การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายแดงได้มอบให้นายดำไปซื้อที่ดินแทนตน 1 แปลง ที่จังหวัดลพบุรี โดยมิได้ทำเป็นหนังสือ การมอบให้นายดำไปซื้อที่ดินในครั้งนี้ให้ใส่ชื่อนายดำเป็นผู้ซื้อ เพราะนายแดงไม่ต้องการให้ใครทราบว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว หลังจากซื้อที่ดินไปแล้วเป็นเวลา 3 ปี นายแดงต้องการที่ดินคืน จึงได้บอกกล่าวให้นายดำโอนที่ดินคืนให้แก่ตน แต่นายดำไม่ยอมโอนคืนให้ โดยอ้างว่าการมอบให้ตนไปซื้อที่ดินมิได้ทำเป็นหนังสือ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายดำฟังขึ้นหรือไม่ และนายดำจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนให้แก่นายแดงหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็น หนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและ เข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการ ผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอัน เขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้น ได้ไม่
มาตรา 810 เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น
อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น
วินิจฉัย
กิจการใดที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วยตาม ป.พ.พ.มาตรา 798 แต่ถ้าตัวการไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ.มาตรา 806 ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือตามมาตรา 798 เพราะมาตรา 806 เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798
ตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงมอบให้นายดำไปซื้อที่ดินแทนตนโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ และให้ใส่ชื่อนายดำเป็นผู้ซื้อ เพราะไม่ต้องการให้ใครทราบว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ตัวการไม่เปิดเผยชื่อ (ตาม ป.พ.พ.มาตรา 806) เมื่อตัวการไม่เปิดเผยชื่อจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือมอบอำนาจระหว่างตัวการและตัวแทนตาม ป.พ.พ.มาตรา 798
เมื่อนายแดงต้องการที่ดินคืน นายดำจะอ้างว่าการมอบให้ตนไปซื้อที่ดินมิได้ทำเป็นหนังสือ ข้ออ้างของนายดำจึงฟังไม่ขึ้น เพราะมิใช่เป็นการมอบให้ไปซื้อที่ดินในนามของนายแดงตัวการ แต่ให้ไปซื้อที่ดินในนามของนายดำตัวแทน จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งนายดำตัวแทนได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการ ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 810
ดังนั้น ข้ออ้างของนายดำจึงฟังไม่ขึ้นและนายดำต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนให้แก่นายแดง
ข้อ 2. ก. มอบให้ ข. ในการดำเนินกิจการเพื่อประมูลงานตึกเรียนใหม่ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และให้ ข. เป็นผู้ยื่นซองประกวดราคาค่าก่อสร้าง ข. ได้ออกค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะ ในการติดต่อสอบถามราคา ค่าแรง ค่าของ เพื่อนำมาคำนวณราคาก่อสร้าง จนถึงวันประกวดราคา จะต้องมีเงินวางมัดจำซองตามที่ผู้เรียกประกวดราคากำหนด ข. กลับมาหา ก. เพื่อขอเงินวางมัดจำซอง แต่ ก. บอกยังไม่มีให้ ข. ออกไปก่อน ข. ก็บอกว่าไม่มีเช่นกัน แต่ ก. ก็หาจ่ายเงินให้ ข. ไม่ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
1) ข. จะบอกเลิกการเป็นตัวแทน และขอค่าบำเหน็จจนถึงวันบอกเลิกได้หรือไม่
2) ก. จะอ้างว่า ข. บอกเลิกในขณะที่ ก. ไม่สะดวก โดยจะทำให้ ก.ต้องเสียหาย เพราะ ก.จะไม่ได้งานสร้างมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ครบถ้วน)
ธงคำตอบ
