การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ดำตั้งแดงเป็นตัวแทนไปกู้เงิน โดยตั้งกันปากเปล่า แดงไปกู้เงินขาว 10,000 บาท โดยระบุในสัญญากู้ว่า “กู้แทนดำ” ต่อมาดำไม่ชำระหนี้ และขาวเห็นว่าการที่แดงอ้างว่ากู้แทนดำ แต่การมอบอำนาจนั้น มิได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงฟ้องแดงให้รับผิด แดงจึงปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนของดำ ให้ท่านวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวข้ออ้างของแดงฟังขึ้นหรือไม่อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
มาตรา 820 ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน
มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ
วินิจฉัย
เป็นเรื่องการตั้งตัวแทนไปกู้ยืมเงิน ซึ่งการกู้ยืมเงินนั้นเป็นนิติกรรมที่กฎหมายให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป (มาตรา 653 วรรคแรก) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าดำตั้งแดงไปกู้เงินขาว 10,000 บาท ด้วยปากเปล่า ถือว่าการตั้งตัวแทนมิได้ทำตามบทบัญญัติของกฎหมายและฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 798 วรรคสอง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า แดงตัวแทนจะต้องรับผิดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อการตั้งตัวแทนฝ่าฝืนข้อห้าม ตามมาตรา 798 วรรคสอง กล่าวคือ มิได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงเท่ากับว่าไม่มีการตั้งตัวแทนเกิดขึ้น การที่แดงกู้เงินขาว แม้จะระบุในสัญญากู้ว่า “กู้แทนดำ” จึงต้องถือว่าแดงกระทำไปโดยปราศจากอำนาจ ผลทางกฎหมายคือ
1 ตัวการไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อขาวบุคคลภายนอกในการกู้ยืมเงินอันแดงได้ทำไปโดยปราศจากอำนาจ ตามมาตรา 820 แม้สัญญากู้จะระบุว่า “กู้แทนดำ” ก็ตาม
2 เมื่อแดงทำไปโดยปราศจากอำนาจ และมาปรากฏว่าดำให้สัตยาบัน แดงจึงต้องรับผิดต่อขาวบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง ตามมาตรา 823 วรรคสอง
สรุป ข้ออ้างของแดงฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2 นายหนึ่งเป็นเจ้าของร้านรับซื้อขายแลกเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้ว นายสองได้นำคอมพิวเตอร์ของตนมาฝากนายหนึ่งขาย 1 เครื่อง ราคา 30,000 บาท โดนนายหนึ่งคิดค่าดำเนินการ 2,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2550 นายเอกได้ทำสัญญาซื้อเชื่อคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าวไปโดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่ 30 กันยายน 2550 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเอกไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายหนึ่ง นายสองจึงมาทวงเงินค่าขายคอมพิวเตอร์จากนายหนึ่ง นายหนึ่งได้ขอผัดผ่อนไปก่อนโดยอ้างว่ายังเก็บเงินจากนายเอกไม่ได้และได้ทำสัญญากับนายสองว่า ถ้านายเอกไม่ชำระเงิน 30,000 บาท ตนจะรับผิดชอบเอง หลังจากนั้นนายสองก็มาทวงเงินจากนายหนึ่งอีก แต่นายหนึ่งก็ไม่ยอมชำระเงินให้แก่นายสองโดยอ้างว่านายเอกยังไม่นำเงินมาชำระให้แก่ตนและตนเป็นเพียงตัวแทนค้าจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายสองตัวการ ดังนี้ อยากทราบว่า ข้ออ้างของนายหนึ่งฟังขึ้นหรือไม่ และนายหนึ่งจะต้องชำระเงินค่าคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสองหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 838 วรรคแรก ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการเพื่อชำระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดในสัญญา หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทนประพฤติต่อกันหรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น
