การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. หนึ่งมอบสองให้มีอํานาจทําสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์โดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือ ต่อมามี ค. มาขอเช่าซื้อรถยนต์โดยสองลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อไว้ อีกทั้ง ค. ได้วางเงินดาวน์ไว้ 200,000 บาท สองรับไว้ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1) สองมีอํานาจทําสัญญาให้เช่าซื้อหรือไม่ เพราะเหตุใด และสัญญาที่สองทําไปมีผลเป็นเช่นไร

(2) เงินดาวน์ที่สองรับไว้ 200,000 บาท สองต้องโอนคืนตัวการหรือไม่ เพราะเหตุใด (3) และถ้าสองไม่คืน หนึ่งจะฟ้องให้สองคืนได้หรือไม่ และสองต่อสู้ว่า หนึ่งไม่มีอํานาจฟ้องเพราะหนึ่งทั้งสองเป็นตัวแทนมิได้ทําเป็นหนังสือ ข้อต่อสู้ของสองฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 152 “การใดมิได้ทําให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ” มาตรา 572 วรรคสอง “สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทําเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ”มาตรา 798 วรรคหนึ่ง “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้ง ตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การทําสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นกิจการที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทําเป็นหนังสือ มิฉะนั้น จะเป็นโมฆะ (มาตรา 572 วรรคสอง) ดังนั้นการตั้งตัวแทนเพื่อไปทําสัญญาเช่าซื้อ จึงต้องทําเป็นหนังสือด้วย (มาตรา 798 วรรคหนึ่ง) เมื่อการตั้งตัวแทนของหนึ่งที่ให้สองเป็นตัวแทนไปทําสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์มิได้ทําเป็น หนังสือ จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ดังนั้น สัญญาที่หนึ่งตั้งสองให้เป็นตัวแทนจึงตกเป็น โมฆะตามมาตรา 152 สองจึงไม่มีอํานาจทําสัญญาให้เช่าซื้อ

เมื่อสองไม่มีอํานาจทําสัญญาให้เช่าซื้อ การที่สองทําสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์กับ ค. จึง เป็นการทําสัญญาให้เช่าซื้อโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 572 วรรคสอง ประกอบมาตรา 798 วรรคหนึ่ง และมีผลทําให้สัญญาเช่าซื้อที่สองทํากับ ค. เป็นโมฆะ ตามมาตรา 152 ที่มีหลักว่า การใดที่มิได้ทําให้ถูกต้อง ตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ

(2) เงินดาวน์ที่สองรับไว้จาก ค. ผู้เช่าซื้อจํานวน 200,000 บาท นั้น สองจะต้องคืนให้แก่ หนึ่งตัวการตามมาตรา 810 ที่มีหลักว่า เงิน ทรัพย์สิน และสิทธิใด ๆ ที่ตัวแทนขวนขวายได้มาจากการเป็นตัวแทน จะต้องโอนคืนตัวการจนสิ้น แม้การเป็นตัวแทนของสองจะได้มาโดยมิชอบก็ตาม

(3) ถ้าสองตัวแทนไม่โอนเงินดาวน์คืนให้หนึ่งตัวการ หนึ่งย่อมสามารถฟ้องสองให้โอนคืน เงินดาวน์นั้นได้ โดยสองจะต่อสู้ว่าหนึ่งไม่มีอํานาจฟ้อง เพราะหนึ่งทั้งสองเป็นตัวแทนโดยมิได้ทําเป็นหนังสือ ตามมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องระหว่างตัวการกับตัวแทนซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798 ดังนั้น ข้อต่อสู้ของสองดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

(1) สองไม่มีอํานาจทําสัญญาให้เช่าซื้อ และสัญญาเช่าซื้อที่สองทําไปมีผลเป็นโมฆะ(2) เงินดาวน์ที่สองรับไว้ 200,000 บาท สองต้องโอนให้หนึ่งตัวการ