มาตรา 815 ถ้าตัวแทนมีประสงค์ไซร้ ตัวการต้องจ่ายเงินทดรอง ให้แก่ตัวแทนตามจำนวนที่จำเป็น เพื่อทำการอันมอบหมายแก่ตัวแทนนั้น
มาตรา 803 ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้มี ข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติ ต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ
มาตรา 827 ตัวการจะถอนตัวแทน และตัวแทนจะบอกเลิกเป็น ตัวแทนเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ
คู่สัญญาฝ่ายซึ่งถอนตัวแทน หรือบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ ไม่สะดวกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง จะต้องรับผิดต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นในความ เสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น เว้นแต่ในกรณีที่เป็นความ จำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้
วินิจฉัย
ตามปัญหา
1) ข. จะบอกเลิกการเป็นตัวแทนเพราะทำงานไม่สะดวกได้ตามมาตรา 827 ว.แรก และขอบำเหน็จตามมาตรา 803 ได้จนถึงวันบอกเลิก
2) ก. จะอ้างว่า ข. บอกเลิกในขณะที่ ก. ไม่สะดวกและทำให้เกิดความเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 827 ว.สอง ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความผิดของ ข. แต่เป็นความผิดของ ก. เอง ที่ว่า ข. ร้องขอให้ ก. ตัวการจ่ายเงินทดรอง ตัวการต้องจ่ายตาม ป.พ.พ.มาตรา 815
ข้อ 3. ก. มีอาชีพเป็นนายหน้า มี ข. มาบอกว่าให้ ก. หาที่ดินทำเลดี ๆ สวย ๆ ให้สัก 6 ไร่ ติดถนน เพราะจะสร้างโรงงาน ก. เห็น ค. ติดป้ายว่า “ที่ดินแปลงนี้ขาย” ติดต่อโทร………. ก. ได้โทรศัพท์คุยกับ ค. ว่าที่ดินมีกี่ไร่ ราคาไร่ละเท่าใด ถ้าเอาทั้งแปลงจะลดได้หรือไม่ หลังจากนั้น 3 วัน ก. ได้นำ ข. มาพบ ค. และทำการซื้อขาย และโอนกันเป็นที่เรียบร้อย หลังจากการซื้อขายเสร็จสิ้น ก. ได้มาขอค่านายหน้าจาก ค. ค. ไม่ให้ โดย ค. อ้างว่าตนมิได้มอบหมายให้ ก. เป็นนายหน้า ก. ฟ้อง ค. เพื่อเรียกค่านายหน้า ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะสั่งให้ ค. จ่ายค่านายหน้าให้ ก. หรือไม่ เพราะอะไร
ธงคำตอบ
มาตรา 845 บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่า บุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้อง บำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไป ก็ต่อเมื่อได้ ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิ ได้ทำกันสำเร็จ
มาตรา 846 ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดย พฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่า ย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ ไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกัน เป็นจำนวนตามธรรมเนียม
วินิจฉัย
ตามปัญหา เป็นเรื่องเป็นนายหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งตามหลักมาตรา 845 นั้น จะต้องมีการตกลงกันระหว่างผู้ขายกับนายหน้า จะต้องมีการมอบหมายให้เป็นนายหน้า และนายหน้าถึงจะเป็นผู้ชี้ช่องได้ และสุดท้าย ผู้ซื้อ ผู้ขาย ก็จะเข้าทำสัญญาต่อกัน จึงจะครบหน้าที่ของการเป็นนายหน้า ดังนั้น เมื่อ ก. ฟ้อง ค. เพื่อเรียกค่านายหน้า ศาลจะสั่งว่า ค. ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าเพราะไม่มีการมอบหมายจาก ค. แต่ ก. ก็ต่อสู้ว่า แม้จะไม่ได้มอบหมายตามมาตรา 845 ก็น่าจะเป็นการมอบหมายโดยปริยายตามมาตรา 846 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเป็นการกระทำโดยปริยายตามมาตรา 846 ก็ต้องมีการมอบหมายเช่นกัน ดังนั้น กรณีนี้ ก. เป็นนายหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียวตามฎีกาที่ 705/2505 ค. ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้า