การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายเอกได้เอาประกันชีวิต 1 ล้านบาท ในเหตุมรณะกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2547 มีกำหนดสัญญา 5 ปี ระบุให้นายโทเป็นผู้รับประโยชน์ โดยนายเอกไม่เปิดเผยเรื่องที่ตนเป็นโรคไส้เลื่อนให้บริษัทประกันภัยทราบ ในวันที่ 1 มกราคม 2550 นายเอกถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็ง ต่อมาบริษัทประกันภัยทราบเรื่องว่านายเอกไม่เปิดเผยความจริงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 อันเป็นวันครบกำหนดสัญญาจึงรีบบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป
มาตรา 890 จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายเอกทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง ย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน สัญญาประกันชีวิตย่อมมีผลผูกพันตามมาตรา 863
การที่นายเอกซึ่งเป็นผู้เอาประกันชีวิตรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 865 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นข้อความจริงที่มีลักษณะสำคัญถึงขนาดว่าอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือบอกปัดไม่ทำสัญญา
แต่จากข้อเท็จจริง แม้นายเอกไม่เปิดเผยเรื่องที่ตนเป็นโรคไส้เลื่อนให้บริษัทประกันภัยทราบก็ตาม แต่โรคไส้เลื่อนมิใช่เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง เมื่อผ่าตัดแล้วอาจหายได้ ยังไม่ถึงขนาดที่ว่าถ้านายเอกแจ้งความจริงนี้แล้ว บริษัทประกันภัยจะบอกปัดไม่รับทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้นตามมาตรา 865 วรรคแรก ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตฉบับนี้จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่เป็นโมฆียะ บริษัทประกันภัยไม่สามารถบอกล้างสัญญาฉบับนี้ได้ ต้องชำระเงินประกันชีวิต 1 ล้านบาทให้แก่นายโทผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 890 (ฎ. 715/2513)
เมื่อสัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะ กรณีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเรื่องกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างหรือกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามมาตรา 865 วรรคสองแต่อย่างใด
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยต้องชำระเงินประกันชีวิต 1 ล้านบาท ให้แก่นายโทผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต
ข้อ 2 นายรวยเจ้าของโรงงานทอผ้าได้เอาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง ต่อมานายรวยไล่นายมอมลูกจ้างออกเพราะติดยาบ้า นายมอมโกรธแค้นมากจึงลอบวางเพลิงเผาโรงงานนี้ แต่คนงานอื่นเห็น ได้ช่วยกันดับไฟจึงไม่ไหม้ นายรวยเห็นว่านายมอมคงไม่กล้าทำอีกเพราะได้แจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว จึงไม่จ้างยามมาเฝ้าและไม่จัดหาเครื่องดับเพลิงมาไว้ในโรงงาน ปรากฏว่าในระหว่างอายุสัญญา นายมอมย้อนกลับมาเผาโรงงานนี้อีกครั้งในเวลากลางคืน เพลิงไหม้โรงงานหมด นายรวยเรียกให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่บริษัทประกันปฏิเสธอ้างว่านายรวยประมาท เนื่องจากไม่จ้างยามและไม่หาเครื่องดับเพลิงมาเตรียมไว้เพื่อป้องกันภัย
จงวินิจฉัยว่า บริษัทประกันต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 877 ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
วรรคท้าย ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้
มาตรา 879 วรรคแรก ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเรื่องความวินาศภัย หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายรวยเอาโรงงานทอผ้าของตนทำประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง กรณีเช่นนี้ถือว่านายรวยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยตามมาตรา 863 สัญญาประกันวินาศภัยจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า เมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในสัญญา (อัคคีภัย) บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัยให้กับนายแก้วหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 879 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้ หากปรากฏว่าวินาศภัยที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำโดยทุจริตหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์เท่านั้น (ฎ. 1720/2534) ถ้าเป็นความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลอื่นๆ แม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สักเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิดไปได้ (ฎ. 4830/2537)
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่โรงงานทอผ้าของนายรวยผู้เอาประกันภัยถูกวางเพลิงมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่นายรวยไม่จ้างยามและไม่หาเครื่องดับเพลิงมาเตรียมไว้เพื่อป้องกันภัย ทำให้นายมอมย้อนกลับมาเผาโรงงานที่เอาประกันภัยไว้จนไหม้หมดนั้นเป็นเพียงความประมาทเลินเล่ออย่างธรรมดาหรือประมาทเลินเล่อตามปกติธรรมดาของปุถุชน ยังไม่ถึงขั้นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยจะปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 879 วรรคแรก ดังนั้นบริษัทวินาศภัยยังคงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายรวยตามจำนวนความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ตามมาตรา 87 วรรคแรก (1) ประกอบวรรคท้าย (ฎ. 1742/2520)
สรุป บริษัทประกันวินาศภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายรวย
ข้อ 3 หนึ่งได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งความทรงชีพ ในวันที่ 1 มกราคม 2551 ไว้กับบริษัทประกันชีวิต จำกัด จำนวนเงินที่เอาประกัน 1 ล้านบาท สัญญากำหนด 5 ปี ระบุให้สองบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากทำสัญญาได้ไม่นาน หนึ่งทำธุรกิจขาดทุนทำให้เขาคิดมากคิดอยากฆ่าตัวตาย จึงได้ดื่มยาพิษเข้าไปในวันที่ 28 ธันวาคม 2551 สองบุตรชายได้นำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์ได้ล้างท้องให้แต่ก็ยังทำให้เขาอ่อนเพลียอยู่มาก ต่อมาอีก 2 วัน เขาก็เสียชีวิตลง สองบุตรชายจึงไปขอรับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะผู้รับประโยชน์
จงวินิจฉัยว่า บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่สองอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 889 ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง
มาตรา 890 จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา
มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ
(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ หนึ่งทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง ย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันสัญญาประกันชีวิตย่อมมีผลผูกพันคู่สัญญาตามมาตรา 863
การที่หนึ่งทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการทรงชีพนั้น บริษัทจะใช้เงินให้ตามสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา 890 ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น หนึ่งผู้เอาประกันชีวิตและในขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิตด้วยนั้นจะต้องมีชีวิตอยู่จนครบตามสัญญา คือ ครบ 5 ปี บริษัทประกันชีวิตจึงจะใช้เงินให้ตามมาตรา 889
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนึ่งได้ดื่มยาพิษฆ่าตัวตายก่อนครบกำหนดอายุสัญญาประกันชีวิต นายสองผู้รับประโยชน์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาดังกล่าว และในกรณีนี้ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 895 เพราะการที่จะปรับเข้ากับข้อกฎหมายตามมาตรา 895 นั้น ต้องเป็นกรณีการประกันชีวิตโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะเท่านั้น ฉะนั้นบทบัญญัติมาตรา 895 จึงไม่จำต้องนำมาพิจารณาในคดีนี้ ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่สองผู้รับประโยชน์ สามารถยกข้อต่อสู้ว่าหนึ่งผู้เอาประกันชีวิตมิได้มีชีวิตอยู่จนครบระยะเวลาตามที่สัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความทรงชีพกำหนดไว้ขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อสองได้
สรุป บริษัทประกันชีวิตจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่สองผู้รับประโยชน์