การสอบไล่ฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทนโดยมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือให้ไปซื้อที่ดิน  ปรากฏว่านาย  ข  ไปซื้อที่ดินของนาย  ค  นาย  ค  โอนที่ดินให้แก่นาย  ข  แต่นาย  ข  ให้เงินแก่นาย  ค  ไม่ครบ  นาย  ค  จึงฟ้องนาย  ก  โดยอ้างว่าในฐานะที่นาย  ข  เป็นตัวแทนนาย  ก  นาย  ก  จะต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ค้างชำระนั้น  ให้ท่านวินิจฉัยว่านาย  ค  จะฟ้องนาย  ก  ได้หรือไม่อย่างไร  พร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายมาประกอบด้วย

อีกกรณีหนึ่ง  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้ไปซื้อที่ดินแต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือมอบหมายเพียงแต่ให้เงินไปวางประจำไว้  ต่อมาผู้ขายโอนที่ดินให้แก่นาย  ข  นาย  ข  กลับไม่ให้เงินในส่วนที่เหลือที่นาย  ก  มอบให้นาย  ข  เพื่อให้นาย  ข  มอบให้ผู้ขายทั้งหมด  แต่นาย  ข  กลับนำไปใช้ส่วนตัวเสีย  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ในกรณีเช่นนี้  นาย  ค  จะฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดในจำนวนเงินส่วนที่ขาดได้หรือไม่  อย่างไร  พร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

วินิจฉัย

กฎหมายวางหลักไว้ว่า  กิจการใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือ

กรณีแรก  การที่นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นหนังสือ  เพื่อไปซื้อที่ดินก็เข้าหลักเกณฑ์กฎหมายมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้  ดังนั้นการที่นาย  ข ตัวแทนผิดสัญญาต่อนาย  ค  นาย  ค  จึงมีอำนาจฟ้องนาย  ก  ตัวการให้รับผิดได้ตามมาตรา  798  เพราะสัญญาผูกพันตัวการแล้ว

กรณีหลัง  แม้การที่นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้ไปซื้อที่ดินจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือ  แต่นาย  ก  ได้ใช้วิธีให้เงินนาย  ข  เพื่อนำไปวางประจำไว้กับผู้ขาย  ก็ถือว่าเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  ที่ว่าการตัวตัวแทนจะต้องทำเป็นหนังสือ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา  798  จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทน  ดังนั้น  การที่นาย  ข  ตัวแทนผิดสัญญาต่อนาย  ค  นาย  ค  จึงสามารถฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดในส่วนที่ขาดได้  เพราะไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798 

สรุป  นาย  ค  สามารถฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดได้ทั้งสองกรณี

 

ข้อ  2  นาย  ก  มอบให้นาย  ข  เป็นตัวแทนให้ไปซื้อบ้านไม้สัก  1  หลัง  ที่จังหวัดเชียงรายเป็นจำนวนเงิน  2,000,000  บาท  แต่นาย  ก  ได้ให้เงินแก่นาย   ข  ไปเพียง  1,500,000  บาทเท่านั้น  นาย  ก  จึงให้นาย  ข  ทดรองจ่ายไป  500,000  บาท  เมื่อนาย  ข  ซื้อบ้านและรื้อถอนเป็นไม้มากองไว้ที่บ้านของตนและบอกให้นาย  ก  มาขนไม้ไปแล้วให้นำเงินมาคืนให้  500,000  บาทด้วย  นาย  ก  ต้องการแต่ไม้และยังไม่ยอมจ่ายเงิน  500,000  บาท  ให้แก่นาย  ข  นาย  ข  จึงไม่ยอมให้ไม้ไปโดยบอกว่าเมื่อใดนำเงินมาชำระหนี้จึงค่อยนำไม้ไปได้ ดังนี้ให้ท่านตอบคำถามดังต่อไปนี้พร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายประกอบด้วย

(1) อยากทราบว่า  หากท่านเป็นนาย  ข  ท่านจะมีทางเลือกอย่างไรในการที่จะได้รับชำระหนี้จากนาย  ก

