การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  เป็นผู้ควบคุมการสร้างบ้านหลังหนึ่ง  และมีสัญญาการมอบหมายเป็นหนังสือ  โดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จ  แต่ไม่มีข้อตกลงว่าจะจ่ายบำเหน็จกันเมื่อใด  ต่อมาเมื่อมีการสร้างบ้านมาได้  3  เดือน  นาย  ข  จึงมาขอเบิกเงินบางส่วนเพื่อนำไปใช้สอย  ปรากฏว่านาย  ก  ไม่ยอมให้และบอกว่าบำเหน็จนี้นาย  ก  จะจ่ายเมื่องานเสร็จสิ้นแล้ว  นาย  ข  ไม่พอใจนาย  ก  จึงบอกเลิกการเป็นตัวแทน  ดังนี้  นาย  ข  จะบอกเลิกการเป็นตัวแทนได้หรือไม่  และข้ออ้างของนาย  ก  ที่บอกว่าจะจ่ายบำเหน็จเมื่องานเสร็จแล้วฟังขึ้นหรือไม่  ให้ท่านวินิจฉัย

ธงคำตอบ

มาตรา  803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ  หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

มาตรา  817  ในกรณีที่มีบำเหน็จตัวแทนถ้าไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่าบำเหน็จนั้นพึงจ่ายให้ต่อเมื่อการเป็นตัวแทนได้สิ้นสุดลงแล้ว

มาตรา  827  ตัวการจะถอนตัวแทน  และตัวแทนจะบอกเลิกเป็นตัวแทนเสียในเวลาใดๆก็ได้  ทุกเมื่อ

วินิจฉัย

นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทน  โดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จแต่ไม่มีข้อตกลงว่าจะจ่ายบำเหน็จกันเมื่อใด  เมื่อสัญญามิได้แบ่งเป็นงวดๆ  และมิได้ตกลงว่าจะให้บำเหน็จเป็นงวดๆก็ต้องจ่ายบำเหน็จเมื่อการเป็นตัวแทนได้สิ้นสุดลง  กล่าวคือ  เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้วนั่นเอง  ดังนี้การที่นาย  ก  อ้างว่าจะจ่ายบำเหน็จเมื่องานเสร็จย่อมกระทำได้ตามมาตรา  817  ประกอบมาตรา  803  (มิใช่กรณีการขอให้จ่ายเงินทดรองตามที่จำเป็น  ตามมาตรา  815  แต่อย่างใด)

ส่วนนาย  ข  บอกเลิกการเป็นตัวแทนได้ตามมาตรา  827  วรรคแรก  ซึ่งมีหลักว่าคู่สัญญาจะบอกเลิกกันเสียเมื่อใดก็ได้  ไม่ว่าตัวแทนจะได้ดำเนินการในกิจการที่มอบหมายให้แก่ตัวการไปบ้างแล้วหรือยัง  ทั้งนี้การบอกเลิกตัวแทนเป็นอีกเรื่องหนึ่งกับความเสียหายในกรณีบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง  ดังนั้นตัวแทนจะบอกเลิกเป็นตัวแทนเสียในเวลาใดๆก็ได้ทุกเมื่อ

สรุป  ข้ออ้างของนาย  ก  ฟังขึ้น  และนาย  ข  จะบอกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนได้

 

ข้อ  2  นาย  ก  มอบหมายนาย  ข  ให้ไปซื้อบ้านแทนตัวการ  และเมื่อนาย  ข  ซื้อบ้านมาแล้วก็ไม่ส่งมอบให้นาย  ก  ตัวการ  แต่นาย  ข กลับเอาบ้านนั้นไปให้เช่าหรือนาย  ข  เข้าอยู่อาศัยเสียเอง  ในกรณีเช่นนี้  นาย  ก  ตัวการจะเอาบ้านนั้นคืนด้วยวิธีการใด  และจะถือว่านาย  ก  ขาดประโยชน์ที่จะได้ใช้บ้านนั้นหรือไม่  ให้ท่านวินิจฉัย

