การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

Advertisement

ข้อ  1  นายเก่งทำสัญญาเป็นหนังสือเช่าโรงสีซึ่งนายรวยเป็นเจ้าของ  กำหนดเวลา  3  ปี  หลังจากทำสัญญาเช่าไปได้  1  เดือน  นายรวยเอาประกันอัคคีภัย

โรงสีนี้ไว้กับบริษัท  สยามประกันอัคคีภัย  จำกัด  โดยระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์  แต่นายรวยไม่ได้แถลงไว้ในคำขอเอาประกันภัย  ให้ผู้รับประกันทราบในเรื่องการเช่าดังกล่าว  ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย  โรงสีที่เอาประกันภัยถูกไฟไหม้หมด  อยากทราบว่า สัญญาประกันภัยนี้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด  ยกหลักกฎหมายประกอบการอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  865 วรรคแรก  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา  หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาประกันภัยรายนี้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ตามกฎหมายในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงที่มีลักษณะสำคัญซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาให้ผู้รับประกันภัยทราบ  มิฉะนั้นแล้วสัญญานั้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  865  วรรคแรก

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายรวยให้นายเก่งเช่าโรงสีถือเป็นข้อความจริงที่นายรวยผู้เอาประกันภัยต้องเปิดเผยให้บริษัท  สยามประกันอัคคีภัยฯทราบ  เพราะเป็นข้อความจริงที่มีความสำคัญถึงขนาดเป็นเหตุจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นอีกหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาก็ได้  เนื่องจากการที่มีผู้เช่าโรงสี  ผู้เช่านั้นย่อมมีความระมัดระวังในความปลอดภัยของโรงสีน้อยกว่านายรวยผู้เป็นเจ้าของ  ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดไฟไหม้โรงสีย่อมมีมากขึ้นนั่นเอง

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ในเวลาทำสัญญาประกันภัย  นายรวยไม่ได้แถลงไว้ในคำขอเอาประกันภัยให้ผู้รับประกันภัยทราบในเรื่องการเช่าดังกล่าว  สัญญาประกันภัยระหว่างนายรวยและบริษัท  สยามประกันอัคคีภัยฯจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  865  วรรคแรก

สรุป  สัญญาประกันภัยระหว่างนายรวยและบริษัท  สยามประกันอัคคีภัยฯ  มีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ  2  นางละอองฟ้าเจ้าของโรงงานมูลค่า  50  ล้านบาท  ได้เอาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทเอ  จำนวนเงินเอาประกัน  20  ล้านบาท  กรมธรรม์ระบุวันทำสัญญาคือ  1  มกราคม  2551  เวลา  10.00 น.  และนางละอองฟ้าได้เอาประกันอัคคีภัยโรงงานนี้ไว้กับบริษัทบี  จำนวนเงินเอาประกัน  30  ล้านบาท  กรมธรรม์ระบุวันทำสัญญาคือ  1  มกราคม  2551  เวลา  15.00 น  และนางละอองฟ้าได้เอาประกันอัคคีภัยโรงงานดังกล่าวไว้กับบริษัทซี  จำนวนเงินเอาประกัน  50  ล้านบาท  กรมธรรม์ระบุวันทำสัญญาคือ  1  มกราคม  2550  เวลา  16.00 น. ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาของทั้งสามบริษัท 

ปรากฏว่าเกิดเพลิงไหม้โรงงานใกล้เคียงแล้วลุกลามมาไหม้โรงงานของนางละอองฟ้าเสียหายทั้งหมด  อยากทราบว่า  นางละอองฟ้าผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทใดบ้าง  และเป็นจำนวนเท่าใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  870  ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน  และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้  ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น  ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้

อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย  ถ้าลงวันเดียวกัน  ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน

ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน  ท่านว่าผู้รับประกันภัยรายแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้  ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อๆกันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางละอองฟ้านำโรงงานมูลค่า  50  ล้านบาท  ไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทเอ  และนำไปประกันไว้กับบริษัทบีอีก  โดยกรมธรรม์ระบุวันทำสัญญาคือวันที่  1  มกราคม  2551  เหมือนกันทั้งสองบริษัทนั้น  ถือว่านางละอองฟ้าได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัทเอและบริษัทบีพร้อมกัน  แม้จะทำต่างเวลากันก็ตาม  ตามมาตรา  870 วรรคสอง  และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนที่นางละอองฟ้าจะนำโรงงานไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยกับบริษัทเอและบริษัทบี  นางละอองฟ้าได้นำโรงงานนั้นไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยกับบริษัทซีไว้ก่อนแล้ว  โดยกรมธรรม์ระบุวันทำสัญญาคือวันที่  1  มกราคม  2550  ดังนั้น  จึงเป็นเรื่องการประกันวินาศภัยหลายรายในวัตถุเดียวกันและเป็นวัตถุสืบเนื่องเป็นลำดับกันจึงต้องนำหลักเกณฑ์ตามมาตรา  870  วรรคสามมาใช้ก่อน  กล่าวคือ  ต้องจัดให้ผู้รับประกันภัยลำดับแรกใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อน  เหลือเท่าใดจึงคิดคำนวณในเรื่องการประกันพร้อมกันตามมาตรา  870  วรรคแรกอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ได้เกิดวินาศภัยคืออัคคีภัยขึ้นทำให้โรงงานของนางละอองฟ้าเสียหายทั้งหมด  ดังนั้น  บริษัทซีซึ่งเป็นผู้รับประกันลำดับแรกจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อน  เมื่อค่าเสียหายที่แท้จริงเป็นเงิน  50  ล้านบาท  และบริษัทซีรับประกันไว้  50  ล้านบาท ไม่เกินความเสียหาย  จึงต้องรับผิดเต็มจำนวนที่รับประกันไว้คือ  50  ล้านบาท  ตามมาตรา  870  วรรคสาม

