การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  นายเอกได้ตกลงซื้อรถยนต์จากนายโทในราคา  1  ล้านบาท  โดยนายเอกได้ชำระมัดจำไว้เป็นจำนวนเงิน  2  แสนบาท  ในวันที่ทำสัญญาซื้อขายคือวันที่  10  มกราคม  2551  ส่วนที่เหลือจะชำระให้หมดในวันที่นายโทนัดส่งมอบ  พร้อมกับไปโอนทะเบียนรถยนต์คือในวันที่  25  มกราคม  2551  ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการส่งมอบรถและโอนทะเบียนกันนั้น  ปรากฏว่าสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่นายโททำไว้ได้หมดอายุลง  นายเอกจึงได้ไปทำสัญญาประกันภัยฉบับใหม่กับบริษัทประกันภัยจำกัด  ในวันที่  22  มกราคม  2551  จำนวนเงินที่เอาประกัน  8  แสนบาท  ระยะเวลาตามกรมธรรม์  1  ปี  โดยระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ต่อมาวันที่  30  มกราคม  2551  รถยนต์ที่ได้เอาประกันภัยไว้ประสบอุบัติเหตุรุนแรงเสียหายคิดเป็นเงิน 5  แสนบาท  นายเอกจึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัย  บริษัทฯปฏิเสธการจ่าย  โดยอ้างว่านายเอกไม่มีส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาประกันภัย  เพราะยังไม่ได้ส่งมอบรถและโอนทะเบียนรถยนต์กันกับนายโท  ดังนี้จงวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของบริษัทฯ  รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  862  ตามข้อความในลักษณะนี้

คำว่า  ผู้รับประกันภัย  ท่านหมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

คำว่า  ผู้เอาประกันภัย”  ท่านหมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คำว่า  ผู้รับประโยชน์  ท่านหมายความว่า  บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้

อนึ่ง  ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น  จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

วรรคท้าย  ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

วินิจฉัย

การที่นายเอกได้ตกลงซื้อรถยนต์จากนายโทในวันที่  10  มกราคม  2551  นั้น  ถือว่า  เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์เสร็จเด็ดขาด  จึงมีผลให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวโอนไปเป็นของนายเอกผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย  ตามมาตรา  458  ทั้งนี้แม้จะไม่มีการโอนจดทะเบียนก็ตาม  เพราะการโอนทะเบียนรถยนต์ตามกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์  เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่จะควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์เท่านั้น  ไม่กระทบถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ได้โอนไปแล้วแต่อย่างใด (ฏ. 60/2524)  ดังนั้นนายเอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นเจ้าของรถยนต์ทันที  ต่อมาในวันที่  22  มกราคม  2551  นายเอกได้นำรถยนต์ไปทำสัญญาประกันภัย  จึงถือได้ว่าในขณะทำสัญญาประกันภัย  นายเอกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยสัญญาจึงมีผลผูกพันผู้รับประกันตามกฎหมาย  ตามมาตรา  863  เมื่อนายเอกผู้เอาประกันภัยมิได้กำหนดตัวผู้รับประโยชน์ไว้เป็นอย่างอื่น  จึงต้องถือว่านายเอกเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาดังกล่าวด้วย  ตามมาตรา  862  ดังนั้นบริษัทฯ  จึงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้นายเอกตามที่ได้เสียหายจริง  คือ  5  แสนบาท  ซึ่งไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันฯ  ตามมาตรา  877 (1)  และวรรคท้าย  ข้ออ้างของบริษัทผู้รับประกันภัยฟังไม่ขึ้นแต่อย่างใด

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทฯรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  เมื่อวันที่  9  ธันวาคม  2535  นายดำทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านของตนราคา  4 ล้านบาท  ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  วงเงินเอาประกัน  3  ล้านบาท  กำหนดเบี้ยประกันภัย  5  หมื่นบาทโดยคู่สัญญากำหนดเวลาเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยไว้ในวันที่  3  มกราคม  2536  ครั้นวันที่  28  ธันวาคม  2535  นายดำเปลี่ยนใจไม่ต้องการทำสัญญาประกันภัย  ดังนี้  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันภัยได้หรือไม่  และบริษัทประกันภัยมีสิทธิอย่างไร  เพราเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  872  ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย  ผู้เอาประกันภัยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  แต่ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้เบี้ยประกันภัยกึ่งจำนวน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาประกันวินาศภัยรายนี้ทำไว้ในวันที่  9  ธันวาคม  2535  แต่สัญญามีผลบังคับวันที่  3  มกราคม  2536  ดังนั้นก่อนเริ่มเสี่ยงภัยคือก่อนวันที่สัญญามีผลบังคับ  คือวันที่  28  ธันวาคม  2535  นายดำผู้เอาประกันภัยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  872  แต่นายดำต้องเสียเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่งคือ  25,000   บาท  ให้แก่บริษัทประกันวินาศภัย

สรุป  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้  และบริษัทประกันภัยมีสิทธิได้เบี้ยประกันครึ่งหนึ่ง

 

ข้อ  3  นายขวดนำนางแก้วภริยาไปทำสัญญาเอาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะกับบริษัทประกันชีวิตในวงเงิน  500,000  บาท  ตามระเบียบบริษัทฯ  การทำประกันในวงเงินไม่เกิน  500,000  บาท  ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ  หลังจากทำสัญญาประกันแล้ว  1  ปี  นางแก้วป่วยเป็นโรคหัวใจรั่วต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง  ต่อมาอีก  1  ปี  นางแก้วถึงแก่กรรม  นายขวดผู้รับประโยชน์จึงยื่นคำขอรับเงิน  500,000  บาท บริษัทประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายเงินโดยใช้สิทธิตามมาตรา  865  อ้างว่านางแก้วป่วยเป็นโรคร้ายแรง  ไม่แจ้งให้บริษัทฯทราบ  จึงบอกล้างสัญญาประกัน  ดังนี้  ข้ออ้างของบริษัทประกันชีวิตรับฟังได้หรือไม่  นายขวดมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้หรือไม่  เพราะเหตุใด  

ธงคำตอบ

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา  หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

จากหลักกฎหมายในมาตรา  865  กำหนดให้ผู้เอาประกันเปิดเผยข้อความจริง  ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันให้เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันนั้น  ต้องกระทำในเวลาทำสัญญาประกันภัย  กล่าวคือ  ต้องเปิดเผยความจริงก่อนวันทำสัญญาหรืออย่างช้าที่สุดก็วันทำสัญญาประกันซึ่งหากผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามนี้แล้ว  สัญญาประกันภัยย่อมตกเป็นโมฆียะ  บริษัทประกันภัยสามารถบอกล้างสัญญาได้

กรณีตามปัญหา  ก่อนมีการทำสัญญาประกันชีวิตรายนี้  ไม่ปรากฏว่านางแก้วได้ปกปิดความจริงในเรื่องสุขภาพของตนแต่ประการใด  อาการป่วยของนางแก้วได้เกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาประกันชีวิตแล้ว  สัญญาประกันชีวิตรายนี้จึงสมบูรณทุกประการ  นางแก้วไม่จำต้องแจ้งเหตุการณ์เจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายหลังทำสัญญาประกันชีวิตให้บริษัทประกันชีวิตทราบ  บริษัทฯ  ไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้ ข้ออ้างของบริษัทฯ  จึงรับฟังไม่ได้  นายขวดผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิได้รับเงิน  500,000  บาท  ตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทฯ  รับฟังไม่ได้  และนายขวดมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต

Advertisement