การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
ข้อ 1 1.1 นายไก่มอบนายไข่ให้ไปซื้อที่ดินโดยมอบหมายเป็นหนังสือ นายไข่ไปซื้อที่ดินนายครัวโดยตกลงทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกันเรียบร้อย ต่อมานายครัวโอนที่ดินขายให้นายเงิน โดยนายเงินให้ราคามากกว่าเป็นสองเท่า ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า นายไก่จะฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้หรือไม่
1.2 นายไก่มอบนายไข่ให้ไปซื้อที่ดินโดยฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมาย ในการมอบหมายนั้น นายไข่ไปซื้อที่ดินของนายครัวและนายไข่กับนายครัวทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกันเรียบร้อย ต่อมา นายไก่ผิดสัญญาซื้อขายต่อนายครัวก่อน โดยไม่เป็นไปตามข้อตกลงตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย นายครัวจึงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนายเงินซึ่งให้ราคาเท่ากันกับนายไข่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า นายไก่จะฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้หรือไม่ อย่างไร
1.3 หากการซื้อขายที่ดินรายนี้ นายไก่มอบหมายนายไข่ด้วยปากเปล่า แต่ได้มอบเงินให้ไปวางประจำและการมอบหมายมิได้ทำเป็นหนังสือ และนายไข่กับนายครัวทำหนังสือจะซื้อจะขายกันแล้วต่อมานายครัวได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวไปให้นายเงิน นายไก่จะฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
วินิจฉัย
1.1 ตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 แล้ว การตั้งตัวแทนของนายไก่ถูกต้องตามหลักมาตรา 798 ทุกประการ เพราะการตั้งตัวแทนไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ กฎหมาย (มาตรา 456 วรรคแรก) บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อสัญญาตั้งตัวแทนสมบูรณ์ นายไก่จึงสามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้
1.2 ตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 การตั้งตัวแทนของนายไก่ฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมาย นายไก่ตั้งนายไข่ไม่ได้มอบหมายเป็นหนังสือ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญากันแล้วไม่สามารถฟ้องร้องกันได้ นายไก่ตั้งนายไข่ไม่ได้มอบหมายเป็นหนังสือ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญากันแล้วก็ไม่สามารถฟ้องร้องกันได้ เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ด้วยเหตุนี้นายไก่จึงไม่สามารุฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้
นอกจากกรณีดังกล่าว แม้นายไก่จะไม่ได้ผิดสัญญาก่อนก็ฟ้องไม่ได้อยู่ดี เพราะการตั้งตัวแทนฝ่าฝืนข้อห้ามกฎหมายตามมาตรา 798 ซึ่งกฎหมายบังคับว่าการตั้งตัวแทนต้องทำเป็นหนังสือ
1.3 เป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 ดังนั้นการตั้งตัวแทนแม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือแต่ใช้วิธีวางประจำไว้ก็ถือว่าเป็นการตกลงกันสำเร็จแล้ว (มาตรา 456 วรรคสอง)
สรุป
1.1 นายไก่สามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้
1.2 นายไก่ไม่สามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้
1.3 นายไก่ฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างนายครัวกับนายเงินได้
ข้อ 2 ให้ท่านอธิบายหลักเกณฑ์ตามมาตรา 825 โดยละเอียดครบถ้วน หากตัวแทนที่ได้รับมอบหมายโดยถูกต้องมีบำเหน็จ แต่ได้ปฏิบัติมิชอบตามมาตรา 825 อยากทราบว่าตัวแทนที่ว่านี้จะมีความรับผิดตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
มาตรา 825 เป็นเรื่องตัวแทนเห็นแก่อามิสสินจ้าง ซึ่งมีหลักกฎหมายว่า
“ถ้าตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นทรัพย์สินใดๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นออันบุคคลภายนอกได้ให้เป็นลาภส่วนตัวก็ดีหรือให้คำมั่นว่าจะให้ก็ดี ท่านว่าตัวการหาต้องผูกพันในสัญญาซึ่งตัวแทนของตนได้ทำนั้นไม่ เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย”
ทั้งนี้โดยปกติแล้ว ตัวแทนจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและรักษาผลประโยชน์ของตัวการ แต่ถ้าตัวแทนทำกิจการแทนตัวการโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างจากบุคคลภายนอกที่ให้ประโยชน์แก่ตน ย่อมทำให้ตัวการได้รับความเสียหายได้ เช่น แดงเป็นตัวแทนขายที่ดินให้ดำ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับผลประโยชน์จากผู้ซื้อเพื่อให้แดงขายที่ดินให้แก่ตนในราคาถูกเป็นการตอบแทน กรณีนี้ย่อมทำให้ดำตัวการได้รับความเสียหายได้ เพราะได้เงินค่าขายที่ดินลดลง กฎหมายมาตรานี้จึงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ตัวการได้รับความเสียหาย กล่าวคือ ไม่ให้การนั้นผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม กรณีตามมาตรา 825 จะต้องปรากฏว่า
1 เป็นเรื่องที่ตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกเท่านั้น
2 ต้องปรากฏว่าการทำสัญญาของตัวแทนเป็นผลมาจากการรับสินบนหรืออามิสสินจ้างจากบุคคลภายนอก ถ้าตัวแทนทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว บุคคลภายนอกเห็นความดีของตัวแทนทำให้สัญญาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จึงได้มอบทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ตัวแทน และตัวแทนรับไว้ กรณีนี้ไม่ถือว่าตัวแทนรับอามิสสินจ้างจากบุคคลภายนอก สัญญาที่ทำย่อมผูกพันตัวการ
สำหรับผลทางกฎหมาย ในกรณีที่ตัวแทนกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 825 คือ
1 สัญญาที่ตัวแทนทำนั้น ไม่ผูกพันตัวการ ตัวแทนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาโดยลำพัง แต่ตัวการมีสิทธิที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับเอาสัญญาดังกล่าวนั้นก็ได้
2 ตัวการมีสิทธิบอกเลิกการเป็นตัวแทนได้ ตามมาตรา 827 วรรคแรก
3 ถือว่าตัวแทนทำไม่ชอบด้วยหน้าที่ของการเป็นตัวแทน ตัวการมีสิทธิที่จะไม่ให้บำเหน็จแก่ตัวแทน ตามมาตรา 818 แม้ตัวแทนจะได้รับมอบหมายโดยถูกต้องมีบำเหน็จ ตามมาตรา 803 ก็ตาม
4 ถ้าการกระทำดังกล่าวทำให้ตัวการได้รับความเสียหาย ตัวแทนจะต้องรับผิดต่อตัวการตามมาตรา 812
ข้อ 3 การเป็นนายหน้ามีการมอบหมายได้กี่ประการ หากการมอบหมายให้เป็นนายหน้ามิได้ตกลงกันเป็นพิเศษว่าจะให้บำเหน็จนายหน้าเท่าใด กี่เปอร์เซ็นต์ จะถือเกณฑ์การให้บำเหน็จอย่างไร ให้ท่านตอบพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาประกอบให้ครบถ้วน
ธงคำตอบ
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
มาตรา 846 วรรคแรก ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม
การเป็นนายหน้าเกิดขึ้นได้ 2 ประการ คือ
1 การมอบหมายโดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 85
2 การมอบหมายโดยปริยาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 846
ตามปัญหา หากค่าบำเหน็จนายหน้าตกลงกันไม่ได้ว่าจะต้องให้เท่าใด ก็ให้ตกลงกันเป็นธรรมเนียมตามมาตรา 846 วรรคสอง คือร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3581/2526