การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  ตั้งตัวแทนคือ  นาย  ข  ให้ไปกู้เงินด้วยปากเปล่าโดยมิได้ทำหนังสือแต่งตั้งเป็นหนังสือ  นาย  ข  ไปกู้เงินนาย  ค  นาย  ข ในฐานะเป็นคู่สัญญาลงชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้กู้เป็นจำนวนเงิน  100,000  บาท  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นาย  ข  มีอำนาจลงชื่อในสัญญากู้หรือไม่  และการกู้เงินที่ว่านี้มีผลผูกพันนาย  ก  ตัวการหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทนไปกู้เงินด้วยปากเปล่า  มิได้ทำหนังสือแต่งตั้งเป็นหนังสือเป็นการตั้งตัวแทน  โดยฝ่าฝืนข้อกฎหมายมาตรา  798  ดังนั้น  การที่นาย  ข  ตัวแทนลงชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้กู้  จึงไม่มีอำนาจที่จะลงชื่อได้  ถือว่าตัวแทนลงชื่อในสัญญากู้โดยปราศจากอำนาจ  ผลก็คือสัญญากู้ไม่มีผลผูกพันตัวการตามมาตรา  823  วรรคแรก  นาย  ค  จึงฟ้องร้องบังคับตัวการคือ  นาย  ก  ไม่ได้

สรุป  นาย  ข  ไม่มีอำนาจลงชื่อในสัญญากู้  และการกู้เงินดังกล่าวไม่มีผลผูกพัน  นาย  ก  ตัวการ

 

ข้อ  2  นายเอกแต่งตั้งนายโทเป็นผู้จัดการร้านจำหน่ายและซ่อมรุจักรยานยนต์  ปรากฏว่าในระหว่างที่นายเอกไปเที่ยวต่างจังหวัด

(1) นายหนึ่ง  ได้นำรถจักรยานยนต์มาจำนำเพื่อประกันหนี้ค่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่นายหนึ่งได้ซื้อไปจากร้านของนายเอก  โดยส่งมอบให้นายโท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าการจำนำรถจักรยานยนต์ครั้งนี้  นายเอกมีสิทธิอ้างความเป็นเจ้าหนี้  ผู้รับจำนำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายสอง  นำตึกแถวอาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ข้างร้านนายเอกมาให้นายโทเช่าเป็นระยะเวลา  5  ปี  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ถ้าหากทำสัญญาเช่ามาได้  3  ปี  นายสองผู้ให้เช่าไม่ประสงค์จะให้นายเอกเช่าต่อ  นายสองจะปฏิเสธไม่ให้นายเอกเช่าต่อได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

1       ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

2       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

3       ให้

4       ประนีประนอมยอมความ

5       ยื่นฟ้องต่อศาล

6       มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นายเอกแต่งตั้งนายโทเป็นผู้จัดการร้านจำหน่ายและซ่อมรถจักรยานยนต์  ถือว่านายโทเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  ซึ่งมีอำนาจดำเนินกิจการได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการจำหน่ายและซ่อมรถจักรยานยนต์ตามมาตรา  801  ปรากฏว่าในระหว่างที่นายเอกไปเที่ยวต่างจังหวัด

 1       นายหนึ่ง  ได้นำรถจักรยานยนต์มาจำนำเพื่อประกันหนี้ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่นายหนึ่งได้ซื้อไปจากร้านของนายเอก  โดยส่งมอบให้นายโท  การจำนำรถจักรยานยนต์ครั้งนี้  นายเอกมีสิทธิอ้างความเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้  เพราะการซื้อขายรถจักรยานยนต์อยู่ในขอบอำนาจของนายโทตัวแทน  เมื่อปรากฏว่านายหนึ่งค้างชำระค่ารถจักรยานยนต์จึงได้นำรถจักรยานยนต์ของตนมาจำนำประกันหนี้ค่าซื้อรถ  นายโทตัวแทนก็มีอำนาจที่จะกระทำได้  และไม่ปรากฏว่าเป็นการต้องห้ามตามมาตรา  801  วรรคสอง  (1)-(6)  แต่อย่างใด  จึงอยู่ในขอบอำนาจที่นายโทสามารถที่จะกระทำได้และเมื่อกระทำไปการจำนำผูกพันนายเอกตัวการตามมาตรา  820 

