การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก มอบอำนาจให้ ข มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์โดยมิได้มอบอำนาจเป็นหนังสือมี ค มาขอเช่าซื้อรถยนต์ ข จึงทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์ไปกับ ค และ ค ได้วางเงินดาวน์ไว้ 200,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
1 ข มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อหรือไม่ เพราะเหตุใด
2 สัญญาที่ ข ทำไปกับ ค นั้น ผลจะเป็นเช่นไร เพราะเหตุใด
3 เงินดาวน์ที่ ข รับไว้ จาก ค นั้น ข จะต้องโอนคืนให้กับ ก ตัวการหรือไม่ และถ้า ข ไม่โอน ก ฟ้อง ข ให้โอน ข จะต่อสู้ว่า ก ตั้ง ข เป็นตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 152 การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 572 วรรคสอง สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
มาตรา 810 เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้
1 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ข มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อหรือไม่ เห็นว่า เมื่อการทำสัญญาให้
เช่าซื้อนั้นเป็นกิจการที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ ตามมาตรา 572 วรรคสอง ดังนั้น การตั้งตัวแทนเพื่อไปทำสัญญาให้เช่าซื้อจึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย ตามมาตรา 798 วรรคแรก เมื่อการตั้งตัวแทนของ ก ที่ให้ ข เป็นตัวแทนไปทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์มิได้ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 798 วรรคแรก ดังนั้น ข จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อ
2 เมื่อ ข ไม่มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อ ดังนั้นเมื่อ ข ได้ไปทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์กับ ค สัญญาให้เช่าซื้อดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ ตามมาตรา 152 ที่มีหลักว่าการใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ
3 แม้การตั้งตัวแทนระหว่าง ก กับ ข จะมิได้ทำเป็นหนังสือ แต่เงินดาวน์ที่ ข รับไว้จาก ค 200,000 บาทนั้น ข รับไว้ในฐานะตัวแทนของ ก ซึ่งเป็นตัวการ ดังนั้น ข จึงต้องโอนคืนให้แก่ตัวการคือ ก ตามมาตรา 810 วรรคแรก
และถ้า ข ไม่โอนเงิน 200,000 บาท คืนให้แก่ ก ก ย่อมสามารถฟ้องให้ ข โอนคืนได้ และ ข จะต่อสู้ว่า ก ตั้ง ข เป็นตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ได้ เพราะระหว่าง ก กับ ข นั้นเป็นเรื่องระหว่างตัวการกับตัวแทน ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798 แม้การตั้งตัวแทนจะมิได้ทำเป็นหนังสือ ตัวการก็ฟ้องบังคับคดีได้
สรุป
1 ข ไม่มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อ
2 สัญญาที่ ข ทำไปกับ ค มีผลเป็นโมฆะ
3 เงินดาวน์ที่ ข รับไว้จาก ค นั้น ข จะต้องโอนคืนให้กับ ก ตัวการ และถ้า ข ไม่โอน ก ฟ้อง ข ให้โอน ข จะต่อสู้ว่า ก ตั้ง ข เป็นตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือไม่ได้
ข้อ 2 ก มอบ ข ให้ซื้อเรือยอร์จในราคา 30 ล้านบาท โดยให้เงิน ข ไป 30 ล้านบาท แต่พอไปถึงที่ขายเรือยอร์จ ราคาขึ้นเป็น 32 ล้านบาท ก จึงให้ ข ออกเงินแทนไป 2 ล้านบาท เมื่อ ข นำเรือมาถึงบ้านจึงให้ ก มารับเรือไป รวมทั้งให้ ก นำเงินมาชำระ 2 ล้านบาทด้วย ก มาถึงจะขอเรือไปก่อนเงิน 2 ล้าน ขอติดไว้ก่อน ข ไม่ยอมให้เรือไป ดังนี้ ถ้า ข ตัวแทนเลือกวิธีขอยึดหน่วงเรือไว้ก่อนยังไม่โอนเรือไปให้ ก ให้ท่านวินิจฉัยว่า
1 ข ไม่โอนเรือไปให้ ก จะเป็นการขัดต่อข้อกฎหมายที่ว่าด้วยทรัพย์สินที่ขวนขวายได้มาจากการเป็นตัวแทนหรือไม่
2 และถ้า ข ยึดหน่วงเรือไว้จนหนี้ขาดอายุความแล้ว ข ยังจะฟ้อง ก ให้รับผิดชำระหนี้ที่ ข ทดรองจ่ายไป 2 ล้านได้หรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้
มาตรา 248 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 193/27 การใช้สิทธิยึดหน่วงหาทำให้อายุความแห่งหนี้สะดุดหยุดลงไม่
มาตรา 810 เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น
มาตรา 816 ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้
มาตรา 819 ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินใดๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน เพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้
