การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายสมพงษ์ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทผู้รับประกันภัยแห่งหนึ่ง เป็นการทำประกันภัยประเภทที่ 1 คือ คุ้มครองทุกอย่างรวมทั้งอุบัติเหตุด้วย วงเงินเอาประกัน 500,000 บาท เบี้ยประกัน 3,000 บาท กรมธรรม์ฯ ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2538 สิ้นสุดวันที่ 5 พฤษภาคม 2539

ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2539 เกิดอุบัติเหตุกับรถคันดังกล่าวเสียหายเป็นเงิน 60,000 บาท นายสมพงษ์จึงบอกกล่าวให้บริษัทประกันฯทราบ แต่บริษัทประกันฯ แจ้งว่าการคุ้มครองตามสัญญาสิ้นสุดแล้ว หากนายสมพงษ์ต้องการให้บริษัทใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องทำสัญญากันใหม่

และ นายสมพงษ์ต้องเสียเบี้ยประก้นให้บริษัทประกันฯด้วย นายสมพงษ์ต้องการได้ค่าสินไหมทดแทนแทนจึงยอมเสียเบี้ยประกันเป็นเงิน 3,000 บาท ให้บริษัทประกันฯ ซึ่งบริษัทประกันฯ ได้ออกกรมธรรม์ใหม่ ให้มีผลย้อนหลังว่า สัญญาเริ่มต้นให้ความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2539 เป็นเวลา 1 ปี

เมื่อนายสมพงษ์ได้รับกรมธรรม์แล้ว ได้เรียกร้องให้บริษัทประกันฯ ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวน 60,000 บาท จากการที่รถยนต์ของตนได้เกิดอุบัติเหตุในวันที่ 13 มิถุนายน 2539 ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า บริษัทประกันฯ มีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสมพงษ์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 861 “อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคต ดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย 

วินิจฉัย

สัญญาประกันภัยนั้น เป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้เมื่อเกิดวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นขึ้นในอนาคต หมายความว่า ขณะทำสัญญาประกับภัยนั้นวินาศภัย หรือเหตุอย่างอื่นยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น หากเป็นกรณีที่ภัยได้เกิดขึ้นก่อนที่จะได้ทำสัญญา ย่อมมิใช่ภัยที่อาจมีขึ้น ในอนาคตและมิใช่ภัยที่จะรับประกันได้ สัญญาดังกล่าวย่อมไม่ใช่สัญญาประกันภัย (มาตรา 861)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่รถยนต์ของนายสมพงษ์ที่เอาประกันภัยไว้ได้เกิดอุบัติเหตุในวันที่ 13 มิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่กรมธรรม์สิ้นอายุแล้วนั้น การคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยย่อมสิ้นสุดลงแล้ว แม้ต่อมาบริษัทประกันฯ จะได้ออกกรมธรรมให้นายสมพงษ์ใหม่ และให้สัญญาเริ่มต้นให้ความคุ้มครองย้อนหลังไป ก่อนวันเกิดวินาศภัย 2 วัน คือวันที่ 11 มิถุนายน 2539 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าการออกกรมธรรมครั้งหลังนี้

เป็นการออกกรมธรรม์ให้ภายหลังที่วินาศภัยได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นสัญญาประกันภัยขึ้นใหม่ อันจะมีผลผูกพันบริษัทประกันฯ แต่อย่างใด ดังนั้นบริษัทประกันฯ จึงไม่มีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสมพงษ์ ตามมาตรา 861 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2513/2518)

สรุป บริษัทประกับภัยไม่มีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสมพงษ์

 

ข้อ 2. เอกได้นำบ้านของตนไปประกับอัคคีภัยไว้กับบริษัท ประกันภัย จำกัด จำนวนเงินที่เอาประกัน 2 ล้านบาท สัญญากำหนด 1 ปี ระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์

หลังจากทำสัญญาได้ 3 เดือน เอกทำธุรกิจขาดทุน เขากลุ้มใจแทบจะฆ่าตัวตาย และไม่พูดจากับใคร

