การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  ต้องการเซ็นชื่อในใบมอบอำนาจให้ตัวแทนไปจำนอที่ดิน  โดยไม่กรอกข้อความลงในใบมอบอำนาจ

ข  ตัวแทนกรอกข้อความเองโดยกรอกข้อความว่า  นำที่ดินไปขายฝาก  ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของ  ก  ตัวการ  ข  นำไปขายฝากให้  ค  และ  ค  รับซื้อฝากไว้โดยสุจริต  เมื่อ  ก  ทราบเรื่อง  ก  จึงฟ้องเพิกถอนสัญญาขายฝากนั้น  และฟ้อง  ข  ว่า  ข  ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม  ศาลพิพากษา ว่า  ข  ผิดตามที่  ก  ฟ้อง  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

1)  การกระทำครั้งนี้ของ  ข  ผูกพัน  ก  ตัวการหรือไม่  ก  จะปฏิเสธความรับผิดต่อ  ค  ผู้ซึ่งรับซื้อฝากไว้โดยสุจริตได้หรือไม่

2)  เมื่อศาลพิพากษาว่า  ข  ผิดปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม  ก  จะฟ้องเพิกถอนสัญญาที่  ข  ทำกับ  ค  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  821  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  รู้แล้วย่อมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา  822  ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน  ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

1)  การที่  ก  ลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจให้ตัวแทนไปจำนองที่ดิน  โดยไม่กรอกข้อความลงในใบอำนาจ  เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง  เมื่อ  ข  นำใบมอบอำนาจไปกรอกข้อความเป็นให้ขายฝาก  ซึ่งเป็นผิดวัตถุประสงค์ของ  ก  เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอก  ตามมาตรา  822  ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทน  คือ  ข  ทำการเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีเหตุอันสมควรจะเชื่อว่า  การนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ค  รับซื้อฝากไว้โดยสุจริต   และเสียค่าตอบแทน  สัญญาขายฝากจึงผูกพันตัวการ  ก  ตัวการจึงต้องผูกพันรับผิดต่อ  ค  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต  จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเอาความประมาทเลินเล่อของตนมาเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดไม่ได้  ตามมาตรา  822  ประกอบมาตรา  821

และในกรณีนี้  ก  เจ้าของที่ดิน  จะฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินหรือใช้สิทธิติดตามเอาที่ดินคืนด้วยเหตุผลว่า  ข  กระทำการเกินขอบอำนาจตัวแทนไม่ได้  ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต  ก  ไม่มีอำนาจฟ้อง  หากให้ฟ้องกันได้  ค  ผู้ซื้อโดยสุจริตจะเสียหายเป็นอย่างมาก  และความเสียหายนี้ก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ  ก  โดยตรง  จะนำหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้ให้เกิดความเสียหายแก่  ค  ไม่ได้

 2)    เมื่อ  ค  รับซื้อฝากโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน  โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  แม้ว่า  ข  ผู้กรอกข้อความจะถูกศาลพิพากษาลงโทษในคดีอาญาฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม  ก  จะนำเหตุดังกล่าวนี้ไปฟ้องเพิกถอนสัญญาขายฝากระหว่าง  ข  กับ  ค  ผู้รับซื้อฝากโดยสุจริตไม่ได้  เพราะ  ค  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำไปโดยสุจริต  ไม่รู้เหตุของการทำนอกของอำนาจของตัวแทนแต่อย่างใด  สิทธิของ  ค  ย่อมไม่เสียไป  หากก  ต้องการได้ที่ดินคืน  ก็ต้องชำระสินไถ่ตามกฎหมาย

สรุป 

1)    การกระทำของ  ข  ผูกพัน  ก  และ  ก  จะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

2)    ก  จะฟ้องเพิกถอนสัญญาขายฝากที่  ข  ทำกับ  ค  ไม่ได้

 

ข้อ  2  ก  มอบ  ข  ให้เป็นตัวแทนไปฟ้องคดีพร้อมทั้งให้อำนาจในการถอนฟ้องและยอมความได้ด้วย  ระหว่างคดีอยู่ระหว่างพิจารณา  ก ได้ตายลง  ข  ไม่ทราบว่า  ก  ตาย  ข  ได้ทำสัญญายอมไปกับจำเลยทายาทของตัวการได้โต้แย้งว่า  ข  ไม่มีอำนาจทำสัญญายอมเพราะ  ก  ตาย  ทำให้สัญญาระงับแล้ว  ดังนี้  ข้ออ้างของทายาทฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใดประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง  เนื่องจากการตายของ  ก  ตัวการ  ทายาทได้บอกกล่าวแก่  ข  ว่า  ก  ได้ตายแล้ว  ข  ยังทำสัญญายอมความให้กับจำเลย  ดังนี้  ข  จะมีอำนาจทำสัญญายอมความหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  826  วรรคสอง  อนึ่งสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือล้มละลาย เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับข้อสัญญาหรือสภาพแห่งกิจการนั้น

มาตรา  830  อันเหตุที่จะทำให้สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปนั้นจะเกิดแต่ตัวการหรือตัวแทนก็ตาม  ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง  จนกว่าจะได้บอกกล่าวเหตุนั้นๆไปยังคู่สัญญาฝ่ายนั้นแล้ว  หรือจนกว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นจะได้ทราบเหตุแล้ว

