การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก มอบ ข ให้หาซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรแบ่งขาย ข ซื้อที่ดินของตนเองโดย ก มิได้ยินยอมด้วย เมื่อ ข ได้ที่ดินมาแล้วได้นำที่ดินมาจัดสรรแบ่งขาย ขายดีจนหมดสิ้น ก ได้สมประโยชน์ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข จะได้บำเหน็จหรือไม่อย่างไร ให้ท่านวินิจฉัยโดยยกหลักกฎหมายประกอบมาให้ชัดแจ้ง
ธงคำตอบ
มาตรา 805 ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ จะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง หรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้
มาตรา 818 การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บำเหน็จ
วินิจฉัย
ตามหลักมาตรา 805 ดังกล่าวนั้น จะเห็นได้ว่าตัวแทนจะต้องทำการเพื่อตัวการแต่เพียงผู้เดียวเสมือนหนึ่งตัวการกระทำการนั้นด้วยตนเอง ย่อมไม่นำเอาประโยชน์ผู้อื่นเข้ามาขัดกับประโยชน์ของตน ดังนั้นจึงห้ามมิให้ตัวแทนทำนิติกรรมกับตัวการไม่ว่าจะทำในนามของตนเองหรือทำในฐานะเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอก แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นใน 2 กรณี คือ
1 เมื่อได้รับความยินยอมจากตัวการ หรือ
2 นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้
ดังนั้น หากตัวแทนกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 805 ถือว่าตัวแทนกระทำโดยปราศจากอำนาจมิชอบด้วยการเป็นตัวแทน สัญญาที่ตัวแทนทำกับบุคคลภายนอกจึงไม่ผูกพันตัวการ และเป็นผลทำให้ตัวแทนขาดสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จ แม้จะมีข้อสัญญาหรือธรรมเนียมให้ตัวแทนได้รับบำเหน็จก็ตาม
ก มอบหมายให้ ข ไปซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรแบ่งขาย จะถือว่า ก ยินยอมให้ ข ซื้อที่ดินของตนได้ด้วยนั้นหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏโดยชัดแจ้งว่า ข ซื้อที่ดินของตนโดย ก มิได้ยินยอมด้วย จึงเป็นการที่ ข ตัวแทนเข้าทำนิติกรรมในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย มาตรา 805 ถือว่าเป็นการอันมิชอบด้วยการเป็นตัวแทน ในกรณีนี้ ข จะไม่ได้รับบำเหน็จ ตามมาตรา 818 ที่ว่าการใดที่ตัวแทนทำไม่ถูก จะไม่ได้บำเหน็จ
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ ข ได้นำที่ดินที่ซื้อมาจากการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 805 มาจัดสรรแบ่งขาย และขายจนหมด ถือได้ว่า ก ตัวการได้สมประโยชน์ ในกรณีหลังนี้ ข ทำชอบด้วยการเป็นตัวแทน จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จ ตามมาตรา 818
สรุป
กรณีซื้อที่ดินโดยตัวการไม่ยินยอม ข ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตัวแทน
กรณีที่ ข นำที่ดินมาจัดสรรแบ่งขายจนสมประโยชน์ตัวการ ข มีสิทธิได้รับบำเหน็จตัวแทน
ข้อ 2 นายหนึ่งเปิดร้านซื้อขายรถยนต์มือสองอยู่ที่ถนนรัชดา นายสองมีรถยนต์ยี่ห้อ TOYOTA อยู่ 1 คัน ซึ่งใช้มาแล้วเป็นเวลา 10 ปี นายสองต้องการขายรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อซื้อรถยนต์คันใหม่ จึงได้นำรถยนต์ของตนไปฝากนายหนึ่งขายโดยกำหนดให้ขายในราคา 200,000 บาท โดยตกลงกันว่าถ้าขายได้ตามราคาที่ตกลงกันนายสองจะให้ค่าตอบแทนแก่นายหนึ่งเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท และตกลงให้นายหนึ่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อ Honda ซึ่งใช้งานมาแล้วประมาณ 3 ปี ให้ตน 1 คันในราคา 450,000 บาท และจะให้ค่าตอบแทนแก่นายหนึ่งจำนวน 20,000 บาทเช่นกัน รวมเงินค่าตอบแทนทั้งซื้อและขายเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท ปรากฏว่านายหนึ่งได้ขายรถยนต์ของนายสองได้ในราคา 220,000 บาท และได้ซื้อรถยนต์คันใหม่ให้แก่สองในราคา 400,000 เงินที่ขายรถยนต์คันดังกล่าวได้สูงกว่าที่นายสองกำหนด 20,000 บาท และเงินที่ซื้อต่ำกว่าที่นายสองกำหนดจำนวน 50,000 บาท นายหนึ่งได้ถือเอาเป็นประโยชน์ของตนทั้งหมด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของนายหนึ่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 840 ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด หรือทำการซื้อได้ราคาต่ำกว่าที่ตัวการกำหนดไซร้ ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่ ต้องคิดให้แก่ตัวการ
