การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายทองเป็นเจ้าของบ้านราคา 10 ล้านบาท นายทองเอาประกันอัคคีภัยบ้านหลังนี้ไว้กับบริษัทผู้รับประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กําหนดราคาแห่งส่วนได้เสียไว้ ส่วนจํานวนเงิน เอาประกันภัยระบุไว้ 7 ล้านบาท ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นายทองชําระเบี้ยประกันภัยเป็นเงิน 7 พันบาท หลังจากทําสัญญาไป 4 เดือน เกิดเพลิงไหม้บ้านข้างเคียงแล้วลุกลามมาไหม้บ้านนายทอง เสียหายหมดทั้งหลัง นายทองเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ได้รับการปฏิเสธ อ้างว่าสัญญาไม่ผูกพันและราคาแห่งส่วนได้เสียเป็นสาระสําคัญที่ต้องระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงยก ตัวบทอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 867 วรรคสาม “กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัย และมีรายการ ดังต่อไปนี้
(1) วัตถุที่เอาประกันภัย
(3) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กําหนดกันไว้
(4) จํานวนเงินซึ่งเอาประกันภัย”
มาตรา 869 “อันคําว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดา ซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองซึ่งเป็นเจ้าของบ้านราคา 10 ล้านบาท นายทองเอาประกัน อัคคีภัยบ้านหลังนี้ไว้กับบริษัทผู้รับประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กําหนดราคาแห่งส่วนได้เสียไว้ ส่วนจํานวนเงินเอาประกันภัยระบุไว้ 7 ล้านบาท ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นายทองได้ชําระเบี้ยประกันภัยเป็น เงิน 7 พันบาท หลังจากทําสัญญาได้ 4 เดือน เกิดเพลิงไหม้บ้านข้างเคียงแล้วลุกลามมาไหม้บ้านนายทองเสียหาย หมดทั้งหลัง เมื่อนายทองเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ได้รับการปฏิเสธอ้างว่าสัญญา ไม่ผูกพัน และราคาแห่งส่วนได้เสียเป็นสาระสําคัญที่ต้องระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ นั้น ข้ออ้างของบริษัทประกันภัย ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 สัญญาประกันภัยผูกพันคู่สัญญาหรือไม่
กรณีนี้เห็นว่า เมื่อนายทองเป็นเจ้าของบ้านซึ่งเอาประกันอัคคีภัยไว้ ย่อมถือว่านายทองผู้เอา ประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863 อีกทั้งการที่เกิดเพลิงไหม้บ้านข้างเคียงแล้ว ลุกลามมาไหม้บ้านของนายทองเสียหายหมดทั้งหลัง ถือว่าเป็นวินาศภัยที่เกิดขึ้นกับนายทองแล้ว และการที่บ้านถูกไฟไหม้ทําให้นายทองเสียหายคิดเป็นเงิน 10 ล้านบาท แต่นายทองได้เอาประกันไว้เพียง 7 ล้านบาท ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจึงประมาณเป็นเงินได้ตามมาตรา 869 ดังนั้น สัญญาจึงผูกพันคู่สัญญา ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยที่ว่า สัญญาไม่ผูกพันจึงเป็นข้ออ้างที่ไม่ถูกต้อง
ประเด็นที่ 2 ในกรมธรรม์ฯ จะต้องระบุราคาแห่งส่วนได้เสียหรือไม่
เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา 867 วรรคสาม (3) ที่ว่า “กรมธรรม์ประกันภัยต้องลงลายมือชื่อ ของผู้รับประกันภัย และมีรายการดังต่อไปนี้ (3) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กําหนดกันไว้” ย่อมแสดง ให้เห็นว่าราคาแห่งส่วนได้เสียที่กฎหมายเรียกว่าราคาแห่งมูลประกันภัยนั้น จะกําหนดไว้ในกรมธรรม์ฯ หรือไม่ก็ได้ จึงไม่ใช่สาระสําคัญแห่งกรมธรรม์ฯ ดังนั้น ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยที่ว่าราคาส่วนได้เสียเป็นสาระสําคัญที่ ต้องระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ จึงไม่ถูกต้องเช่นกัน
สรุป ข้ออ้างทั้ง 2 ประการของบริษัทประกันภัยไม่ถูกต้อง
ข้อ 2 นายฮกทําประกันอัคคีภัยบ้านของตนเองไว้กับบริษัท มานะประกันภัย จํากัด ทุนเอาประกัน 5 แสนบาท อายุความคุ้มครองตามสัญญา 1 ปี หลังจากทําสัญญาฯ ได้ 2 เดือน นายฮกตั้งเตาแก๊ส อุ่นแกงไตปลาทิ้งไว้เป็นเวลานานจนเกิดไฟลุกไหม้บริเวณห้องครัวบ้านของนายฮก นายฮกได้กลิ่นไหม้ จึงรีบไปปิดแก๊สและได้ไปขอยืมถังดับเพลิงของเพื่อนบ้านมาดับไฟ ราคา 2,000 บาท แต่ไฟยังคง ลุกลามอยู่จึงต้องทุบครัวบางส่วนทิ้งเพื่อป้องกันมิให้ไฟลุกลามไปยังส่วนอื่นของบ้าน ตีราคา ค่าเสียหายเป็นจํานวนเงิน 2 แสนบาท นายฮกจึงแจ้งไปยังบริษัท มานะประกันภัย จํากัด เรียกร้อง ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนในราคาค่าถังดับเพลิงที่จะต้องซื้อใช้คืนแก่เพื่อนบ้านและความเสียหาย จากการทุบครัวบางส่วนทิ้ง แต่บริษัท มานะประกันภัย จํากัด ปฏิเสธว่าความเสียหายเกิดจาก ความประมาทเลินเล่อของนายฮกเอง บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิด และการใช้ราคาค่าถังดับเพลิงกับ ค่าเสียหายจากการทุบครัวบางส่วนนั้นมิใช่ความเสียหายจากอัคคีภัยตามที่ระบุไว้ในสัญญา บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิด ข้ออ้างในการปฏิเสธของบริษัท มานะประกันภัย จํากัด ทั้งสองกรณี ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 877 “ผู้รับประกันภัยจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) เพื่อจํานวนวินาศภัยอันแท้จริง
(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควร เพื่อป้องปัดความวินาศภัย
(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ
อันจํานวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่ง จํานวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจํานวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้”