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ข้ออ้างของทายาทของตัวการที่ว่า  ข  ไม่มีอำนาจทำสัญญายอมความนั้นฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้วหากตัวการหรือตัวแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย  สัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป  ตามมาตรา  826  วรรคสอง  เว้นเสียแต่ว่าจะได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  หรือโดยสภาพของงานนั้น  ความตายไม่มีผลต่อการงานที่จะกระทำต่อไปแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม  แม้สัญญาตัวแทนจะระงับลงแล้วก็ตาม  แต่จะมีผลต่ออีกฝ่ายหนึ่งเมื่อได้มีการบอกกล่าวให้ตัวแทนหรือตัวการทราบแล้วแต่กรณี  หรือจนกว่าตัวแทนหรือตัวการจะทราบเหตุนั้นแล้ว  ไม่เช่นนั้นแล้วการระงับของสัญญาตัวแทนจะยังไม่มีผลต่อคู่สัญญา  ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง  ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์ประการแรกนั้น  ทายาทของตัวการจึงไม่สามารถยกเหตุแห่งความตายของ  ก  ตัวการมาต่อสู้  ข  ตัวแทนซึ่งทำสัญญายอมความไปกับจำเลยว่า  ข  ไม่มีอำนาจทำไม่ได้  เพราะ  ข  ไม่รู้เหตุการณ์ของ  ก  โดยสุจริต  ตามมาตรา  830  ประกอบมาตรา  826

ส่วนกรณีตามประการที่สองนั้น  ทายาทได้บอกกล่าวเหตุแห่งความตายของ  ก  ตัวการ  แก่  ข  ตัวแทนแล้ว  ข  ยังทำสัญญายอมความกับจำเลยต่อไปอีกถือว่า  ข  ไม่มีอำนาจทำได้  เพราะการตายของ  ก  ทำให้สัญญาระงับ  และ  ข  ได้รู้แล้วโดยการบอกกล่าวของทายาท ตามมาตรา  830  ประกอบมาตรา  826

สรุป  ประการแรก  ข้ออ้างของทายาทฟังไม่ขึ้น  ส่วนประการที่สอง  ข  ตัวแทนไม่มีอำนาจทำสัญญายอมความ

 

ข้อ  3  ในกรณีที่มีผู้ขายที่ดิน  และนายหน้า  มิได้ตกลงกันไว้เป็นพิเศษว่าจะจ่ายค่านายหน้ากันเท่าใด  และนายหน้าได้นำคดีมาฟ้องศาลเพื่อเรียกค่านายหน้า  ถ้าท่านเป็นศาล  ท่านจะพิจารณาตัดสินคดีนี้อย่างไร  จะนำหลักกฎหมายหลักใดมาเป็นหลักในการตัดสิน  การจ่ายบำเหน็จนายหน้า  (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมายและหลักฎีกาประกอบในการตอบด้วย)

ธงคำตอบ

มาตรา  846  วรรคสอง  ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

ค่าบำเหน็จ  คือ  ค่าตอบแทนจากการเป็นนายหน้าที่ชี้ช่องให้บุคคลที่แต่งตั้งนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับอีกฝ่ายหนึ่งโดยอ้อม  หรือได้จัดการให้บุคคลที่แต่งตั้งนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับอีกฝ่ายหนึ่งได้สำเร็จโดยตรง  ค่าบำเหน็จนี้อาจเป็นเงิน  ที่ดิน  หรือทรัพย์สินอื่นก็ได้ อาจกำหนดบำเหน็จหรือค่าตอบแทนไว้หลายส่วนก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  จะใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าก็ต่อเมื่อได้มีการตกลงกันของคู่สัญญาแล้ว  จะเป็นการตกลงโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้  สำหรับจำนวนค่านายหน้าหรือบำเหน็จค่านายหน้านั้น  แยกพิจารณาเป็น  2  กรณี  คือ

1       ได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้าโดยชัดแจ้ง

2       ไม่ได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้าไว้

สำหรับกรณีที่ไม่ได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้  ตามมาตรา  846  วรรคสอง  ให้ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมที่เคยมีบุคคลอื่นปฏิบัติกันมา  ดังนั้นค่าบำเหน็จนายหน้าที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นพิเศษจะต้องกำหนดกันไว้โดยชัดแจ้ง  มิฉะนั้นจะต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามบทบัญญัติมาตรา  846  วรรคสอง

ทั้งนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่  3581/2526  วางหลักของจำนวนตามธรรมเนียม  ตามนัยมาตรา  846  วรรคสอง  ว่า  เมื่อไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่ามีการตกลงกำหนดค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้เท่าใดแน่นอน  จึงต้องถือเอาอัตราตามธรรมเนียมการซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ  โดยทั่วไปแล้วหมายถึงร้อยละ  5  ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะใช้หลักกฎหมายมาตรา  846  วรรคสอง  และคำพิพากษาศาลฎีกาที่  3581/2526  ที่ให้ถือเอาอัตราตามธรรมเนียม  คือ  ร้อยละ  5  ของราคาซื้อขายกันแท้จริง  มาเป็นแนวทางพิจารณา

Advertisement