(3) ถ้าสองไม่คืน หนึ่งสามารถฟ้องให้สองคืนได้ ข้อต่อสู้ของสองที่ว่าหนึ่งไม่มีอํานาจฟ้องนั้นฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. นายหนึ่งเปิดร้ายขายหนังสือทุกชนิดอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง นายสองเป็นเจ้าของสํานักพิมพ์หนังสือหลายประเภทแต่ไม่มีร้านขายของตนเอง จึงได้ตกลงให้นายหนึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างขายหนังสือ ของตนโดยตกลงกันว่าถ้าขายได้จะจ่ายค่าบําเหน็จร้อยละ 25 ของหนังสือที่ขายได้ นายหนึ่งได้ขาย หนังสือของนายสองให้แก่นายสามซึ่งเป็นลูกค้าประจําโดยการขายเชื่อกันมาตลอด แต่ไม่เคยมี ปัญหาใด ๆ ในนามของตนเองเป็นเงินจํานวน 100,000 บาท ปรากฏว่าเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายสามมีปัญหาขัดข้องทางการเงินไม่สามารถนําเงินมาชําระหนี้ได้ นายสองจึงทวงให้นายหนึ่ง ชําระเงินค่าขายหนังสือแทนจํานวน 75,000 บาท ส่วนอีก 25,000 บาท เป็นค่าบําเหน็จให้แก่นายหนึ่ง แต่นายหนึ่งไม่ยอมชําระโดยอ้างว่านายสามยังไม่นําเงินมาชําระให้แก่ตนจึงไม่ต้องรับผิดในเงิน จํานวนดังกล่าว

ดังนี้ ข้ออ้างของนายหนึ่งฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด อีกกรณีหนึ่งจากอุทาหรณ์ข้างต้น ถ้านายหนึ่งสัญญากับนายสองว่าถ้าตนขายเชื่อแล้ว ผู้ซื้อเชื่อไม่ ชําระหนี้ นายหนึ่งจะรับผิดชดใช้เงินให้แก่นายสองเอง ดังนี้นายหนึ่งชอบที่จะได้รับสิทธิพิเศษอย่างไร หรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 838 “ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อ ตัวการเพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกําหนดในสัญญา หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทน ประพฤติต่อกัน หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น

อนึ่ง ตัวแทนค้าต่างคนใดเข้ารับประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยนัยดังกล่าวมาในวรรคก่อน นั้นไซร้ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นชื่อว่าเป็นตัวแทนฐานประกัน ชอบที่จะได้รับบําเหน็จพิเศษ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างขายหนังสือของนายสองให้แก่นายสาม โดยการขายเชื่อในนามของตนเองเป็นเงินจํานวน 100,000 บาท เมื่อหนี้ถึงกําหนดนายสามไม่นําเงินมาชําระ นายสองจึงมาทวงให้นายหนึ่งชําระค่าหนังสือแทนจํานวน 75,000 บาท แต่นายหนึ่งไม่ยอมชําระโดยอ้างว่านายสาม

ยังไม่นําเงินมาชําระให้แก่ตนจึงไม่ต้องรับผิดในเงินจํานวนดังกล่าวนั้น ข้ออ้างของนายหนึ่งฟังขึ้น ทั้งนี้เพราะการที่นายหนึ่งให้นายสามซื้อเชื่อไปก็เนื่องจากนายสามเป็นลูกค้าประจําโดยการขายเชื่อกันมาตลอดและไม่เคยมี ปัญหาใด ๆ แต่ครั้งนี้เกิดจากมีปัญหาขัดข้องเรื่องเงินจึงไม่สามารถนําเงินมาชําระหนี้ได้ มิได้เกิดจากความ ประมาทเลินเล่อของนายหนึ่ง การที่นายสามซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ซื้อเชื่อแล้วไม่ชําระหนี้ให้แก่นายหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างนั้น นายหนึ่งหาต้องรับผิดต่อนายสองตัวการเพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ตามมาตรา 838 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายหนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดชําระหนี้แทนนายสามให้แก่นายสองตัวการ