วินิจฉัย
ตัวแทนค้าต่างมีหน้าที่ต้องงคืนเงินหรือคืนประโยชน์ให้แก่ตัวการในกรณีดังต่อไปนี้
1 ได้ทำการขายทรัพย์สินได้ในราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด
2 ได้ทำการซื้อทรัพย์สินได้ในราคาต่ำกว่าที่ตัวการกำหนดไว้
ดังนั้นตัวแทนจึงไม่อาจยึดถือเอาเงินในส่วนดังกล่าวไว้เป็นประโยชน์ต่อตนได้
นายสองได้ให้นายหนึ่งขายรถยนต์ของตนในราคา 200,000 บาท แต่นายหนึ่งขายรถยนต์คันนั้นไปในราคา 220,000 บาท นายหนึ่งจึงขายได้สูงกว่าราคาที่นายสองกำหนดไว้เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท และนายสองได้ให้นายหนึ่งซื้อรถยนต์คันใหม่ให้แก่ตน 1 คัน ในราคา 450,000 บาท แต่นายหนึ่งซื้อรถยนต์คันใหม่ได้ในราคา 400,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่นายสองกำหนดไว้เป็นจำนวน 50,000 บาท เงินที่เหลือจากการขายได้สูงกว่าและเงินที่เหลือจากการซื้อต่ำกว่ารวมเป็นเงิน 70,000 บาท นายหนึ่งไม่มีสิทธิที่จะถือเอาเป็นประโยชน์แก่ตน ต้องคิดคนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นายสองตัวการทั้งหมดตามมาตรา 840 เมื่อปรากฏว่านายหนึ่งได้ถือเอาเงินจำนวน 70,000 บาท เป็นของตนทั้งหมด ดังนั้น การกระทำของนายหนึ่งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป การกระทำของนายหนึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 840
ข้อ 3 ก มอบ ข ให้ขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จ ข นำเสนอขาย ค ค ตกลงซื้อเป็นเงิน 1,000,000 ล้านบาท ก โอนที่ดินให้ ค เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น ก ได้จ่ายบำเหน็จนายหน้าให้ ข ร้อยละ 2 ของยอดขายจริง แต่ ข ปฏิเสธโดยอ้างว่า ก ให้บำเหน็จนายหน้าน้อยเกินไป ซึ่ง ก น่าจะต้องจ่ายร้อยละ 5 ของยอดขาย สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ ข จึงฟ้องเรียกบำเหน็จร้อยละ 5 จาก ก ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะสั่งให้ ก จ่ายบำเหน็จนายหน้าให้กับ ข ร้อยละเท่าใดจึงจะถูกต้อง (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมายและหลักฎีกาประกอบด้วย)
ธงคำตอบ
มาตรา 846 วรรคสอง ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม
วินิจฉัย
กรณีที่ได้มีการตกลงกันว่าจะให้บำเหน็จนายหน้า แต่มิได้กำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้ ตามมาตรา 846 วรรคสอง ให้ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมที่เคยมีบุคคลอื่นปฏิบัติกันมา ดังนั้นค่าบำเหน็จนายหน้าที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นพิเศษจะต้องกำหนดกันไว้โดยชัดแจ้ง มิฉะนั้นจะต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม ตามบทบัญญัติมาตรา 846 วรรคสอง
ทั้งนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3581/2526 วางหลักของจำนวนตามธรรมเนียม ตามนัยมาตรา 846 วรรคสอง ว่า เมื่อไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่ามีการตกลงกำหนดค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้เท่าใดแน่นอน จึงต้องถือเอาอัตราตามธรรมเนียมการซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ โดยทั่วไปแล้วหมายถึงร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง
ก มอบหมายให้ ข เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการกำหนดจำนวนค่าบำเหน็จนายหน้ากันไว้ว่าจะต้องจ่ายเท่าใด จึงต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามมาตรา 846 วรรคสอง ประกอบแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น คือ ต้องจ่ายบำเหน็จนายหน้าให้กับ ข ร้อยละ 5 ของราคาที่ขายกันจริง
การที่ ข มาฟ้องเรียกบำเหน็จร้อยละ 5 จาก ก นั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะสั่งให้ ก จ่ายบำเหน็จนายหน้าให้กับ ข ร้อยละ 5 ของราคาที่ขายกันจริงตามที่ ข ฟ้องจึงจะถูกต้อง
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะสั่งให้ ก จ่ายบำเหน็จนายหน้าร้อยละ 5 ของราคาที่ขายกันจริง