การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายหนึ่งตั้งนายสองเป็นตัวแทนไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายสาม  นายสองกับนายสามตกลงกันว่านายสามจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของนายสามออกไปจากที่ดินของนายหนึ่งภายใน  1  เดือน  โดยนายหนึ่งจะยอมจ่ายค่ารื้อถอนให้แก่นายสาม  2,000 บาท  หากนายสามไม่รื้อถอนตามกำหนด  นายสามไม่มีสิทธิได้ค่ารื้อถอนและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายหนึ่งเป็นรายเดือนๆละ  200  บาท  ไปจนกว่าจะรื้อถอนเสร็จ  การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกิจกรรมที่กฎหมายบังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือ

ให้ท่านวินิจฉัยว่าหากนายหนึ่งตั้งนายสองเป็นตัวแทนโดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว  ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร  และหากทั้งสองฝ่ายคือทั้งนายหนึ่งและนายสามเกิดผิดสัญญาต่อกัน  จะฟ้องร้องกันได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

วินิจฉัย

นายหนึ่งตั้งนายสองเป็นตัวแทนไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายสาม  ซึ่งสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  (มาตรา  51)  ดังนั้นการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนี้ก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยตามมาตรา  798  เมื่อตามปัญหานายหนึ่งตั้งนายสองเป็นตัวแทนโดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ผลก็คือสัญญาประนีประนอมยอมความ  ที่นายสองทำไว้กับนายสามไม่ผูกพันทั้งนายหนึ่งและนายสาม  กล่าวคือ

1       แม้นายสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามกำหนด  แต่นายหนึ่งไม่จ่ายค่ารื้อถอน  นายสามจะฟ้องเรียกค่ารื้อถอนกันไม่ได้

2       หรือหากนายสามไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกตามสัญญา  นายหนึ่งจะฟ้องเรียกค่าเสียหายรายเดือนจากนายสามไม่ได้เช่นกัน

สรุป  นายหนึ่ง  และนายสามไม่อาจฟ้องบังคับกันและกันได้

 

ข้อ  2  รัฐบาลประเทศเอกราชได้ทำสัญญาว่าจ้างให้นางพานทองพูมเป็นผู้ก่อสร้างสนามบินสุวรรณเขต  โดยคิดค่าก่อสร้างกว่าสามหมื่นล้านบาท  ปรากกว่านางพานทองพูมต้องเดินทางไปประมูลงานก่อสร้างที่ต่างประเทศ   จึงได้มอบหมายให้นายจตุรทิศเป็นผู้ดูแลการลงนามในสัญญาจ้างและควบคุมการก่อสร้างครั้งนี้ทั้งหมด  ก่อนทำการก่อสร้างนายจตุรทิศได้ทำสัญญาจ้างนายอดิศรซึ่งเป็นวิศวกรมาเป็นผู้ช่วยในการก่อสร้าง  โดยตกลงค่าจ้างเป็นเงิน  500,000  บาท  

ต่อมานายจตุรทิศได้ทำสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างจากเฮียตงเป็นเงิน  3,000  ล้านบาท  โดยมีนายเบญจรงค์เป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าวัสดุก่อสร้าง  นายจตุรทิศได้ยักยอกเงินนางพานทองพูมไปใช้เป็นการส่วนตัวจนเป็นเหตุให้ใช้วัสดุก่อสร้างไม่ตรงตามที่ตกลงในสัญญาจ้างก่อสร้าง  เป็นเหตุให้เกิดการแตกร้าวบริเวณสนามบิน  เมื่อก่อสร้างเสร็จประเทศเอกราชไม่ยอมรับมอบงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้นางพานทองพูม  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1       นายอดิศรจะฟ้องเรียกค่าจ้าง  500,000  บาท  จากนางพานทองพูมและนายจตุรทิศได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

 2       ถ้าหากเมื่อหนี้ตามสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างถึงกำหนดชำระ  เฮียตงได้ฟ้องให้นายเบญจรงค์รับผิดตามสัญญาค้ำประกันและนายเบญจรงค์ได้ชำระเงินไป  ดังนี้นายเบญจรงค์จะฟ้องไล่เบี้ยให้นางพานทองพูมและนายจตุรทิศ  คืนเงิน  3,000  ล้านบาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  797  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น  คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน  มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการดังนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

มาตรา  800  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ  ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งจำเป็น  เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

