การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายสมจดทะเบียนสมรสกับนางสาวศรี ต่อมานายสมเอาประกันชีวิตนางศรีไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งแบบอาศัยความมรณะ ระยะเวลาเอาประกันภัย 30 ปี วงเงิน 5 แสนบาท ชื่อผู้เอาประกันภัย และชื่อผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์คือนายสม 10 ปีต่อมา นายสมอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องนางสาวสวยฉันภริยา นางศรีจึงฟ้องหย่า ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ อีก 2 ปีต่อมา นางศรี จดทะเบียนสมรสใหม่กับนายเท่ห์ ครั้น 1 ปีต่อมานางศรีประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึงแก่ความตาย นายสมทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์จึงยื่นขอรับเงินประกันชีวิต แต่บริษัทประกันฯ ปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่านายสมได้หย่าขาดกับนางศรีไปแล้วโดยคําพิพากษาของศาล บริษัทประกันจึงไม่มีหน้าที่จ่ายเงิน ตามสัญญาประกันชีวิตแม้อยู่ในระหว่างอายุสัญญาก็ตาม อยากทราบว่าข้ออ้างของบริษัทประกันฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

วินิจฉัย

สัญญาประกันชีวิตนั้นถือว่าเป็นสัญญาประกันภัยประเภทหนึ่ง จึงต้องนําเอาบทบัญญัติใน หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาใช้บังคับด้วย กล่าวคือ ผู้เอาประกันชีวิตจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย คือจะต้องมีส่วนได้เสียในชีวิตของผู้เอาประกันภัยด้วย ซึ่งอาจจะเป็นชีวิตของตนเองหรือชีวิตของผู้อื่นก็ได้ สัญญาประกันชีวิตจึงจะมีผลผูกพันคู่สัญญา (มาตรา 863)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมจดทะเบียนสมรสกับนางสาวศรี และต่อมานายสมเอาประกันชีวิต นางศรีไว้กับบริษัทประกันชีวิตนั้น ถือว่าเป็นการประกันชีวิตผู้อื่น ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวผู้เอาประกันภัยคือนายสม จะเห็นได้ว่า มีความสัมพันธ์กับนางศรีในฐานะคู่สมรส ทั้งนี้เพราะนายสมมีสิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่อชีวิตของ นางศรีภริยาที่ได้มาเอาประกันไว้กับบริษัทผู้รับประกัน จึงถือว่านายสมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้แล้ว และ ประการสําคัญส่วนได้เสียนั้นผู้เอาประกันต้องมีในขณะทําสัญญาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะทําสัญญา นายสมมีส่วนได้เสียในชีวิตของนางศรีเนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้หย่ากันสัญญาจึงมีผลผูกพัน แม้ต่อมาส่วนได้เสีย จะหมดไปเพราะหย่าขาดจากกัน ก็ไม่ทําให้สัญญาที่มีผลผูกพันตั้งแต่ต้นกลายเป็นสัญญาที่ไม่ผูกพันในภายหลัง ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงมีหน้าที่จ่ายเงินตามสัญญา จะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่านายสมได้หย่าขาดกับนางศรี ไปแล้ว บริษัทประกันจึงไม่มีหน้าที่จ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้นไม่ได้

สรุป

บริษัทประกันชีวิตมีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่นายสมผู้รับประโยชน์ ข้ออ้างของบริษัท ประกันชีวิตดังกล่าวข้างต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557 นายแหนมได้ทําประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของตนไว้กับบริษัท มีโชคประกันภัย จํากัด ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 นายแหนมขับรถยนต์คันนี้ด้วยความประมาท เลินเล่อชนรถยนต์ของนายเนื่องได้รับความเสียหาย แต่นายแหนมยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ในความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับนายเนื่อง ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 นายเนื่องจึงมาเรียก ให้นายแหนมใช้ค่าเสียหาย และบริษัท มีโชคประกันภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะ ผู้รับประกันภัยค้ำจุน แต่บริษัท มีโชคประกันภัย จํากัด ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าการมาเรียก ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวของนายเนื่องเลยกําหนดอายุความ 1 ปีมาแล้ว เนื่องจากมูลหนี้ ดังกล่าวเกิดจากมูลหนี้ละเมิดจึงต้องมาเรียกค่าสินไหมทดแทนภายในกําหนด 1 ปีนับแต่รู้เหตุถึง การละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของบริษัท มีโชค ประกันภัย จํากัด ฟังขึ้นหรือไม่ และบริษัท มีโชคประกันภัย จํากัด ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายเนื่องหรือไม่ เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 882 วรรคหนึ่ง “ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้น กําหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย”

มาตรา 887 วรรคหนึ่ง “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”

