ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1
ก. มอบหมายให้ ข. ไปกู้เงินโดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ข. ไปกู้เงิน ค. 500,000 บาท โดย ข. ทำสัญญาเงินกู้ไว้เป็นหลักฐานในฐานะผู้กู้ และเขียนในสัญญากู้ว่ากู้แทน ก ดังนี้ ถามว่า
(1) ข มีสิทธิลงชื่อในสัญญากู้หรือไม่ และถ้า ข ลงชื่อในสัญญากู้แล้ว การกระทำของ ข เป็นอย่างไร
(2) การกระทำของ ข ผูกพันตัวการหรือไม่ ค จะฟ้อง ก ให้รับผิดได้หรือไม่ เพราะในสัญญา ข เขียนว่ากู้แทน ก
(3) พอสรุปได้ว่า ค จะฟ้องใครให้รับผิดชดใช้เงินกู้ครั้งนี้ระหว่าง ก และ ข
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์
(1) การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น บทบัญญัติมาตรา 653 วรรคแรก บังคับว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงจะใช้ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายได้ เมื่อกฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อไปทำสัญญากู้จึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก มอบหมายให้ ข ไปกู้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่นนี้ ข ย่อมไม่มีสิทธิลงชื่อในสัญญากู้เงินนั้น เพราะ ก ตั้ง ข เป็นตัวแทนไปกู้เงินโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 798 วรรคสอง ดังนั้นการที่ ข ลงชื่อไปก็เท่ากับว่า ข ลงชื่อโดยปราศจากอำนาจตามมาตรา 823 วรรคแรก
(2) เมื่อการตั้งตัวแทนฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย จึงมีผลเท่ากับว่าไม่มีการมอบหมายหรือตั้งตัวแทนให้ไปทำสัญญากู้ยืม การที่ ข ไปกู้ยืมเงิน ค สัญญากู้ยืมนั้นย่อมไม่ผูกพัน ก ตัวการแต่อย่างใด เพราะเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามกรณีนี้ถ้า ก ตัวการให้สัตยาบัน สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวก็อาจผูกพัน ก ได้ตามมาตรา 823 วรรคแรกตอนท้าย แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก ให้สัตยาบันแก่การกู้ยืมเงินนั้น ข จึงต้องรับผิดต่อ ค บุคคลภายนอกโดยลำพังตนเองตามมาตรา 823 วรรคท้าย แม้สัญญากู้ยืมจะระบุว่าเป็นการที่ ข กู้แทน ก ก็ตาม
(3) เมื่อสัญญากู้ยืมไม่ผูกพัน ก และ ข ต้องรับผิดโดยลำพังแล้ว ค จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้ ข รับผิดชดใช้เงินตามสัญญากู้ได้คนเดียวเท่านั้น กรณีนี้ถือว่า ข อยู่ในฐานะคู่สัญญากู้ยืมเงินตามมาตรา 653 วรรคแรกโดยตรง
สรุป
(1) ข. ไม่มีสิทธิลงชื่อในสัญญากู้ ถ้าลงไปก็เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ
(2) การกระทำของ ข ไม่ผูกพันตัวการ ค ฟ้อง ก รับผิดไม่ได้
(3) ค ฟ้อง ข ให้รับผิดได้คนเดียวเท่านั้น
ข้อ 2 นายแดงเป็นเจ้าของกิจการเปิดร้านซื้อและขายรถยนต์ประเภทที่ใช้แล้วอยู่แถวถนนรัชดา นายดำต้องการซื้อรถยนต์ใช้แล้วหนึ่งคันในราคาไม่เกิน 300,000 บาท จึงได้ตกลงรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่ต้องการซื้อกับนายแดง และได้ตกลงกันว่าถ้าซื้อรถยนต์ได้แล้วจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายแดงเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ต่อมานายแดงได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์ตามที่นายดำต้องการจากนายเขียวหนึ่งคันในราคา 290,000 บาท และนายเขียวได้นำรถยนต์มาส่งมอบให้แก่นายดำในวันที่ 3 กันยายน 2552 แต่นายดำไม่ยอมชำระเงินค่ารถยนต์ให้แก่นายเขียว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเขียวจะฟ้องนายแดงตัวแทนค้าต่างหรือฟ้องนายดำให้รับผิดในเงินจำนวนดังกล่าว เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 837 ในการที่ตัวแทนค้าต่างทำการขายหรือซื้อหรือจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว เมื่อตัวแทนค้าต่างได้ทำการขาย ทำการซื้อ ทำกิจการค้าขายอย่างอื่นแทนตัวการตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ตัวแทนค้าต่างกับบุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีความผูกพันกันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นจนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ดังนั้นหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างตัวแทนค้าต่างกับบุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญา ตัวแทนค้าต่างกับบุคคลภายนอกต้องว่ากล่าวกันเอง โดยที่
(ก) ถ้าบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ปฏิบัติผิดสัญญา ตัวแทนค้าต่างย่อมฟ้องร้องบุคคลภายนอกได้