(2) หากท่านเลือกการยึดหน่วง  หลักเกณฑ์ในการยึดหน่วงเป็นอย่างไร  ถ้ายึดหน่วงไว้จนหนี้ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วจะฟ้องได้อีกหรือไม่

(3) หากยึดหน่วงไว้จนหนี้ขาดอายุความ  ผู้ยึดหน่วงจะนำทรัพย์สินที่ยึดหน่วงไว้นั้นออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  193/27  ผู้รับจำนอง  ผู้รับจำนำ  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง  หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้  ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง  จำนำ  หรือที่ได้ยึดไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม  แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้

มาตรา  248  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  193/27  การใช้สิทธิยึดหน่วงหาทำให้อายุความแห่งหนี้สะดุดหยุดลงไม่

มาตรา  819  ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินใดๆ  ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน  เพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน

วินิจฉัย

นาย  ก  มอบให้นาย  ข  เป็นตัวแทนไปซื้อบ้านไม้สัก  1  หลัง  เป็นจำนวนเงิน  2,000,000  บาท  แต่นาย  ก  ได้ให้เงินนาย  ข  ไปเพียง  1,500,000  บาทเท่านั้น  นาย  ข  ได้ทดรองจ่ายเงินส่วนที่ขาดไป  500,000  บาท  และได้เอาไม้มากองไว้ที่หน้าบ้านของตน  และเรียกให้นาย  ก  ชำระหนี้  500,000  บาท  แต่นาย  ก  ไม่ยอมชำระหนี้  ดังนี้

(1) ทางเลือกของนาย  ข  ตัวแทนมีอยู่  2  ทาง  คือ

ก.      โดยตัวแทนเลือกเอาการฟ้องเรียกให้ตัวการชำระหนี้

ข.      โดยการยึดหน่วงทรัพย์นั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา  819

(2) หากนาย  ข  เลือกการยึดหน่วง  ย่อมมีผลดังนี้

ก.      การยึดหน่วงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา  248

ข.      แต่หากตัวแทนยึดหน่วงไปไปจนหนี้ขาดอายุความแล้ว  ตัวแทนยังฟ้องได้อยู่ตามมาตรา  193/27  คือ  ฟ้องบังคับเอาจากทรัพย์ที่ยึดหน่วงได้

(3) ผู้ยึดหน่วงไม่มีสิทธินำทรัพย์ที่ยึดหน่วงไว้ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้

 

ข้อ  3  ให้ท่านเปรียบเทียบการที่จะได้ค่านายหน้า  ระหว่างการเป็นนายหน้าธรรมดากับนายหน้าที่มีเงื่อนไขว่า  วิธีการจะได้ค่านายหน้ากำหนดไว้เป็นอย่างไร  พร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

การเป็นนายหน้าธรรมดา  มีหลักเกณฑ์  ดังนี้

1       ตกลง

2       ชี้ช่อง

3       จัดการให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าทำสัญญากัน

โดยเมื่อครบองค์ประกอบ  3  ประการข้างต้นนี้แล้ว  ผู้เป็นนายหน้าก็มีสิทธิที่จะได้ค่านายหน้าแล้วตามมาตรา  845  วรรคแรกตอนต้น  แม้ต่อมาการซื้อขายจะไม่มีการซื้อขายอันเนื่องจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาก็ตาม

แต่หากสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อนแล้วไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้าทันทีหาได้ไม่  จะได้บำเหน็จค่านายหน้าก็ต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว  ตามมาตรา  845  วรรคแรก  ตอนท้าย

ดังนั้นข้อแตกต่างจึงมีว่าหากเป็นนายหน้าที่ไม่มีเงื่อนไข  ก็มีสิทธิได้บำเหน็จค่านายหน้าทันทีที่ผู้ซื้อขายเข้าทำสัญญากันตามมาตรา  845 วรรคแรกตอนต้น  ส่วนนายหน้าที่มีเงื่อนไขยังไม่ได้บำเหน็จค่านายหน้าจนกว่าเงื่อนไขจะสำเร็จก่อนจึงจะได้ค่านายหน้าตามมาตรา  845 วรรคแรกตอนท้าย

Advertisement