ส่วนอีกกรณีหนึ่งการที่นายหนึ่งตัวแทนค้าต่างได้สัญญากับนายสองว่า ถ้าตนขายเชื่อแล้ว ผู้ซื้อเชื่อไม่ชําระหนี้ นายหนึ่งจะรับผิดชดใช้เงินให้แก่นายสองเองนั้น การทําสัญญาดังกล่าวเช่นนี้ ถือว่านายหนึ่ง ตัวแทนค้าต่างได้ชื่อว่า “ตัวแทนฐานประกัน” คือตัวแทนที่ให้ความมั่นใจแก่ตัวการว่า ถ้าบุคคลภายนอก ไม่ชําระหนี้ตัวแทนค้าต่างจะชําระหนี้เอง การเป็นตัวแทนฐานประกันนี้ นอกจากจะได้รับบําเหน็จแล้ว ยังจะได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นอีก คือชอบที่จะได้รับบําเหน็จพิเศษตามมาตรา 838 วรรคสอง ดังนั้นในกรณีนี้ นายหนึ่งจึงมีสิทธิที่จะได้รับบําเหน็จพิเศษนอกเหนือจากบําเหน็จธรรมดา

สรุป

กรณีแรกข้ออ้างของนายหนึ่งที่ว่า นายสามยังไม่นําเงินมาชําระให้แก่ตน จึงไม่ต้องรับผิด ในเงินจํานวนดังกล่าวนั้น ฟังขึ้น

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง นายหนึ่งชอบที่จะได้รับสิทธิพิเศษคือจะได้รับบําเหน็จพิเศษ นอกเหนือจากบําเหน็จธรรมดา

 

ข้อ 3. หนึ่งต้องการขายที่ดินของตน ที่ดินอยู่ในย่านธุรกิจจํานวนเนื้อที่ 10 ไร่ ในราคาไร่ละยี่สิบห้าล้านบาท สองทราบว่าหนึ่งต้องการขายที่ดิน สองนําสามนักธุรกิจมาทําสัญญาจะซื้อขายกับหนึ่ง เมื่อหนึ่งไม่จ่าย บําเหน็จค่านายหน้า สองนําคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องบังคับเรียกค่านายหน้าจากหนึ่ง

ถ้าท่านเป็นศาลจะ วินิจฉัยคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้ เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้น ได้ทํากันสําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็น เงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

มาตรา 846 วรรคหนึ่ง “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่ คาดหมายได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบําเหน็จนายหน้า”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบําเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ ตกลงกันไว้กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้ มอบหมายแก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทําให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกัน หรือไม่มีการมอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จําต้องให้ค่าบําเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับ บําเหน็จหรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 845 หรือมีสัญญา ต่อกันโดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบําเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่ง มิได้มีสัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์

แม้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างหนึ่งกับสามจะได้เกิดขึ้นจากการชี้ช่อง และจัดการของสองก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนึ่งไม่เคยตกลงให้สองเป็นนายหน้าขายที่ดินของตนตาม มาตรา 845 วรรคหนึ่ง อีกทั้งจะถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยายตามมาตรา 846 วรรคหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะการตกลง ตามมาตรานี้ หมายถึง กรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้ากันแล้ว แต่ไม่ได้ตกลงค่าบําเหน็จนายหน้าไว้ แต่กรณีนี้หนึ่งยังไม่ได้มอบหมายให้สองเป็นนายหน้าแต่อย่างใด ดังนั้นสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า จากหนึ่ง และถ้าสองฟ้องให้ศาลสั่งให้หนึ่งจ่ายค่านายหน้า ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะพิจารณาพิพากษาว่าหนึ่ง ไม่จําต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่สองแต่อย่างใด (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 705/2505)

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะพิจารณาพิพากษาว่าหนึ่งไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่สอง

Advertisement