วินิจฉัย

สัญญาประกันภัยค้ำจุนนั้น เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหม ทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัย จะต้องรับผิดชอบ (มาตรา 887 วรรคหนึ่ง) และในการเรียกให้ผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น จะต้องฟ้องภายในกําหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัย (มาตรา 882 วรรคหนึ่ง)

ตามอุทาหรณ์ การที่นายแหนมได้ทําสัญญาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของตนไว้กับบริษัท มีโชค ประกันภัย จํากัด ในวันที่ 15 มกราคม 2557 และต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 นายแหนมได้ขับรถยนต์คันนี้ ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของนายเนื่องได้รับความเสียหายนั้น เมื่อวินาศภัยที่เกิดขึ้นกับนายเนื่องนั้น เป็นวินาศภัยซึ่งนายแหนมผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น บริษัท มีโชคประกันภัย จํากัด จึงต้อง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยให้แก่นายเนื่องตามมาตรา 887 วรรคหนึ่ง

และการที่นายเนื่องได้เรียกให้บริษัท มีโชคประกันภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะ ผู้รับประกันภัยค้ำจุนในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 นั้น ก็ยังไม่เกินอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง บริษัทมีโชคประกันภัย จํากัด จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายเนื่อง การที่บริษัท มีโชค ประกันภัย จํากัด ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าการมาเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวของนายเนื่องเลยกําหนด อายุความ 1 ปีมาแล้ว เนื่องจากมูลหนี้ดังกล่าวเกิดจากมูลหนี้ละเมิดนั้น ข้ออ้างของบริษัท มีโชคประกันภัย จํากัด จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้ออ้างของบริษัท มีโชคประกันภัย จํากัด ฟังไม่ขึ้น และบริษัท มีโชคประกันภัย จํากัด ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายเนื่อง

 

ข้อ 3 ลําดวนทําสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท เอื้ออาทรประกันชีวิต จํากัด โดยตกลงเอาประกันชีวิตปิยะซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายในเหตุมรณะ จํานวนเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท ระยะเวลาเอาประกัน 10 ปี กําหนดให้ลําดวนเป็นผู้รับประโยชน์ ทําประกันได้ 3 ปี ลําดวนกับปิยะมีปัญหาทะเลาะกัน บ่อยครั้ง จนกระทั่งทั้งสองหย่าขาดจากกัน วันหนึ่งปิยะพาแก้วตาภริยาใหม่ของปิยะมาพบลําดวน แก้วตาพูดจาเยาะเย้ยจนกระทั่งลําดวนทนไม่ไหวจึงหยิบปืนมาจะยิงแก้วตา แต่ปิยะเข้ายื้อแย่งปืน จนกระทั่งปืนลั่นถูกปิยะเสียชีวิต ดังนี้ บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงินตามสัญญาหรือไม่ อย่างไรให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้

คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึ่งได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับ จํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาเต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะ ของบุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอา ประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่า ตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับ ประกันภัยจําต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา :

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจําต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่ลําดวนทําสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท เอื้ออาทรประกันชีวิต จํากัด โดย ตกลงเอาประกันชีวิตปิยะซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายในเหตุมรณะนั้น ถือเป็นกรณีเอาประกันชีวิตผู้อื่น เมื่อลําดวนและปิยะเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงถือว่าทั้งสองมีส่วนได้เสียซึ่งกันและกันในขณะ ทําสัญญาเนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน สัญญาจึงมีผลผูกพันตามมาตรา 863 แม้ว่าต่อมาส่วนได้เสีย จะหมดไปเพราะหย่าขาดจากกันก็ตาม ปิยะจึงเป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิต ส่วนลําดวนเป็นทั้งผู้เอาประกันและเป็น ผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 862 และแม้ต่อมาภายหลังจะมีการหย่าขาดจากกัน และตามข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า ได้มีการโอนประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตให้กับบุคคลอื่นอีกตามมาตรา 891 วรรคหนึ่ง ดังนั้นลําดวนจึงยังมีสิทธิ รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้น

และจากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่ปิยะพาแก้วตาภริยาใหม่ของปิยะมาพบลําดวน แก้วตาพูดจาเยาะเย้ยจนกระทั่งลําดวนทนไม่ไหวจึงหยิบปืนมาจะยิงแก้วตา แต่ปิยะเข้ายื้อแย่งปืนจนกระทั่งปืนลั่น ถูกปิยะเสียชีวิตนั้น เป็นกรณีที่ผู้รับประโยชน์ได้ฆ่าผู้ถูกเอาประกันตายโดยประมาทเท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่ ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้ถูกเอาประกันตายโดยเจตนาตามมาตรา 895 (2) ดังนั้น บริษัท เอื้ออาทรประกันชีวิต จํากัด จึงต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้แก่สําดวนผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 889

สรุป

บริษัท เอื้ออาทรประกันชีวิต จํากัด ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่ลําดวนผู้รับระโยชน์ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

Advertisement