นางพานทองพูมได้มอบอำนาจให้นายจตุรทิศเป็นตัวแทนในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างสนามบินสุวรรณเขตกับรัฐบาลประเทศเอกราช  และให้นายจตุรทิศดูแลการก่อสร้าง  ถือได้ว่านายจตุรทิศเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการของนางพานทองพูมตัวการ  ซึ่งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการมีอำนาจทำการแทนตัวการได้เฉพาะในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การก่อสร้างซึ่งเป็นกิจการที่ได้มอบหมายสำเร็จลุล่วงไปตามาตรา  800  ประกอบมาตรา  797

1       การที่นายจตุรทิศได้ทำสัญญาจ้างนายอดิศรวิศวกรมาเพื่อเป็นผู้ช่วยในการดูแลการก่อสร้าง  โดยตกลงค่าจ้างเป็นเงิน  500,000  บาท  ถือว่าเป็นการกระทำในสิ่งจำเป็นเพื่อให้กิจการที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงไป  ดังนั้นเมื่อนายจตุรทิศตัวแทนได้กระทำการภายในของอำนาจนางพานทองพูมตัวการต้องผูกพันในการจ่ายค่าจ้างให้นายอดิศรตามสัญญาตามมาตรา  820  แม้ว่านายจตุรทิศตัวแทนจะทำการยักยอกเงินนางพานทองพูมไปเป็นเหตุให้ใช้วัสดุก่อสร้างไม่ตรงตามสัญญาจ้างก่อสร้างก็ตาม  ก็เป็นเรื่องความรับผิดที่นายจตุรทิศตัวแทนต้องรับผิดต่อนางพานทองพูมตัวการไม่เกี่ยวกับนายอดิศรบุคคลภายนอก

2       ส่วนกรณีที่นายจตุรทิศตัวแทนได้ทำสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างจากเฮียตง  โดยมีนายเบญจรงค์เป็นผู้ค้ำประกัน  ก็ถือว่าสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นการกระทำในสิ่งที่จำเป็น  เพื่อให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไป  ดังนั้นเมื่อนายจตุรทิศตัวแทนได้กระทำการภายในขอบอำนาจนางพานทองพูมตัวการต้องผูกพันในการจ่ายค่าวัสดุก่อสร้างตามสัญญาซื้อขายต่อเฮียตงบุคคลภายนอก  แต่เมื่อปรากฏว่าเฮียตงได้เรียกร้องให้นายเบญจรงค์รับผิดตามสัญญาค้ำประกันไป  นายเบญจรงค์ก็รับช่วงสิทธิไปเรียกร้องจากนางพานทองพูมได้  ไม่อาจเรียกให้นายจตุรทิศตัวแทนรับผิดได้  เพราะการทำสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างมิใช่เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกขอบอำนาจ  ซึ่งตัวแทนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตามมาตรา  823  ดังนั้นนางพานทองพูมตัวการจึงต้องผูกพันชำระเงิน  3,000  ล้านบาทต่อนายเบญจรงค์ตามมาตรา  820

สรุป

1       นายอดิศรมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างจากนางพานทองพูมตัวการได้

2       นายเบญจรงค์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าวัสดุก่อสร้างจากนางพานทองพูมตัวการได้

 

ข้อ  3  นายแดงต้องการซื้อที่ดิน  1  แปลงแถวมีนบุรีเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย  จึงได้ติดต่อให้นายดำเป็นผู้หาที่ดินที่ตนต้องการ  โดยตกลงว่าจะออกค่าใช้จ่ายให้แก่นายดำ  นายดำขับรถผ่านที่ดินของนายเขียวเห็นป้ายประกาศขายที่ดินของนายเขียวพร้อมหมายเลขโทรศัพท์  นายดำจึงพานายแดงไปดูที่ดินแปลงดังกล่าว  นายแดงพอใจจึงตกลงทำสัญญาซื้อขายและไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน  หลังจากนั้นนายดำจึงไปขอค่าบำเหน็จจากนายเขียวโดยอ้างว่าตนเป็น  ผู้ชี้ช่องและจัดการให้ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจนเสร็จ  ดังนี้อยากทราบว่านายเขียวจะต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายดำหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

นายเขียวต้องการขายที่ดินด้วยตนเองจึงได้ติดป้ายประกาศขายที่ดินพร้อมหมายเลขโทรศัพท์  เมื่อนายดำเห็นป้ายจึงพานายแดงมาซื้อที่ดิน  แม้การซื้อขายจะเกิดจากการชี้ช่องและจัดการของนายดำจนทำให้สัญญาซื้อขายสำเร็จ  แต่นายเขียวก็ไม่ได้ตกลงให้นายดำเป็นนายหน้าที่ดิน  และไม่ได้ตกลงว่าจะจ่ายค่าบำเหน็จให้ตามมาตรา  845  วรรคแรก

ดังนั้น  นายเขียวจึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายดำ

Advertisement