1 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่ ข ไม่โอนเรือไปให้ ก จะเป็นการขัดต่อข้อกฎหมายที่ว่าด้วยทรัพย์สินที่ขวนขวายได้มาจากการเป็นตัวแทนหรือไม่ เห็นว่า การที่ ก มอบหมายให้ ข ไปซื้อเรือยอร์จ และ ข ได้ออกเงินแทนไป 2 ล้านบาทนั้น ถือเป็นกรณีที่ตัวแทนออกเงินทดรองจ่ายแทนตัวการไปในการทำกิจการที่ตัวการมอบหมายตามมาตรา 816 วรรคแรก ซึ่งตัวแทนสามารถเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยได้ ดังนั้น เมื่อ ข ตัวแทนยังไม่ได้รับการชำระเงินจำนวนดังกล่าว จึงมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของตัวการ คือ เรือยอร์จ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของตนไว้ได้ จนกว่าจะได้รับเงินที่ ก ตัวการค้างชำระแก่ตนตามมาตรา 819 ดังนั้น การที่ ข ไม่โอนเรือไปให้ ก จึงไม่เป็นการขัดต่อข้อกฎหมายที่ว่าด้วยทรัพย์สินที่ขวนขวายได้มาจากการเป็นตัวแทนตามมาตรา 810 วรรคแรก
2 เมื่อ ข มีสิทธิยึดหน่วงเรือของ ก ไว้แล้ว การที่ ข ใช้สิทธิยึดหน่วงเรือไว้นั้นย่อมไม่ทำให้อายุความแห่งหนี้ที่ ก ค้างชำระแก่ ข สะดุดหยุดลงตามมาตรา 248 และถึงแม้ว่า ข จะยึดหน่วงเรือไว้จนหนี้ขาดอายุความแล้ว ข ก็ยังสามารถฟ้อง ก ให้รับผิดชำระหนี้ที่ ข ทดรองจ่ายไป 2 ล้านได้ตามมาตรา 193/27 ที่มีหลักว่า ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ตนได้ยึดไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม
สรุป
1 การที่ ข ไม่โอนเรือไปให้ ก ไม่เป็นการขัดต่อข้อกฎหมายที่ว่าด้วยทรัพย์สินที่ขวนขวายได้มาจากการเป็นตัวแทน
2 และถ้า ข ยึดหน่วงเรือไว้จนหนี้ขาดอายุความแล้ว ข ก็ยังสามารถฟ้อง ก ให้รับผิดชำระหนี้ที่ ข ทดรองจ่ายไป 2 ล้านได้
ข้อ 3 ก มอบให้ ข ขายที่ดินบอกว่าจะให้บำเหน็จ ข ขายที่ดินได้ ก ให้บำเหน็จร้อยละ 2 ข ไม่ยอมรับบอกว่า ก ให้น้อยไป ข อยากได้ร้อยละ 5 ก ไม่ให้ ข จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลตัดสินว่าจะให้กี่เปอร์เซ็น และถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะวินิจฉัยโดยใช้หลักกฎหมายใดเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา และจะได้ร้อยละเท่าใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 846 วรรคสอง ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกัน เป็นจำนวนตามธรรมเนียม
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย ในกรณีที่ได้มีการตกลงกันว่าจะให้บำเหน็จนายหน้า แต่มิได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้ตามมาตรา 846 วรรคสอง ให้ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมที่เคยมีบุคคลอื่นปฏิบัติกันมา ดังนั้นค่าบำเหน็จนายหน้าที่คู่สัญญาตกลงกันจะต้องกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง มิฉะนั้นจะต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม ตามบทบัญญัติมาตรา 846 วรรคสอง
ทั้งนี้คำพิพากษาฎีกาที่ 3581/2526 วางหลักของจำนวนตามธรรมเนียมตามนัยมาตรา 846 วรรคสองว่า เมื่อไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่ามีการตกลงกำหนดค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้เท่าใดแน่นอน จึงต้องถือเอาอัตราตามธรรมเนียมการซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคิดกันในอัตราร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก มอบหมายให้ ข เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จแต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการกำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้ว่าจะต้องจ่ายเท่าใด จึงต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามมาตรา 846 วรรคสอง ประกอบแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3581/2526 คือ ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้กับ ข ร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันจริง
ดังนั้น เมื่อไม่อาจตกลงกันได้ว่าจะจ่ายค่าบำเหน็จกันเท่าใดแน่นอน การที่ ข อยากได้บำเหน็จร้อยละ 5 จึงนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งให้ ก จ่ายบำเหน็จนายหน้าให้กับ ข ร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันจริงตามหลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยโดยใช้หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นในการพิจารณา และ ข จะได้บำเหน็จร้อยละ 5