สรุป  นางละอองฟ้าผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทซีได้จำนวน  50  ล้านบาท  ส่วนบริษัทเอและบริษัทบี  เมื่อบริษัทซีใช้ค่าสินไหมทดแทนคุ้มจำนวนวินาศภัยแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน 

 

ข้อ  3  สัมฤทธิ์ทำประกันชีวิตกับบริษัท  สมัครใจประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินเอาประกัน  1,000,000  บาท  ชำระเบี้ยประกันชีวิตปีละ  12,000  บาท  สัญญาประกันชีวิตเริ่มตั้งแต่วันที่  16  กรกฎาคม  2553  ต่อมาสัมฤทธิ์มีปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจที่ทำอยู่  กิจการขาดทุนและกำลังถูกเจ้าหนี้ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย  วันที่  6  กรกฎาคม  2554  สัมฤทธิ์จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกลงมาจากชั้น  3 ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ได้นำสัมฤทธิ์ส่งโรงพยาบาล  สมฤทธิ์ยังไม่ตายแต่อาการสาหัส  สมองกระทบกระเทือนจากแรงกระแทกอย่างแรง  และได้รับการรักษาตัวอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู.  ของโรงพยาบาลจนกระทั่งวันที่  2  สิงหาคม  2554  สัมฤทธิ์สิ้นใจอย่างสงบ  ประพลเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต  จึงเรียกร้องไปยังบริษัท  สมัครใจประกันชีวิต  จำกัด  เพื่อขอรับเงิน  1,000,000  บาทตามทุนประกัน บริษัทฯปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าสัมฤทธิ์ฆ่าตัวตายภายใน  1  ปีนับแต่วันทำสัญญา  ประพลต่อสู้ว่าสัมฤทธิ์ไม่มีเจตนาฆ่าตัวตายเพื่อหวังเงินประกันชีวิตและสัมฤทธิ์ตายภายหลัง  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  บริษัทฯจึงต้องจ่ายเงินตามทุนประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์  ดังนี้ ข้อต่อสู้ของประพลฟังขึ้นหรือไม่  บริษัทต้องจ่ายเงินหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  เมื่อผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ถึงแก่ความตาย  บริษัทผู้รับประกันชีวิตจะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้นๆ  เว้นแต่บุคคลนั้นจะฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน  1  ปีนับแต่วันทำสัญญาไม่ว่าจะถึงแก่ความตายในทันทีหรือไม่ก็ตามหรือเป็นกรณีที่บุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา  (มาตรา  895)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สัมฤทธิ์ฆ่าตัวตาย  แม้จะไม่มีเจตนาฆ่าตัวตายเพื่อหวังเงินประกันชีวิต แต่การที่สัมฤทธิ์สมัครใจฆ่าตัวตายภายใน  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญาคือภายในวันที่  16  กรกฎาคม  2554  นั้น  ถือเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน  1  ปี นับแต่วันทำสัญญา  แม้จะถึงแก่ความตายภายหลัง  1  ปีแล้วก็ตาม  ดังนั้นข้อต่อสู้ของประพลที่ว่าสัมฤทธิ์ไม่มีเจตนาฆ่าตัวตายเพื่อหวังเงินประกันชีวิต  และสัมฤทธิ์ตายภายหลัง  1  ปีนับแต่วันทำสัญญานั้นจึงฟังไม่ขึ้น  บริษัทสมัครใจประกันชีวิตฯ  จึงไม่ต้องจ่ายเงินตามทุนประกันให้แก่ประพลผู้รับประโยชน์ตามมาตรา  895(1)

สรุป  ข้อต่อสู้ของประพลฟังไม่ขึ้น  และบริษัทสมัครใจประกันชีวิตฯ  ไม่ต้องจ่ายเงินตามทุนประกัน

Advertisement