วินิจฉัย
เมื่อหนี้ถึงกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2550 นายเอกไม่นำเงินมาชำระตามหลักแล้วนายหนึ่งตัวแทนค้าต่างไม่ต้องรับผิดต่อนายสองตัวการ ตามมาตรา 838 ตอนแรก แต่เนื่องจากนายหนึ่งได้ทำสัญญากับนายสองว่า ถ้านายเอกไม่ชำระเงิน 30,000 บาท ตนจะรับผิดชอบเอง ข้อกำหนดในสัญญาของนายหนึ่งนี้ จึงผูกพันนายหนึ่งให้ต้องรับผิดต่อนายสอง เมื่อนายสองมาทวงเงินค่าขายคอมพิวเตอร์จากนายหนึ่ง นายหนึ่งจะอ้างว่านายเอกไม่ชำระเงินให้แก่ตนไม่ได้ และจะอ้างว่าตนเป็นเพียงตัวแทนค้าต่างก็ไม่ได้เช่นกัน นายหนึ่งจึงต้องชำระเงินค่าคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสองเพราะข้อกำหนดในสัญญาของนายหนึ่งเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 838 วรรคแรกตอนท้าย
สรุป ข้ออ้างของนายหนึ่งจึงฟังไม่ขึ้น และนายหนึ่งจะต้องชำระเงินค่าคอมพิวเตอร์ให้แก่นายสอง
ข้อ 3 นพดลต้องการขายที่ดิน 50-0-0 ไร่ ราคาไร่ละสี่ล้านบาทโดยให้ค่านายหน้าร้อยละสาม สอนชัยจะหาผู้มาซื้อ การเจรจาเกี่ยวกับการซื้อขายหลายครั้ง จะใช้บ้านไพโรจน์เพื่อนของนภดลเป็นสถานที่นัดพบเจรจา นพดลอยู่ร่วมเจรจาบางครั้ง แต่ไพโรจน์ร่วมเจรจาด้วยทุกครั้งและจัดการแทนนภดลจนมีการทำสัญญาจะซื้อขายในที่สุด เมื่อสอนชัยมาขอค่านายหน้าหกล้านบาท นพดลไม่ยอมให้อ้างว่าไม่เคยมอบหมายให้ไพโรจน์เป็นตัวแทนในการเจรจาทำสัญญา เพราะไม่มีการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือข้ออ้างฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดชูบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วย่อมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ไพโรจน์เป็นตัวแทนของนพดลในการเจรจาเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน หรือไม่ เห็นว่า การที่สอนชัยติดต่อกับผู้ซื้อเพื่อมาซื้อที่ดินของนพดล ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เจรจาติดต่อกันนั้นได้ใช้บ้านไพโรจน์เพื่อนของนภดลเป็นสถานที่นัดพบเสมอ ทั้งไพโรจน์ก็ร่วมเจรจาด้วยทุกครั้ง แม้บางครั้งนพดลไม่มา แต่ไพโรจน์ก็เป็นผู้จัดการแทนนภดลจนมีการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินในที่สุด ย่อมเห็นเป็นปริยายว่า นพดลได้เชิดไพโรจน์เป็นตัวแทนในการเจรจาตกลงกับสอนชัยแทนนพดล ทำให้ผู้ซื้อยินยอมทำสัญญาซื้อขาย ดังนั้นพฤติการณ์ย่อมแสดงว่าไพโรจน์เป็นตัวแทนเชิด ตามมาตรา 821 ซึ่งการเป็นตัวแทนเชิดนั้นไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 การตั้งตัวแทนเชิดจึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด ข้ออ้างของนพดลที่ว่าไม่เคยมอบหมายให้ไพโรจน์เป็นตัวแทนในการเจรจาทำสัญญา เพราะไม่มีการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า สอนชัยมีสิทธิได้รับค่านายหน้าหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสอนชัยเป็นคนกลางในการจัดให้ไพโรจน์ตัวแทนผู้ขายและผู้ซื้อได้พบปะ สอนชัยมีความมุ่งหมายที่จะได้ค่านายหน้าเป็นสำคัญ หากไม่ได้ค่านายหน้าตอบแทนเป็นผลประโยชน์แล้ว การดำเนินการใดๆที่ผ่านมา ตลอดทั้งการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินอาจจะไม่เกิดขึ้น เมื่อนายหน้าได้มีการชี้ช่องจัดการให้คู่สัญญาทำสัญญากันสำเร็จ แม้สอนชัยจะตกลงค่านายหน้าเฉพาะแต่นภดลเท่านั้น แต่เมื่อไพโรจน์เป็นตัวแทนของนพดล ข้อตกลงเรื่องค่านายหน้าจึงมีผลถึงไพโรจน์ด้วย ดังนั้นสอนชัยผู้เป็นนายหน้าจึงมีสิทธิได้รับค่านายหน้าในอัตราร้อยละ 3 ตามมาตรา 845 วรรคแรก นพดลจะปฏิเสธไม่ได้
สรุป ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น นพดลต้องจ่ายค่านายหน้าแก่สอนชัย