ธงคำตอบ

มาตรา  810  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้นท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง  สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น  ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น

มาตรา  811  ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ  หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจกรรมของตัวการนั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย  ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้

มาตรา  812  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆเพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี  เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี  หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี  ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด

วินิจฉัย

นาย  ก  มอบหมายนาย  ข  ให้ไปซื้อบ้านแทนตัวการ  เมื่อนาย  ข  ซื้อบ้านมาแล้ว  กลับไม่ส่งมอบให้  ก  ตัวการ  แต่เอาบ้านหลังนั้นไปให้เช่าหรือเข้าอยู่เสียเอง  ในมาตรา  811  กำหนดไว้แต่เรื่องว่าตัวแทนนำเงินไปใช้ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันนำเงินไปใช้  แต่ตามปัญหาเป็นเรื่องนำทรัพย์สิน (บ้าน)  ไปใช้  ดังนั้นเมื่อตัวแทนนำทรัพย์สิน (บ้าน)  ไปใช้  ก็ให้นับแต่วันเอาไปใช้เช่นกันตามมาตรา  811  นาย  ก ตัวการ  จึงต้องฟ้องเรียกบ้านคืน  รวมทั้งค่าขาดประโยชน์ที่จะได้ใช้บ้านนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้ตามมาตรา  810  ตลอดจนค่าเสียหายตามมาตรา  812  เพราะนาย  ข  ตัวแทนไม่ทำหน้าที่การเป็นตัวแทน  คือ  ไม่ส่งมอบทรัพย์สินแก่ตัวการตามหน้าที่ของตัวแทน

สรุป  นาย  ก  สามารถฟ้องเรียกบ้านคืน  ตามมาตรา  810  แลละถือว่านาย  ก  ขาดประโยชน์ที่จะได้ใช้บ้านนั้น

 

ข้อ  3  นายกรุงมอบหมายนายขยันให้ขายที่ดิน  โดยจะให้ค่านายหน้า  นายขยันนำนายคลังมาซื้อที่ดินของนายกรุง  โดยนายคลังยังบอกกับนายขยันว่าจะให้ค่านายหน้าด้วย  เมื่อนายกรุงกับนายคลังได้โอนซื้อขายที่ดินกันเสร็จเรียบร้อยปรากฏว่า  นายกรุงกับนายคลังก็ไม่ยอมให้ค่านายหน้าแก่นายขยัน  นายขยันจึงฟ้องนายกรุงกับนายคลังให้จ่ายค่านายหน้าแก่ตนตามที่ได้ตกลงกันไว้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าหากท่านเป็นศาลจะรับสำนวนฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับค่านายหน้าก็ต่อเมื่อ

1       มีการตกลงว่าจะให้ค่านายหน้า

2       มีการชี้ช่อง

3       ต้องมีการทำสัญญากันระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ

นายขยันได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา  845  ครบทุกประการแล้ว  นายขยันจึงควรได้ค่านายหน้า

แต่สัญญาค่านายหน้าผูกพันระหว่างผู้ที่ทำความตกลงกับนายหน้าเท่านั้น  เมื่อผู้ขายเป็นผู้ตกลงกับนายหน้า  แต่ไม่จ่ายค่านายหน้า  นายหน้าย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกเอาจากผู้ขายเท่านั้น  จะฟ้องเอาจากผู้ซื้อในฐานะผิดสัญญานายหน้าด้วยไม่ได้  (ฎ. 584/2499)  ดังนั้น  หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับสำนวนที่นายขยันฟ้องนายกรุงไว้พิจารณา  และจะยกคำฟ้องสำนวนของนายคลังเพราะนายคลังเป็นผู้ซื้อจึงฟ้องไม่ได้ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

สรุป  ข้าพเจ้าจะรับเฉพาะสำนวนที่นายขยันฟ้องนายกรุงไว้พิจารณาเท่านั้น

Advertisement