โทซึ่งเป็นภริยาของเอก สงสารเขามากและได้ทราบว่าเอกได้ทำประกันอัคคีภัยบ้านไว้ โทจึงวางเพลิงเผาบ้านเพื่อหวังเงินจากบริษัทประกันภัยเพื่อมากู้ฐานะทางการเงินให้สามี โดยเอกไม่ทราบเรื่องนี้เลย ไฟได้เผาผลาญ บ้านหลังที่เอาประกันไว้เสียหายทั้งหลัง 

จงวินิจฉัยว่าบริษัทจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญา ให้กับเอกผู้เอาประกันภัยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำคอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863            อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที

ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไมผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา 877 “ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

วรรคท้าย ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา 879 วรรคแรก ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัย หรือเหตุอื่น ซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกได้นำบ้านของตนไปทำประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัย โดยระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์นั้น เอกย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยตามมาตรา 863 สัญญาประกันวินาศภัยจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า เมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในสัญญา (อัคคีภัย) บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัยให้กับเอกหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 879 วรรคแรกนั้น เป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย

จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าผู้รับประกันภัย มีสิทธิปฏิเสธไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้ จะต้องปรากฏว่าวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการกระทำโดยทุจริตหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์เท่านั้น

ถ้าเป็นความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลอื่นๆ แม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สักเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิดไปไต้

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โทได้วางเพลิงเผาบ้านของเอก และไฟได้ไหม้บ้านของเอกที่เอาประกันภัยไว้เสียหายทั้งหลัง ซึ่งกรณีนี้แม้ว่าโทจะกระทำโดยทุจริต คือ วางเพลิงเผาบ้านเพื่อหวังเงินจากบริษัทประกันภัยก็ตาม

แต่เมื่อโทเป็นเพียงภริยาของเอกมิใช่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ กรณีจึงไม่เข้า ข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยจะปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 879 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อมีภัย (อัคคีภัย) เกิดขึ้น และภัยที่เกิดตรงกับที่ได้ระบุไว้ในสัญญา บริษัทจึงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2 ล้านบาท ให้กับเอกตามมาตรา 877(1) ประกอบวรรคท้าย 

สรุป บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาให้กับเอกผู้เอาประกันภัย 

 

ข้อ 3. นายยอดทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 วงเงิน 1 แสนบาท ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี แบบอาศัยความมรณะ

ในปีต่อมาธุรกิจการค้าของนายยอดขาดทุนอย่างหนัก นายยอดกลุ้มใจมากจึงไช้ปืนยิงตัวเอง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2554 แต่กระสุนไม่ถูกที่สำคัญจึงไม่เสียชีวิตทันทีเพียงแต่บาดเจ็บสาหัส

ครั้นวันที่ 1 กันยายน 2554 นายยอดได้เสียชีวิตด้วยบาดแผลดังกล่าวขณะที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนี้ บริษัทประกันชีวิต ต้องจ่ายเงิน 1 แสนบาทให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1)           บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใบปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ

(2)           บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรมให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เมื่อผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกับชีวิตได้ถึงแก่ความตาย บริษัทผู้รับประกันชีวิตจะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้นๆ เว้นแต่บุคคลนั้นจะฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาไม่ว่าจะถึงแก่ความตายในทันทีหรือไม่ก็ตาม หรือเป็นกรณีที่บุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตาย โดยเจตนา (มาตรา 895)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายยอดฆ่าตัวตายโดยการใช้ปืนยิงตัวเอง แม้จะไม่มีเจตนาฆ่าตัวตายเพื่อหวังเงินประกันชีวิต แต่การที่นายยอดสมัครใจฆ่าตัวตายภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญา คือภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2553 นั้น ถือเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญา แม้จะถึงแก่ความตายภายหลัง 1 ปี แล้วก็ตาม ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงได้รับยกเว้นความรับผิด ไม่ต้องจ่ายเงินประกัน 1 แสนบาทให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา 895(1)

สรุป บริษัทประกับชีวิตไม่มีหน้าที่จ่ายเงิน 1 แสนบาทให้แก่ผู้รับประโยชน์

Advertisement