มาตรา 879 วรรคหนึ่ง “ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัย หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุ ไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับ ประโยชน์”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายฮกทําประกันอัคคีภัยบ้านของตนเองไว้ถือว่าเป็นผู้มีเหตุแห่งส่วนได้เสีย ตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพัน และเมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในสัญญา (อัคคีภัย) บริษัทผู้รับประกันภัย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาให้กับนายฮกตามมาตรา 877 คือการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในบรรดา ความเสียหายอย่างใด ๆ ซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้เพื่อจํานวนวินาศภัยอันแท้จริง เพื่อความบุบสลายอันเกิด แก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย เพื่อบรรดาค่าใช้จ่าย อันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ เว้นแต่วินาศภัยนั้นจะได้เกิดขึ้นเพราะ ความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ซึ่งทําให้ผู้รับประกันภัย ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 879 วรรคหนึ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นจากการที่นายฮกตั้งเตาแก๊ส อุ่นแกงไตปลาทิ้งไว้เป็นเวลานานจนเกิดไฟลุกไหม้บริเวณห้องครัว ซึ่งเป็นความเสียหายจากอัคคีภัยตามที่ระบุไว้ ในสัญญาประกันภัย แม้จะเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายฮกผู้เอาประกันภัย แต่ก็มิใช่ความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 879 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันอัคคีภัย ต่อนายฮกผู้เอาประกัน รวมทั้งค่าเสียหายในราคาค่าถังดับเพลิง 2,000 บาท และค่าเสียหายที่ตีราคาได้จากการ ทุบครัวบางส่วนทิ้งซึ่งเป็นค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทําของผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 377 (2) และ (3) ที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิด การที่บริษัทฯ ปฏิเสธไม่ยอมรับผิด โดยยกข้ออ้างในการปฏิเสธความรับผิดของ บริษัทฯ ทั้ง 2 กรณีนั้นจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป
ข้ออ้างในการปฏิเสธความรับผิดทั้ง 2 กรณีของบริษัท มานะประกันภัย จํากัด ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 3 นายอ๊อดทําสัญญาประกันชีวิตโดยเอาประกันชีวิตตนเองด้วยเหตุทรงชีพในวันที่ 24 กันยายน 2560 กับบริษัท ดีเลิศประกันชีวิต จํากัด จํานวนเงินเอาประกัน 300,000 บาท มีระยะเวลา 10 ปี กําหนดให้ นางเขียดภรรยาเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมานายอ๊อดประสบปัญหาทางการเงินจึงเกิดความเครียด เลยตัดสินใจกินน้ำยาล้างห้องน้ำเพื่อฆ่าตัวตายวันที่ 20 กันยายน 2561 แต่ยังไม่ถึงแก่ความตาย นางเขียดมาเห็นเข้าพอดีจึงรีบพานายอ๊อดส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องและรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2561 นายอ๊อดจึงถึงแก่ความตาย ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านางเขียดผู้รับประโยชน์ จะมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาเต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของ บุคคลคนหนึ่ง”
มาตรา 890 “จํานวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชําระเป็นเงินจํานวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา”
มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใดท่านว่าผู้รับประกันภัย จําต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ
(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ในกรณีที่ 2 นี้ท่านว่าผู้รับประกันภัยจําต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือ ให้แก่ทายาทของผู้นั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอ๊อดทําสัญญาประกันชีวิตตนเอง ย่อมถือว่านายอ๊อดมีส่วนได้เสีย ในเหตุที่ประกัน สัญญาประกันชีวิตย่อมมีผลผูกพันคู่สัญญาตามมาตรา 863
การที่นายอ๊อดทําสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการทรงชีพนั้น บริษัทจะใช้เงินให้ ตามสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา 890 ตามจํานวนที่กําหนดไว้ในสัญญานั้น นายอ๊อดผู้เอาประกันชีวิต และ ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิตด้วยนั้นจะต้องมีชีวิตอยู่จนครบตามสัญญา คือ ครบ 10 ปี บริษัท ประกันชีวิตจึงจะใช้เงินให้ตามมาตรา 889
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายอ๊อดได้กินน้ำยาล้างห้องน้ำเพื่อฆ่าตัวตายก่อนครบกําหนดอายุ สัญญาประกันชีวิต นางเขียดผู้รับประโยชน์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาดังกล่าว และในกรณีนี้ก็ไม่เข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา 895 เพราะการที่จะปรับเข้ากับข้อกฎหมายตามมาตรา 895 นั้นต้องเป็นกรณีการประกันชีวิต โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะเท่านั้น ฉะนั้นบทบัญญัติมาตรา 895 จึงไม่จําต้องนํามาพิจารณาในกรณีนี้ ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่นางเขียดผู้รับประโยชน์ โดยสามารถยกข้อต่อสู้ว่านายอ๊อด ผู้เอาประกันชีวิตมิได้มีชีวิตอยู่จนครบระยะเวลาตามที่สัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความทรงชีพกําหนดไว้ ขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อนางเขียดได้
สรุป
นางเขียดผู้รับประโยชน์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต