การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

Advertisement

ข้อ  1  นายโด่งรู้ว่าตนป่วยเป็นโรคถุงลมพองเรื้อรังมานานเป็นปี  ต่อมานายโงทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้เป็นเวลา  20  ปี  กับบริษัท  สยามประกันชีวิต  จำกัด  วงเงิน  1  ล้านบาท  แต่นายโด่งไม่เปิดเผยให้บริษัทประกันทราบ  และแพทย์ผู้ตรวจร่างกายก็ไม่ได้ฉายเอกซเรย์  ทำให้บริษัท  สยามประกันชีวิตฯรับทำสัญญาของนายโงโดยพิจารณาจากรายงานของแพทย์ว่านายโงสุขภาพปกติ  ซึ่งถ้าบริษัทสยามประกันชีวิตฯ  รู้ว่านายโด่งเป็นโรคถุงลมพองก็จะเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก  ปีต่อมานับแต่วันทำสัญญา  นายโด่งเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมพอง  บริษัท  สยามประกันชีวิตฯ  จึงได้ทราบว่านายโด่งปกปิดโรคดังกล่าวและได้บอกล้างภายใน  1  เดือนนับแต่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้  แต่นางแดง  ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์อ้างว่าบริษัท  สยามประกันชีวิตประมาทเลินเล่อ  ไม่ใช้ความระมัดระวังในการรับประกัน เพราะถ้ามีการฉายเอกซเรย์ก็จะรู้ว่านายโงเป็นโรคถุงลมพอง  ดังนี้  อยากทราบว่า  ข้ออ้างของนางแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  866  ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา  865  นั้นก็ดี  หรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี  หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี  ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า  การที่แพทย์ผู้ตรวจร่างกายของนายโด่งไม่ได้ฉายเอกซเรย์  ถือว่า  บริษัทสยามประกันชีวิต  จำกัด  ควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังพึงคาดหมายได้เช่นวิญญูชนหรือไม่  เห็นว่า

โรคถุงลมพอง  เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดและอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้  โรคถุงลมพองจึงเป็นโรคที่มีความสำคัญอันอาจถือเป็นเหตุให้ผู้รับประกันชีวิตบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตผู้ขอเอาประกันได้  ถ้าผู้รับประกันชีวิตได้ทราบข้อความจริงนี้มาก่อน  การที่ผู้เอาประกันรู้ตัวดีว่าป่วยเป็นโรคถุงลมพองเรื้อรังมานานปีแต่ไม่เปิดเผยให้บริษัทประกันทราบ  จึงเป็นการละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริง  ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันทำไว้กับบริษัทฯ  จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา  865  วรรคแรก

ส่วนการตรวจโรคถุงลมพองโดยวิธีธรรมดาจะพบยาก  นอกจากฉายเอกซเรย์หรือใช้สีฉีดเข้าไปในปอดแล้วฉายเอกซเรย์  แต่เมื่อนายโด่งผู้เอาประกันปกปิดมิได้แจ้งเรื่องที่ตนป่วยเป็นโรคนี้ให้แพทย์ผู้ตรวจสุขภาพทราบ  ก็ไม่มีเหตุที่แพทย์จะต้องฉายเอกซเรย์ตรวจดูถุงลมของผู้เอาประกันเพราะไม่อาจรู้ได้ว่าผู้เอาประกันเป็นโรคถุงลมพอง  การรับประกันชีวิตของบริษัท  สยามประกันชีวิต  จำกัด  ก็พิจารณาจากรายงานของแพทย์ประกอบกับคำขอเอาประกัน  เช่นนี้จะฟังว่าผู้รับประกันชีวิตประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังในการรับประกันเช่นวิญญูชนไม่ได้  เพราะถือว่าบริษัทฯ  ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว  กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา  866  (ฎ. 1076/2520)

สรุป  ข้ออ้างของนางแดงผู้รับประโยชน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ

 

ข้อ  2  นายแดงได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทประกันภัยจำนวนเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  สัญญากำหนด  1  ปี ระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์  ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย  นางส้มจีนมารดาของนายแดงซึ่งป่วยเป็นโรคข้ออักเสบได้มาพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย  เนื่องจากที่บ้านยุงชุมมาก  นางส้มจีนจึงได้จุดยากันยุงไล่และจุดทิ้งไว้ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจึงทำให้ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลัง  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านให้กับนายแดงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

วรรคท้าย  ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงเอาประกันอัคคีภัยบ้านของตนถือว่าเป็นผู้มีเหตุแห่งส่วนได้เสียตามมาตรา  863  สัญญาจึงมีผลผูกพัน และเมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในสัญญา  (อัคคีภัย)  บริษัทผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาให้กับนายแดงตามมาตรา  877(1)  และวรรคท้าย  ในฐานะที่เป็นทั้งผู้เอาประกันและเป็นผู้รับประโยชน์  เพราะวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้น  ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายแดง  จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  879 วรรคแรก

สรุป  ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมให้แก่นายแดง

 

ข้อ  3  นายทรพาเอาประกันชีวิต  1  ล้านบาทในเหตุมรณะกับบริษัทประกันภัยในวันที่  1  พฤษภาคม  2549  สัญญามีกำหนด  10  ปี  โดยระบุให้นายทรพีบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์  วันที่  1  พฤษภาคม  2551  นายทรพีอยากได้เงินประกันชีวิต  จึงวางแผนทำร้ายร่างกายนายทรพาโดยใช้ปืนยิงนายทรพาที่ขาได้รับอันตรายสาหัส  นายทรพาน้อยใจที่นายทรพีบุตรชายทำร้ายตน  จึงกินยาพิษจนถึงแก่ความตาย  นายทรพีมาขอรีบเงินประกันชีวิต  1  ล้านบาท  ดังนี้  บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเงินประกันชีวิตให้แก่นายทรพีหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายทรพีผู้รับประโยชน์วางแผนทำร้ายนายทรพาโดยใช้ปืนยิงถูกนายทรพาที่ขาได้รับอันตรายสาหัส  ถือว่าผู้รับประโยชน์มีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เอาประกันให้ได้รับอันตรายสาหัสแต่มิได้มีเจตนาฆ่า  (ฎ.  1006/2501)  จึงไม่ใช่เป็นกรณีถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา  895 (2)และเมื่อนายทรพาน้อยใจกินยาพิษจนถึงแก่ความตาย  เป็นการฆ่าตัวตายด้วยใจสมัคร  แต่เลยเวลา  1  ปีนับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิตแล้ว  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่บริษัทประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา  895(1)

สรุป  บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิต  1  ล้านบาท  ให้แก่นายทรพีผู้รับประโยชน์

Advertisement