การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายสมเป็นผู้เช่าซื้อรถบรรทุกสิบล้อ แล้วนําเข้ามาร่วมเพื่อขอจดทะเบียนในนามบริษัท ขนส่งรุ่งเรือง จํากัด โดยมีนายทรงเป็นกรรมการผู้จัดการ รายได้ในการบรรทุกหรือเมื่อรถเกิดเสียหาย นายสมเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาบริษัท ขนส่งรุ่งเรืองฯ นํารถบรรทุกสิบล้อนี้ไปทําสัญญาประกันภัย คุ้มครองรถหายด้วย การที่บริษัท ขนส่งรุ่งเรืองฯ เอาประกันภัยก็เพราะต้องการช่วยนายสมได้ใช้รถ ในนามของบริษัท ขนส่งรุ่งเรืองฯ และเพื่อส่งเสริมให้บริษัทขายรถบรรทุกแห่งหนึ่งขายรถได้ดีขึ้น ผู้รับประกันภัยออกกรมธรรม์ๆ ให้แล้ว ในระหว่าอายุสัญญารถนี้ถูกลักไป ดังนี้ผู้รับประกันภัย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาหรือไม่ เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 869 “อันคําว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้”

วินิจฉัย

เนื่องจากสัญญาประกันภัยรถเป็นสัญญาประกันวินาศภัยตามนัยของมาตรา 869 ซึ่งถือว่าเป็น สัญญาประกันภัยประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องนําบทบัญญัติในหมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาใช้บังคับด้วย กล่าวคือ ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นด้วย สัญญาประกันภัยจึงจะมีผลผูกพันคู่สัญญา (มาตรา 683)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมเป็นผู้เช่าซื้อรถบรรทุกสิบล้อ แล้วนํามาเข้าร่วมเพื่อขอจดทะเบียน ในนามบริษัท ขนส่งรุ่งเรือง จํากัด รายได้ในการบรรทุกหรือเมื่อรถเกิดเสียหายนายสมเป็นผู้รับผิดชอบนั้น ย่อมถือว่า นายสมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถคันดังกล่าว ส่วนบริษัท ขนส่งรุ่งเรือง จํากัด ซึ่งได้นํารถบรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวไปทํา สัญญาประกันภัยคุ้มครองรถหายนั้น มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถคันนี้แต่อย่างใด แม้ว่าการที่บริษัท ขนส่งรุ่งเรือง จํากัด ได้นํารถคันนี้ไปทําสัญญาประกันภัยก็เพราะต้องการช่วยเหลือนายสมได้ใช้รถในนามของบริษัทฯ ก็ตาม แต่บริษัทฯ ก็ไม่มีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือสิทธิใด ๆ ในรถที่มาเอาประกันภัย อีกทั้งเมื่อรถถูกขโมยบริษัทฯ ผู้เอาประกันภัยก็ไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด แต่ผู้ที่ต้องเสียหายและตีราคาความเสียหายจากเหตุวินาศภัยนั้นได้คือ นายสมผู้เช่าซื้อ

เมื่อบริษัท ขนส่งรุ่งเรือง จํากัด มิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้น สัญญาประกันภัย จึงไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้น เมื่อรถคันนี้ถูกลักไปในระหว่างอายุสัญญา ผู้รับประกันภัยจึง ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาตามมาตรา 863

สรุป ผู้รับประกันภัยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญา

 

ข้อ 2 นายหมูเป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่ง ได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปทําสัญญาประกันวินาศภัยกับบริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด เป็นการประกันภัยประเภทที่ 1 คือ คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ ตัวรถที่เอาประกัน รวมทั้งความรับผิดต่อบุคคลที่สามด้วย จํานวนเงินซึ่งเอาประกันภัยสองแสนบาทมี กําหนดเวลา 1 ปี หลังจากทําสัญญาประกันวินาศภัยได้หกเดือน นายหมึกซึ่งเป็นน้องชายของ นายหมูได้แอบนํารถยนต์ดังกล่าวขับไปเที่ยวกับเพื่อนโดยที่นายหมูไม่ทราบ ปรากฏว่านายหมึกได้ ขับรถยนต์คันนั้นด้วยความคึกคะนองและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขับไปชนกับรถยนต์ของ นางกุ้งได้รับความเสียหายตีราคาความเสียหายเป็นเงินแปดหมื่นบาท ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า บริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางกุ้งหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 887 วรรคหนึ่ง “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมูซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ ได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปทําสัญญา ประกันวินาศภัยกับบริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด เป็นการประกันภัยประเภทที่ 1 คือคุ้มครองความเสียหายที่ เกิดกับตัวรถที่เอาประกัน รวมทั้งความรับผิดต่อบุคคลที่สามซึ่งเป็นประกันภัยค้ำจุนด้วยนั้น บุคคลที่ถือว่าเป็น คู่สัญญาคือนายหมู (ผู้เอาประกันภัย) และบริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด (ผู้รับประกันภัย)

และตามมาตรา 887 วรรคหนึ่งนั้น สัญญาประกันภัยค้ำจุน เป็นสัญญาซึ่งผู้รับประกันภัยได้ ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ แต่ตามข้อเท็จจริง เป็นกรณีที่นายหมีกซึ่งเป็นน้องชายของนายหมูได้แอบ นํารถยนต์คันดังกล่าวขับไปเที่ยวกับเพื่อนโดยนายหมูไม่ทราบ จึงถือได้ว่านายหมูไม่ได้ยินยอมให้นายหมึกนํา รถยนต์ไปใช้แต่อย่างใด เมื่อนายหมึกได้ขับรถยนต์ด้วยความคึกคะนองและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไปชน กับรถยนต์ของนางกุ้งได้รับความเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวจึงมิใช่ความเสียหายที่นายหมู (ผู้เอาประกันภัย) จะต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด (ผู้รับประกันภัย) จึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน กล่าวคือ บริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด ไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางกุ้งในกรณีที่รถยนต์ของนางกุ้ง ได้รับความเสียหาย

