การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 มงคลเป็นบุตรชายคนเดียวของกัมพลซึ่งเป็นเจ้าของบ้านราคา 1.5 ล้านบาท กัมพลไม่ได้อยู่ในบ้าน แต่ให้มงคลอาศัยอยู่และบอกมงคลว่าหากกัมพลตายให้บ้านหลังนี้ตกเป็นของมงคล มงคลกังวลว่าบ้านหลังนี้อาจเกิดไฟไหม้ได้รับความเสียหาย จึงทําประกันอัคคีภัยบ้านและทรัพย์สินภายในบ้าน ในฐานะผู้อาศัยและเป็นผู้ที่จะเป็นเจ้าของบ้านต่อไปในอนาคตกับบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด จํานวนเงินประกัน 1 ล้านบาท ระยะเวลาการคุ้มครอง 3 ปี มงคลทําประกันภัยได้ 1 ปี เกิดไฟไหม้บ้านรวมทรัพย์สินภายในประเมินมูลค่าความเสียหายเท่ากับ 8 แสนบาท มงคลจึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายอ้างว่า มงคลไม่มีส่วนได้เสีย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของบริษัทฯ รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 869 “อันคําว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดา ซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้”

วินิจฉัย

เนื่องจากสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านเป็นสัญญาประกันวินาศภัยตามนัยของมาตรา 869 ซึ่งถือว่า เป็นสัญญาประกันภัยประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องนําบทบัญญัติในหมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาใช้บังคับด้วย กล่าวคือ ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นด้วย สัญญาประกันภัยจึงจะมีผลผูกพัน คู่สัญญา (มาตรา 683)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มงคลทําประกันอัคคีภัยบ้านและทรัพย์สินภายในบ้านในฐานะผู้อาศัยและเป็นผู้ที่จะเป็นเจ้าของบ้านต่อไปในอนาคตกับบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด จํานวนเงินประกัน 1 ล้านบาท ระยะเวลาการคุ้มครอง 3 ปี และเมื่อมงคลทําประกันภัยได้ 1 ปี เกิดไฟไหม้บ้านรวมทั้งทรัพย์สินภายในประเมิน มูลค่าความเสียหายเท่ากับ 8 แสนบาทนั้น เมื่อมงคลมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้น เพราะบ้านเป็นของกัมพลซึ่งเป็นบิดาของมงคลและมงคลอยู่ในฐานะผู้อาศัยเท่านั้น ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 863 และเมื่อมงคลเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายโดยอ้างว่ามงคลไม่มีส่วนได้เสีย ข้ออ้างของบริษัทฯ จึงรับฟังได้

สรุป ข้ออ้างของบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด ที่ว่ามงคลไม่มีส่วนได้เสียนั้นรับฟังได้

 

ข้อ 2 นายหมอกเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหนึ่งโดยได้นํารถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปทําสัญญาประกัน วินาศภัยกับบริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด จํานวนวงเงินซึ่งเอาประกันภัย 1 ล้านบาท ปรากฏว่าในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นายพายุได้ขับรถยนต์มาเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกของนายหมอกโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหาย แต่นายพายุตกลงที่จะรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายหมอกโดยได้ทําสัญญาประนีประนอม ยอมความไว้ในเบื้องต้น โดยตีราคาความเสียหายรถยนต์บรรทุกดังกล่าวจํานวน 3 แสนห้าหมื่นบาท ปรากฏว่าหลังจากทําสัญญาประนีประนอมยอมความนายพายุมิได้มาปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับนายหมอก ดังนี้จงวินิจฉัยว่า

(ก) นายหมอกมีสิทธิเรียกให้บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนในความ
เสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) หากปรากฏว่าบริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ได้นํารถยนต์บรรทุกของนายหมอก ไปซ่อมให้โดยจ่ายค่าซ่อมนั้นไปให้กับอู่ซ่อมรถยนต์บรรทุกดังกล่าวจํานวน 4 แสนบาท บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด สามารถรับช่วงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายพายุได้ จํานวนเท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 880 วรรคหนึ่ง “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย และของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

วินิจฉัย

โดยหลัก ถ้าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอก เมื่อผู้รับประกันภัยได้ใช้ ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว กฎหมายได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องเอาจาก บุคคลภายนอกนั้นได้ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมอกได้นํารถยนต์บรรทุกของตนไปทําสัญญาประกันวินาศภัยกับ บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด จํานวนวงเงินซึ่งเอาประกันภัย 1 ล้านบาท ปรากฏว่าในระหว่างอายุสัญญา ประกันภัย นายพายุได้ขับรถยนต์มาเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกของนายหมอกโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหายนั้น กรณีนี้ถือว่าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของนายพายุซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว ดังนั้น

(ก) นายหมอกย่อมมีสิทธิเรียกให้บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน ในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้ เนื่องจากแม้ว่านายพายุจะได้ทําสัญญาประนีประนอม ยอมความไว้ในเบื้องต้นแล้วก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากทําสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว นายพายุ ก็มิได้มาปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด จึงยังคงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้กับนายหมอกในความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งเป็นความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัย

(ข) การที่นายพายุตกล ที่จะรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายหมอกโดยได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความไว้โดยได้ตีราคาความเสียหายรถยนต์บรรทุกดังกล่าวจํานวน 3 แสน 5 หมื่นบาทนั้น หากปรากฏว่า บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ได้นํารถยนต์บรรทุกของนายหมอกไปซ่อมให้โดยจ่ายค่าซ่อม