(ข) ถ้าตัวแทนค้าต่างไม่ปฏิบัติตามสัญญา บุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องร้องบังคับตัวแทนค้าต่างได้
ทั้งนี้เพราะบุคคลภายนอกกับตัวแทนค้าต่างเป็นคู่สัญญากันโดยตรง หากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญาทราบว่าตัวแทนค้าต่างได้กระทำกิจการนั้นแทนตัวการแล้ว บุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเรียกบังคับตัวการได้ และเป็นผลให้ตัวแทนค้าต่างที่ทำสัญญากับบุคคลภายนอกนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดทันที หรือจะฟ้องบังคับได้ทั้งตัวการและตัวแทนค้าต่างได้ในคดีเดียวกัน
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายแดงเป็นตัวแทนค้าต่างของนายดำได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์จากนายเขียวในนามของตนเองแทนนายดำตัวการ นายแดงตัวแทนค้าต่างย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะคู่สัญญาและย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อนายเขียวคู่สัญญานั้นด้วย ตามมาตรา 837
ดังนั้น เมื่อนายดำตัวการไม่ยอมชำระค่ารถยนต์จำนวน 290,000 บาทให้แก่นายเขียวบุคคลภายนอก นายเขียวย่อมฟ้องร้องนายแดงตัวแทนค้าต่างในฐานะคู่สัญญาให้ต้องรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวได้
สรุป นายเขียวมีสิทธิฟ้องนายแดงตัวแทนค้าต่างให้รับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวได้
ข้อ 3 นายเอกต้องการจะขายที่ดินของตนหนึ่งแปลงที่จังหวัดปทุมธานี จึงได้บอกกับนายโทน้องชายว่า ถ้าขายได้จะนำเงินไปซื้อตึกแถวหนึ่งห้องเพื่อให้คนเช่า หลังจากนั้นนายเอกได้นำป้ายไปติดประกาศขายพร้อมทั้งเบอร์โทรศัพท์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ส่วนนายโทไม่ทราบว่านายเอกไปติดประกาศขายแต่อยากให้พี่ชายขายที่ดินได้จึงไปตกลงกับนายตรีให้เป็นนายหน้าหาคนมาซื้อที่ดิน ถ้าขายได้จะให้ค่าบำเหน็จ 3 หมื่นบาท ต่อมานายตรีได้จัดการพานายแก้วไปพบนายเอก นายแก้วได้ตกลงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวในราคา 4 ล้านบาท และทั้งสองได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินเรียบร้อยแล้ว นายตรีจึงไปขอค่าบำเหน็จ 3 หมื่นบาทจากนายเอก ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเอกจะต้องจ่ายค่าบำเหน็จจำนวนดังกล่าวให้แก่นายตรีหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
มาตรา 846 วรรคแรก ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
วินิจฉัย
บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมายแก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทำให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการมอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จำต้องให้ค่าบำเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับบำเหน็จหรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 845 หรือมีสัญญาต่อกันโดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบำเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีสัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่ ฉะนั้น ไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จะหาประโยชน์จากการเป็นนายหน้าเป็นปกติธุระหรือไม่ก็ตาม หากต้องการประโยชน์คือบำเหน็จค่านายหน้าจากผู้ใดจะต้องมีสัญญากับผู้นั้นโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย จะกระทำไปฝ่ายเดียวโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ตกลงรับรู้ด้วยอย่างใดแล้วมาอ้างว่าเป็นนายหน้าเรียกร้องเอาบำเหน็จย่อมไม่ได้อยู่เอง
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายเอกจะต้องจ่ายค่าบำเหน็จจำนวน 3 หมื่นบาทให้แก่นายตรีหรือไม่ เห็นว่า การที่นายโทตกลงให้นายตรีเป็นนายหน้าขายที่ดินของนายเอกพี่ชายโดยนายเอกไม่ได้มอบหมาย จึงเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างนายโทกับนายตรี นายตรีจึงไม่ใช่นายหน้าของนายเอก ทั้งสองจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้นแม้นายตรีจะจัดการพานายแก้วไปพบนายเอกและได้ทำสัญญาซื้อขายจนสำเร็จ แต่เมื่อนายตรีไม่ใช่บุคคลที่นายเอกตั้งให้เป็นนายหน้าแล้ว นายตรีย่อมไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จจากนายเอก กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคแรก นายเอกจึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จจำนวนดังกล่าวให้แก่นายตรี (ฎ. 724/2540)
สรุป นายเอกไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จจำนวนดังกล่าวให้แก่นายตรี