  บริษัทบางกอกประกันภัย  จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  877

สรุป    บริษัทบางกอกประกันภัย  ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  877

 

ข้อ  2  นายแสงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์  ราคา  1  ล้านบาท  ได้นำรถนี้ไปทำประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถของตนเอง  วงเงินเอาประกัน  8  แสนบาท  ในระหว่างอายุสัญญา  นายซิ่งทำละเมิดขับรถชนท้ายเป็นเหตุให้รถของนายแสงเสียหายเป็นจำนวน  2  แสนบาท ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยจ้างนายเก่งเจ้าของอู่ดำเนินการซ่อมแซมรถจนกระทั่งส่งมอบรถคืนให้นายแสงเรียบร้อยแล้ว  บริษัทประกันภัยจึงเรียกร้องให้นายซิ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทประกัน  แต่นายซิ่งปฏิเสธการจ่ายเงิน  อยากทราบว่าบริษัทประกันภัยต้องฟ้องนายซิ่งภายในอายุความ  1  ปี  ตามกฎหมายละเมิดมาตรา  448  หรือ  2  ปี  ตามกฎหมายประกันภัยมาตรา  882  ให้ยกหลักกฎหมายประกอบการอธิบาย

ธงคำตอบ  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  880  วรรคแรก  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้  ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

มาตรา  882  วรรคแรก  ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  บริษัทประกันภัยจะต้องฟ้องนายซิ่งภายในอายุความ  1  ปี  ตามกฎหมายละเมิด  มาตรา 448  หรือ  2  ปี   ตามกฎหมายประกันภัย  มาตรา  882  ดังนี้  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่รถของนายแสงเกิดความเสียหายนั้น  เกิดจากการกระทำละเมิดของบุคคลภายนอก  คือ  นายซิ่ง  และบริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว  โดยให้นายเก่งเจ้าของอู่ทำการซ่อมแซมทำให้บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายซิ่งโดยการรับช่วงสิทธิ  ซึ่งการรับช่วงสิทธิกรณีนี้เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา  880  วรรคแรกจะเห็นว่า  การรับช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยมีต่อบุคคลภายนอก  ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเพียงใด  ผู้รับประกันภัยก็รับช่วงสิทธิเพียงนั้น  จะใช้สิทธิเกินไปกว่าสิทธิของผู้เอาประกันภัยหาได้ไม่  ดังนั้นถ้าผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกในอายุความอย่างใด  ผู้รับประกันภัยก็ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกภายในอายุความอย่างเดียวกัน  ซึ่งในกรณีนี้ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดภายในอายุความ  1  ปี  นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ไม่เกิน  10  ปี  นับแต่วันทำละเมิด  ตามมาตรา  448  วรรคแรก  บริษัทประกันภัยจึงมีสิทธิฟ้องนายซิ่งภายในอายุความ  1  ปีด้วย  ส่วนอายุความ  2  ปี  ตามมาตรา  882  เป็นอายุความสำหรับการเรียกค่าสินไหมทดแทนโดยอาศัยสัญญาประกันภัย  ซึ่งหมายถึงการเรียกร้องระหว่างคู่สัญญาคือ  ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยเท่านั้น  จึงไม่อาจนำมาใช้กับการรับช่วงสิทธิที่ผู้รับประกันภัยจะเรียกร้องจากบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่สัญญาได้  (ฎ.5813/2539 และ ฎ. 2425/2538)

สรุป  บริษัทประกันภัยต้องฟ้องนายซิ่งภายในอายุความ  1  ปี  ตามกฎหมายละเมิด  มาตรา  448

 

ข้อ  3  นายทรหดได้ทำสัญญาเอาประกันชีวิตของตนในเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง  เป็นจำนวน  1  ล้านบาท  โดยนายทรหดได้ปกปิดเรื่องที่ตนป่วยเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวอยู่  บริษัทประกันชีวิตไม่ทราบความจริงเรื่องนี้เลย  จึงได้ทำสัญญารับประกันไว้  ต่อมานายทรหดได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคหวัดนก  ภายหลังได้ทำสัญญาประกันชีวิตมาแล้ว  6  ปี  บริษัทประกันชีวิตจึงทราบความจริงที่นายทรหดป่วยเป็นโรคมะเร็งก่อนทำสัญญาประกันชีวิต  จึงบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทประกันชีวิตมีสิทธิบอกล้างสัญญาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา  หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายทรหดปกปิดเรื่องที่ตนป่วยเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวนั้น  เป็นการปกปิดความจริงในขณะทำสัญญาประกันชีวิต  ตามมาตรา  865  วรรคแรก  ข้อที่นายทรหดปกปิดนี้เห็นได้แน่ชัดว่าเป็นข้อสำคัญซึ่งถ้านายทรหดไม่ปกปิดและแถลงความจริงให้กับบริษัทประกันชีวิตทราบแล้ว  บริษัทประกันชีวิตจะต้องบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตอย่างแน่นอน  เพราะโรคดังกล่าวเป็นโรคร้ายแรงอันเป็นอันตรายต่อชีวิตได้  สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตั้งแต่ขณะทำสัญญา  ตามมาตรา  865  วรรคแรก  แม้จะปรากฏภายหลังว่า  นายทรหดได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคหวัดนกซึ่งมิใช่โรคที่นายทรหดได้ปกปิดก็ตาม  ก็ไม่ทำให้สัญญาที่ตกเป็นโมฆียะตั้งแต่แรกนั้นเปลี่ยนแปลงมาสมบูรณ์แต่อย่างใด  บริษัทประกันชีวิตจึงมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตนี้ได้

อย่างไรก็ตาม  บทบัญญัติมาตรา  865  วรรคสอง  ได้กำหนดว่า  ผู้รับประกันชีวิตจะต้องบอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่เป็นโมฆียะนั้นภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้  หรือภายในกำหนด  5  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  มิฉะนั้นสิทธิบอกล้างย่อมเป็นอันระงับสิ้นไป  กรณีนี้การทำสัญญาประกันชีวิตได้ล่วงเลยมาเป็นเวลา  6  ปีแล้ว  เกิดกำหนดเวลาที่จะบอกล้างได้  ดังนั้น  บริษัทประกันชีวิตจึงหมดสิทธิในการบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้  ตามมาตรา  865  วรรคสอง

สรุป  บริษัทประกันชีวิตไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิต

Advertisement