สรุป

บริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด ไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางกุ้ง

 

ข้อ 3 โจ๋ทําประกันชีวิตตนเองด้วยเหตุมรณะ ขณะทําสัญญาโจ๋ไม่ทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งระยะที่ 2 แต่แจงซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายทราบ แจงเป็นผู้ชักชวนโจ๋ทําประกันชีวิตกับบริษัท อุ่นใจประกัน ชีวิต จํากัด โดยกรอกแบบคําขอทําประกันโดยไม่แจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่าโจ๋เป็นมะเร็งและให้โจ๋ลงนาม ในแบบคําขอในฐานะผู้เสนอขอทําประกัน กําหนดระยะเวลา 10 ปี จํานวนเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท และให้แจงเป็นผู้รับประโยชน์ โจ๋มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่แจงเก็บรักษาไว้ ทําประกันได้ 1 ปี โจ๋มีอาการทรุดหนักลงทําให้แจงขอหย่าและไปจดทะเบียนสมรสใหม่กับจํารัส โจ๋เสียใจจึงมีหนังสือ ถึงบริษัทฯ ให้เปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์จากแจงเป็นจ้อนคนรับใช้ในบ้านที่ดูแลโจ๋มาโดยตลอด โจ๋อยู่ได้อีก 2 เดือนก็เสียชีวิต บริษัทฯ ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาในอีก 2 สัปดาห์ จ้อนทวงถาม เงินเอาประกัน 1 ล้านบาทจากบริษัทฯ บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่ามีการปกปิดโรคร้ายแรง ซึ่งต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบ และบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาแล้ว และอ้างว่าจ้อนไม่มีสิทธิ ทวงถามเพื่อรับประโยชน์ตามสัญญา เพราะไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งกรมธรรม์ระบุชื่อแจงเป็น ผู้รับประโยชน์ไว้ก่อนแล้ว ดังนี้ ขออ้างของบริษัทฯ ฟังขึ้นหรือไม่ บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินตามสัญญาหรือไม่ และจ้อนจะมีสิทธิรับประโยชน์ตามสัญญาหรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้

คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับ จํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้” มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้าง ได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะ ของบุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอา ประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่า ตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจ๋ได้ทําสัญญาเอาประกันชีวิตตนเองด้วยเหตุมรณะกับบริษัท อุ่นใจ ประกันชีวิต จํากัด สัญญามีกําหนดระยะเวลา 10 ปี จํานวนเงินที่เอาประกัน 1 ล้านบาท โดยระบุให้แจงเป็นผู้รับ ประโยชน์นั้น ย่อมสามารถทําได้เพราะถือว่าโจ๋ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อโจ๋ได้เสียชีวิตในระหว่างอายุสัญญา บริษัทฯ จึงต้องใช้เงิน 1 ล้านบาท ให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นตามมาตรา 889

แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อจ้อนทวงถามเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท จากบริษัทฯ แต่ บริษัทฯ ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโอยอ้างเหตุต่าง ๆ นั้น ข้ออ้างของบริษัทฯ ฟังขึ้นหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การที่บริษัทฯ อ้างว่ามีการปกปิดโรคร้ายแรงซึ่งต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบ และบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาแล้วนั้น ข้ออ้างของบริษัทฯ กรณีนี้ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากในขณะที่มีการทําสัญญาประกัน ชีวิตนั้น โจ๋ไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคร้ายแรงคือเป็นมะเร็งระยะที่ 2 จึงไม่อาจถือได้ว่าโจ๋รู้อยู่แล้วละเว้นเสีย ไม่เปิดเผยข้อความจริงตามนัยของมาตรา 865 ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ บริษัทฯ จะบอกล้างสัญญาไม่ได้

2 การที่บริษัทฯ อ้างว่าจ้อนไม่มีสิทธิทวงถามเพื่อรับประโยชน์ตามสัญญาเพราะไม่ใช่ผู้มี ส่วนได้เสียนั้น ข้ออ้างของบริษัทฯ กรณีนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 862 นั้นไม่จําต้องมีส่วนได้เสีย กับเหตุที่ประกันภัยไว้ก็ได้

3 การที่บริษัทฯ อ้างว่าในกรมธรรม์ได้ระบุชื่อแจงเป็นผู้รับประโยชน์ไว้ก่อนแล้วนั้น ข้ออ้างกรณีนี้ของบริษัทฯ ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะแม้ว่าในสัญญาจะได้ระบุให้แจงเป็นผู้รับประโยชน์ไว้ ก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าเมื่อแจงได้รับมอบกรมธรรม์แล้วนั้น แจงยังไม่ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังบริษัทฯ ว่าตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น อันจะมีผลทําให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ได้ตาม มาตรา 891 ดังนั้น เมื่อโจ๋ได้มีหนังสือไปถึงบริษัทฯ ให้เปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์จากแจงเป็นจ้อนแล้ว จ้อนจึง มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้

สรุป

ข้ออ้างทั้งหมดของบริษัทฯ ฟังไม่ขึ้น บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินตามสัญญา 1 ล้านบาท ให้แก่ จ้อน ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญา

Advertisement