การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 สมชายมีรถยนต์อยู่คันหนึ่ง เขาจึงได้นำไปทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทประกันภัยจำกัดจำนวนเงินที่เอาประกัน 5 แสนบาท สัญญากำหนด 1 ปี ระหว่างอายุสัญญา สมชายกับสมศรีภริยาได้ขับรถไปเที่ยวชายทะเลหัวหิน ระหว่างขับรถกลับกรุงเทพฯ ทั้งคู่มีปากเสียงทะเลาะกันอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้สมชายขับรถไปชนท้ายของสมศักดิ์ซึ่งวิ่งอยู่ข้างหน้า รถของสมชายได้รับความเสียหาย 2 แสนบาท ส่วนรถของสมศักดิ์เสียหาย 8 หมื่นบาท และสมศรีได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เสียค่าใช้จ่ายไป 5 หมื่นบาท
สมชายถูกตำรวจจับฐานขับรถโดยประมาทเลินเล่อทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย และถูกปรับไป 2 พันบาท สมชายจึงไปเรียกให้บริษัทชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีรถเสียหายและที่สมศรีได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2 แสนห้าหมื่นบาท ส่วนสมศักดิ์ก็เรียกให้บริษัทชดใช้ให้ด้วยในความเสียหายที่เกิดขึ้น 8 หมื่นบาท เพราะคิดว่าสมชายได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้
จงวินิจฉัยว่า บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ใคร เป็นจำนวนเงินเท่าไร และในกรณีใดบ้างอย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 869 อันคำว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆบรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้
มาตรา 877 ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย
(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ
อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่งจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้
มาตรา 887 วรรคแรก อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่าใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
วินิจฉัย
สมชายทำประกันวินาศภัยในรถยนต์ของตนเอาไว้ ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกัน สัญญามีผลผูกพันตามมาตรา 863
กรณีที่รถของสมชายเสียหายคิดเป็นเงิน 2 แสนบาทนั้น บริษัทผู้รับประกันวินาศภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 869 ประกอบมาตรา 877 คือจ่ายตามความเสียหายจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ได้ประกันเอาไว้
ส่วนกรณีความเสียหายที่เกิดกับรถของสมศักดิ์ รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลของสมศรีนั้น บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด เพราะไม่ได้มีการทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้ตามมาตรา 887 และสมชายต้องรับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายในความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวด้วยตนเองในความรับผิดฐานละเมิด ซึ่งสมศักดิ์สามารถเรียกจากสมชายได้ตามมาตรา 420 แต่สมศักดิ์ไม่สามารถเรียกจากบริษัทได้ เพราะไม่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทตามสัญญาประกันวินาศภัย จะเรียกได้ก็เฉพาะมีการทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้ตามมาตรา 887 เท่านั้น
สรุป บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถของสมชายเสียหาย เป็นจำนวน 2 แสนบาท ส่วนกรณีรถของสมศักดิ์เสียหายและค่ารักษาพยาบาลของสมศรี บริษัทไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ข้อ 2 นายสมพงษ์ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทผู้รับประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง โดยคุมครองทุกอย่าง รวมทั้งอุบัติเหตุด้วย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2538 เป็นระยะเวลา 1 ปี วันสิ้นอายุตามกรมธรรม์คือ 5 พฤษภาคม 2539 ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2539 เกิดอุบัติเหตุ บริษัทผู้รับประกันภัยกับนายสมพงษ์ตกลงกันโดยบริษัทประกันออกกรมธรรม์ใหม่ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2539 มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เมื่อนายสมพงษ์ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์แล้วจึงเรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่บริษัทประกันภัยปฏิเสธการจ่าย ดังนั้น อยากทราบว่า บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 861 อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคต ดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย
วินิจฉัย
จากปัญหาการที่เกิดอุบัติเหตุกับรถของนายสมพงษ์ที่เอาประกันภัยในวันที่ 13 มิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่กรมธรรม์สิ้นอายุแล้ว แม้ต่อมาบริษัทประกันได้ออกกรมธรรม์ให้ใหม่มีผลย้อนหลังไปก่อนวันเกิดวินาศภัย 2 วัน คือ วันที่ 11 มิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่วินาศภัยได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้ทำสัญญาประกันภัยกันใหม่ โดยที่ความหมายของสัญญาประกันภัยตามมาตรา 861 บริษัทผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เมื่อเกิดวินาศภัยในอนาคต หมายความว่า ขณะทำสัญญาประกันภัย วินาศภัยยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การที่ภัยได้เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมิใช่ภัยที่อาจมีขึ้นในอนาคต แต่เป็นภัยในอดีตที่ไม่สามารถเอาประกันภัยได้
สรุป บริษัทประกันภัยไม่มีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสมพงษ์ ตามมาตรา 861 (ฎ. 2513/2518)
ข้อ 3 นายยอด ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2540 วงเงิน 1 แสนบาท ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี แบบอาศัยความมรณะ ในปีต่อมาธุรกิจการค้าของนายยอดขาดทุนอย่างหนัก นายยอดกลุ้มใจมากจึงใช้ปืนยิงตัวเอง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2541 แต่กระสุนไม่ถูกที่สำคัญจึงไม่เสียชีวิตทันทีเพียงแต่บาดเจ็บสาหัส ครั้นวันที่ 1 กันยายน 2541 นายยอดได้เสียชีวิตด้วยบาดแผลดังกล่าวขณะที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนี้บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงิน 1 แสนบาทให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา
วินิจฉัย
นายยอด ทำสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2540 วงเงิน 1 แสนบาท ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี ในปีต่อมานายยอดใช้ปืนยิงตัวเองย่อมถือว่านายยอดผู้เอาประกันชีวิตได้ลงมือกระทำอัตตวินิจบาตรด้วยใจสมัครของตน ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิตแล้ว แม้นายยอดจะถึงแก่ความตายหลังระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ตาม บริษัทผู้รับประกันภัยก็ได้ยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 895(1)
สรุป บริษัทประกันชีวิต ไม่มีหน้าที่จ่ายเงิน 1 แสนบาทให้แก่ผู้รับประโยชน์ (ฎ. 936/2536)