2       นายสอง  นำตึกแถวอาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ข้างร้านนายเอกมาให้นายโทเช่าเป็นระยะเวลา  5  ปี  ถ้าหากทำสัญญาเช่ามาได้  3  ปี  นายสองผู้ให้เช่าไม่ประสงค์จะให้นายเอกเช่าต่อ  นายสองจะปฏิเสธไม่ให้นายเอกเช่าต่อไม่ได้  เพราะนายโทตัวแทนมีอำนาจไปเช่าตึกแถวได้  แม้ตึกจะเป็นอสังหาริมทรัพย์  และเป็นการเช่าเกินกว่า  3  ปีขึ้นไปก็ตาม  เพราะกรณีต้องห้ามคือเป็นกรณีที่ตัวแทนนำอสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่าเกินกว่า  3  ปี  ขึ้นไป  ตามมาตรา  801  วรรคสอง  (2)  ดังนั้น  นายสองผู้ให้เช่าต้องผูกพันจนกว่าจะครบ  5  ปี  จึงไม่อาจปฏิเสธไม่ให้นายเอกตัวการตัวเช่าต่อได้ตามมาตรา  820

สรุป

1       นายเอกตัวการ  ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนำ  ตามมาตรา  820

2       นายเอกมีสิทธิเช่าตึกแถวต่อจนกว่าจะครบ  5  ปีได้  ตามมาตรา  820

 

ข้อ  3  นายวิทย์เป็นจ้าของที่ดิน  1  แปลง  ต้องการจะให้เช่ามีกำหนดเวลา  10  ปี  การเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน  3  ปี  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  นายวิทย์จึงได้มอบให้นายวุฒิเป็นนายหน้าหาคนมาเช่าโดยตกลงค่าบำเหน็จเป็นเงินจำนวน  10,000  บาท  ทั้งสองได้ทำสัญญากันโดยระบุว่า  ให้นายวุฒิไปจัดการพาผู้เช่าให้ไปจดทะเบียนการเช่า  ณ  สำนักงานที่ดินกับนายวิทย์ให้สำเร็จเรียบร้อยด้วย  ต่อมา  นายวุฒิได้พานายเฉลิมผู้เช่ามาตกลงทำสัญญาเช่ากับนายวิทย์เรียบร้อยแล้ว  แต่มิได้มีการจดทะเบียนการเช่า  เพราะนายเฉลิมผู้เช่าผิดสัญญา  นายวุฒิได้มาขอค่าบำเหน็จนายหน้าจากนายวิทย์โดยอ้างว่าได้ทำสัญญาเช่าเรียบร้อยแล้ว  ดังนี้ อยากทราบว่านายวิทย์จะต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายวุฒิหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

นายวิทย์ได้มอบให้นายวุฒิเป็นนายหน้าหาคนมาเช่าที่ดิน  ทั้งสองได้ทำสัญญากันโดยระบุให้นายวุฒิพาผู้เช่าไปจดทะเบียนการเช่า  ณ สำนักงานที่ดินให้สำเร็จเรียบร้อยด้วย  ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน  คือถือเอาการจดทะเบียนการเช่าระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าที่สำนักงานที่ดินเป็นเงื่อนไขตามความสำเร็จของนายหน้า  แม้นายวุฒิจะพานายเฉลิมมาทำสัญญาเช่ากับนายวิทย์เรียบร้อยแล้ว  แต่เมื่อยังมิได้มีการจดทะเบียนการเช่าเพราะผู้เช่าผิดสัญญา  นายวุฒิจึงไม่มีสิทธิเรียกค่านายหน้าจากนายวิทย์  เนื่องจากเงื่อนไขไม่สำเร็จตามมาตรา  845  วรรคแรก  ตอนท้าย  (ฎ. 1901/2506

สรุป  นายวิทย์จึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายวุฒิ

Advertisement