ข้อ 2. นายสมบูรณ์ทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทแดงในวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 จำนวนเงินเอาประกัน 100,000 บาท ในวับที่ 14พฤษภาคม 2552 ได้ทำประกันอัคคีภัยบ้านหลังนี้อีก กับบริษัทดำ จำนวนเงินเอาประกัน 200,000 บาท ต่อมาภายในอายุสัญญาประกัน บ้านที่ทำประกัน ถูกไฟไหม้เสียหายไป 100,000 บาท ดังนี้ นายสมบูรณ์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ประกันภัยทั้งสองบริษัทอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 870 “ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวน วินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้
อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน
ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ท่านว่าผู้รับประกันภัย คนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวน วินาศภัยไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อๆ กันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมบูรณ์นำบ้านชองตนไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทแดง ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 และต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 ได้นำไปประกันไว้กับบริษัทดำอีกนั้น ถือเป็นเรื่องการประกันวินาศภัยหลายรายในวัตถุเดียวกันและเป็นสัญญาสืบต่อเนื่องกัน ซึ่งตามหลักในเรื่องการชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดวินาศภัยนั้น ผู้รับประโยชน์จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเท่าที่เสียหายจริง และตาม มาตรา 870 วรรคสามได้กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัย คนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัย ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อ ๆ กันไป จนกว่าจะคุ้มวินาศภัย
เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า บ้านที่เอาประกันถูกไฟไหม้เสียหายเพียง 100,000 บาท ซึ่งบริษัทแดงที่ได้รับประกันไว้ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ในวงเงิน 100,000 บาท จึงต้องรับผิดเพื่อความวินาศก่อน ดังนั้นนายสมบูรณ์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทแดงผู้รับประกันภัยรายแรกได้เต็มจำนวนเงินประกัน คือ 100,000 บาท และเมื่อได้รับเงินจากบริษัทแดง 100,000 บาทแล้ว ย่อมถือว่าคุ้มจำนวนวินาศภัยแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทดำอีก
สรุป นายสมบูรณ์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทแดงได้เต็มจำนวนเงินประกัน คือ 100,000 บาท แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทดำไม่ได้ เพราะจำนวนเงินที่บริษัทแดงได้ใช้ให้นั้นคุ้มจำนวน วินาศภัยแล้ว
ข้อ 3. ดำเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของขาวและเหลือง ดำได้ไปทำสัญญาประกันชีวิตของบิดามารดา โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะไว้กับบริษัท ประกันชีวิต จำกัด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 โดยแยกเป็นสองกรมธรรม์ ๆ ละ 1 ล้านบาท สัญญากำหนด 5 ปี ระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 ขาวกับเหลืองได้ทะเลาะกันอย่างรุนแรงเนื่องจากขาวได้ไปติดพันหญิงอื่นทำให้ เหลืองไม่พอใจ ขาวบันดาลโทสะจึงใช้ปืนยิงเหลืองตาย และฆ่าตัวตายตามไปด้วย จงวินิจฉัยว่า บริษัทประกับชีวิตจะต้องจ่ายเงินตามสัญญาๆ ให้แก่ดำผู้รับประโยชน์อย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ
(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น”
วินิจฉัย
โดยหลัก เมื่อผู้เอาประกันชีวิต หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ถึงแก่ความตาย บริษัทผู้รับประกัน จะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้น เว้นแต่บุคคลนั้นจะได้กระทำอัตวินิบาตหรือฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา หรือบุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดำซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของขาวและเหลืองได้ไปทำสัญญา ประกันชีวิตของบิดามารดาของตนโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะไว้กับบริษัท ประกันชีวิต จำกัด และระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมสามารถทำได้เพราะถือว่าดำผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา
เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาได้ 1 ปี 2 วัน ขาวได้ฆ่าตัวตาย และได้ฆ่าเหลืองตายด้วย ดังนี้ เมื่อมีมรณภัยเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ถูกเอาประกัน บริษัทประกันชีวิตจึงต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่ดำผู้รับประโยชน์ ทั้ง 2 กรมธรรม ทั้งนี้เพราะกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 895 (1) หรือ (2) กล่าวคือ แม้ขาวจะฆ่าตัวตาย ด้วยใจสมัครแต่ก็เกินเวลา 1 ปีแล้ว และเหตุมรณะของเหลืองก็ไม่ได้เกิดจากดำซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงอ้างข้อยกเว้นไม่ได้ทั้ง 2 กรณี และจะต้องจ่ายเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ ในสัญญา
สรุป บริษัทประกันชีวิตจะต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่ดำผู้รับประโยชน์ทั้ง 2 กรมธรรม์