ให้กับอู่ซ่อมรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจํานวน 4 แสนบาท บริษัทฯ ย่อมสามารถรับช่วงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายพายุได้ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง แต่บริษัทฯ จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายพายุได้เพียง 3 แสน 5 หมื่นบาทเท่านั้น เพราะแม้ว่าบริษัทฯ จะสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยได้ก็ตาม แต่ก็สามารถรับช่วงสิทธิได้ไม่เกินจํานวนที่นายหมอกเจ้าของรถยนต์บรรทุกมีสิทธิเรียกร้องเอากับนายพายุได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น

สรุป

(ก) นายหมอกมีสิทธิเรียกให้บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน ในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้ตามสัญญาประกันวินาศภัย

(ข) บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด สามารถรับช่วงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายพายุได้ 3 แสน 5 หมื่นบาท

 

ข้อ 3 นายอู๊ดทําสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะของตนเองไว้กับบริษัท อุ่นใจ จํากัด จํานวน เงินเอาประกัน 800,000 บาท ระบุนายวอกและนายยมเป็นผู้รับประโยชน์แต่นายอู๊ดเป็นผู้เก็บ กรมธรรม์ฉบับดังกล่าวไว้เอง ภายในอายุความคุ้มครองของสัญญาฯ นายยมและนายอู๊ดเกิดมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง นายอู๊ดจึงแจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อทําการเปลี่ยนนางหมอนเป็นผู้รับประโยชน์แทนนายยม ทําให้นายยมเกิดความคับแค้นใจอย่างมาก นายยมจึงหลอกให้นายวอกนํากล่องพัสดุ ที่บรรจุระเบิดไปมอบให้แก่นายอู๊ด โดยบอกกับนายวอกว่าข้างในกล่องเป็นเป็นพัสดุที่นายอู๊ดสั่งซื้อไว้ นายวอกจึงนํากล่องพัสดุดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่นายอู๊ด ปรากฏว่ากล่องพัสดุดังกล่าว เกิดระเบิดขึ้นทําให้นายอู๊ดถึงแก่ความตาย เมื่อทราบถึงความตายของนายอู๊ด นายวอกและนางหมอน จึงทําหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อขอรับประโยชน์ตามสัญญาฯ แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามสัญญาฯ แก่ผู้รับประโยชน์ทั้งสองคน โดยอ้างว่าความตายของนายอู๊ดเกิดจากเจตนาฆ่าของ ผู้รับประโยชน์ บริษัทฯ ในฐานะผู้รับประกันไม่ต้องรับผิด

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า การปฏิเสธของบริษัท อุ่นใจ จํากัด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้
คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ ใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของ บุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย
และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว ถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับ ประกันภัยจําต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจําต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือ
ให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอู๊ดทําสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะของตนเองไว้กับบริษัท อุ่นใจ จํากัด จํานวนเงินเอาประกัน 800,000 บาท โดยระบุให้นายวอกและนายยมเป็นผู้รับประโยชน์นั้นย่อมสามารถ ทําได้เพราะถือว่านายอู๊ดผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อนายอู๊ดผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายภายในอายุความคุ้มครองของสัญญาฯ บริษัทฯ จึงต้องใช้ เงินจํานวน 800,000 บาทให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นตามมาตรา 889 ประกอบมาตรา 862 สําหรับสิทธิในการได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตของผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่ผู้รับประโยชน์ได้รับมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตจากผู้เอาประกันชีวิตและได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้นตามมาตรา 891

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายอู๊ดผู้เอาประกันภัยเป็นผู้เก็บกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวไว้เองมิได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้นายวอกและนายยม เก็บรักษาไว้ ประกอบกับนายวอกและนายยมยังมิได้แสดงความจํานงว่าจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต โดยการทําหนังสือบอกกล่าวไปยังบริษัทฯ ผู้รับประกันภัย ดังนั้น นายอู๊ดจึงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงให้นางหมอนมาเป็นผู้รับประโยชน์แทนนายยมได้ตามมาตรา 891 ซึ่งมีผลทําให้นายยมขาดจากการเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้น

และเมื่อนายยมได้หลอกให้นายวอกนํากล่องพัสดุที่บรรจุระเบิดไปมอบให้นายอู๊ดและกล่องพัสดุ ดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้นทําให้นายอู๊ดถึงแก่ความตายจึงเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกได้ฆ่าผู้เอาประกันภัยตายโดยเจตนา
มิใช่เป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895 (2) อันจะทําให้ผู้รับประกันภัย ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด อีกทั้งนายวอกก็มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เอาประกันภัยเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่ากล่องพัสดุ ดังกล่าวเป็นพัสดุ

ดังนั้น เมื่อนายวอกและนางหมอนผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตฉบับนี้ได้ทราบถึง ความตายของนายอู๊ดผู้เอาประกันภัย จึงได้ทําหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ ผู้รับประกันภัยเพื่อขอรับประโยชน์ แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาฯ แก่ผู้รับประโยชน์ทั้งสองคน โดยอ้างว่าความตายของนายอู๊ดเกิดจากเจตนาฆ่าของผู้รับประโยชน์ บริษัทฯ ในฐานะผู้รับประกันไม่ต้องรับผิด การปฏิเสธของบริษัทฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย บริษัทฯ จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาฯ ให้แก่ผู้รับประโยชน์ทั้งสองคน

สรุป

การปฏิเสธการจ่ายเงินของบริษัท อุ่นใจ จํากัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement