การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายผักกาดกู้เงินนายถั่วงอก 500,000 บาท มีการทําหลักฐานเป็นหนังสือตกลงว่านายผักกาดจะโอนเงินเข้าบัญชีนายถั่วงอกเพื่อชําระหนี้ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 เพื่อประกันการปฏิบัติ ตามสัญญา นางสาวขนมจีนตกลงลงลายมือชื่อเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาหนี้ถึงกําหนดชําระ นายผักกาดไม่ชําระหนี้ นายถั่วงอกจึงส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังนายผักกาดในวันที่ 30 มีนาคม 2561 โดยไม่ทราบว่านางสาวขนมจีนได้โอนเงิน 500,000 บาท เข้าบัญชีของตนตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2561 แล้ว ดังนี้ การชําระหนี้ของนางสาวขนมจีนในฐานะผู้ค้ำประกันชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ จงอธิบาย พร้อยยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 686 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าว ไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ําประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชําระหนี้ เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ

เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชําระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันอาจชําระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชําระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชําระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้ ก่อนการผิดนัดชําระหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นําความในมาตรา 701 วรรคสอง มาใช้ บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายผักกาดกู้เงินนายถั่วงอก 500,000 บาท มีการทําหลักฐาน เป็นหนังสือตกลงว่านายผักกาดจะโอนเงินเข้าบัญชีนายถั่วงอกเพื่อชําระหนี้ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 โดยมี นางสาวขนมจีนตกลงลงลายมือชื่อเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน และต่อมาหนี้ถึงกําหนดชําระ นายผักกาดไม่ชําระหนี้ นางสาวขนมจีนผู้ค้ำประกันจึงได้โอนเงิน 500,000 บาท เข้าบัญชีของนายถั่วงอกในวันที่ 16 มีนาคม 2561 นั้น ย่อมสามารถทําได้ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่งที่ได้กําหนดให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะชําระหนี้ได้ทันทีเมื่อหนี้นั้น ถึงกําหนดชําระ และการโอนเงินเข้าบัญชีของนายถั่วงอกดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นวิธีการชําระหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการใช้สิทธิชําระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชําระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชําระหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสาม

สรุป

การชําระหนี้ของนางสาวขนมจีนในฐานะผู้ค้ำประกันชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. แดงเป็นหนี้ดํา 1 ล้านบาท แดงได้นําที่ดินของตน 1 แปลง ตราไว้กับดําเป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบที่ดินให้แก่ดํา ต่อมาแดงได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่เหลืองซึ่งซื้อไป ในราคา 5 แสนบาท โดยดําไม่ได้ยินยอม หลังจากนั้นหนี้รายนี้ขาดอายุความ และแดงได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่ยังคงต้องการบังคับ ชําระหนี้ให้ได้ จึงมาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คําปรึกษาว่าอย่างไรในกรณีต่อไปนี้

(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากที่ดินแปลงนี้ของเหลืองได้หรือไม่ โดยวิธีใด

(ข) ในขณะนั้นหากขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้จะได้ 8 แสนบาท ดําจะบังคับชําระหนี้ให้ได้ครบจํานวนจากแดงและเหลืองได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตาม สิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/27 “ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานํา ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานอง จํานํา หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิ เรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชําระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลัง เกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง

ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้อง พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่” อาการ การงาน มาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง “ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้ เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาที่บังคับจํานอง หรือเอาทรัพย์จํานองหลุด”

มาตรา 744 “อันจํานองย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ”

มาตรา 745 “ผู้รับจํานองจะบังคับจํานองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชําระในการจํานองเกินห้าปีไม่ได้”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงได้นําที่ดินของตน 1 แปลง ตราไว้กับดําเป็นประกันการ ชําระหนี้นั้นย่อมถือว่าเป็นการจํานองตามมาตรา 702 วรรคหนึ่ง และแม้ต่อมาแดงจะได้จดทะเบียนโอนขาย ที่ดินแปลงนี้ให้แก่เหลือง สัญญาจํานองระหว่างแดงและดํายังคงมีผลสมบูรณ์และตกติดไปกับทรัพย์สินที่จํานอง แม้ว่าทรัพย์สินที่จํานองนั้นกรรมสิทธิ์จะได้โอนไปเป็นของเหลืองแล้วก็ตาม (มาตรา 702 วรรคสอง)

การที่หนี้รายนี้ขาดอายุความ โดยหลักแล้วเมื่อดําเรียกให้แดงชําระหนี้ แดงลูกหนี้ย่อมมีสิทธิ ยกอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธการชําระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 ประกอบมาตรา 193/10 แต่อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ซึ่งจํานองเป็นประกันอยู่นั้นจะขาดอายุความก็ไม่ทําให้การจํานองระงับสิ้นไปตามมาตรา 744 (1) ดังนั้น ดําผู้รับจํานองจึงยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้เอาจากทรัพย์สินที่จํานองคือที่ดินที่แดงจํานองไว้ได้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ และที่ดินนั้นจะโอนไปเป็นของเหลืองแล้วก็ตาม (ตามมาตรา 193/27 และมาตรา 745 ประกอบมาตรา 702 วรรคสอง) โดยวิธีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อบังคับจํานองหรือเรียกเอา ทรัพย์จํานองหลุด (ตามมาตรา 728 และ 729) หรือดําเนินการให้มีการขายทอดตลาดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ จํานองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาลตามมาตรา 729/1 ก็ได้

(ข) หากมีการนําที่ดินแปลงดังกล่าวขายทอดตลาดได้เงิน 8 แสนบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนบาทนั้น ดําจะบังคับชําระหนี้เอาจากแดงไม่ได้ เพราะเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วและแดงได้ยกอายุความขึ้น เป็นข้อต่อสู้แล้ว และดําจะบังคับชําระหนี้เอาจากเหลืองก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะเหลืองไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้น เกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาบังคับจํานองตามมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง

สรุป

(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากที่ดินแปลงนี้ของเหลืองได้โดยวิธีบังคับจํานอง หรือดําเนินการขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล

(ข) หากขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้ได้เงิน 8 แสนบาท ดําจะบังคับชําระหนี้ให้ได้ ครบจํานวน 1 ล้านบาทจากแดงและเหลืองไม่ได้

 

ข้อ 3. แดงเป็นหนี้ดํา 1 แสนบาท แดงได้จํานําใบหุ้นและวัวท้องแก่ 1 ตัวไว้กับดําโดยชอบด้วยกฎหมาย ครั้นหนี้ถึงกําหนดชําระแดงผิดนัด ในขณะนั้นวัวตกลูกออกมา 1 ตัว ใบหุ้นก็มีเงินปันผลจํานวนหนึ่ง ดําต้องการบังคับชําระหนี้เอาจากทรัพย์สินทั้งหมดข้างต้น โดยแม่วัวราคา 5 หมื่นบาท ลูกวัวราคา 2 หมื่นบาท ใบหุ้นคิดเป็นเงิน 2 หมื่นบาท มีเงินปันผลจํานวน 2 พันบาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากลูกวัวและเงินปันผลได้หรือไม่ โดยวิธีใด

(ข) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากแม่วัวและใบหุ้นได้หรือไม่ โดยวิธีใดที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดและอย่างไร

(ค) หากดําได้รับชําระไม่ครบจํานวน จะเรียกจากแดงได้อีกหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 761 “ถ้ามิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจาก ทรัพย์สินนั้นอย่างไร ทานให้ผู้รับจํานําจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชําระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชําระ ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จํานําทรัพย์สินเป็นประกันนั้น”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําขอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขาย ทอดตลาดด้วย”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้ และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

 

วินิจฉัย

มาตรา 761 ได้วางหลักไว้ว่า หากทรัพย์สินที่จํานํามีดอกผลนิตินัย (เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือ เงินปันผล) เกิดขึ้น ให้ผู้รับจํานําจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชําระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชําระก็ให้ จัดสรรใช้เงินต้นแห่งหนี้ที่ได้จํานําทรัพย์สินเป็นประกันนั้น เว้นแต่ในสัญญาจํานําจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่แดงเป็นหนี้ดํา 1 แสนบาท ได้จํานําใบหุ้นและวัวท้องแก่ 1 ตัวไว้กับดํา เมื่อ ถึงกําหนดชําระแดงผิดนัดชําระหนี้ และในขณะนั้นวัวตกลูกออกมา 1 ตัว และใบหุ้นมีเงินปันผลจํานวนหนึ่งนั้น ดําสามารถบังคับชําระหนี้เอาจากเงินปันผลซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยโดยวิธีจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยที่ค้างชําระแก่ตน ถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชําระก็ให้จัดสรรใช้เงินต้น แต่จะบังคับชําระหนี้เอาจากลูกวัวซึ่งเป็นดอกผลธรรมดาไม่ได้ (มาตรา 761)

(ข) การที่ดําจะบังคับชําระหนี้จากแม่วัวและใบหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินที่แดงได้จํานําไว้นั้น ดําสามารถทําได้โดยวิธีการบังคับจํานําซึ่งเป็นวิธีที่จะเป็นประโยชน์สูงสุด แต่ดําต้องปฏิบัติตามวิธีการที่มาตรา 764 ได้กําหนดไว้ด้วย

(ค) เมื่อดําบังคับชําระหนี้เอาจากแม่วัวได้ 5 หมื่นบาท ใบหุ้นได้ 2 หมื่นบาท และเงินปันผลได้ 2 พันบาท รวมเป็นเงิน 7 หมื่น 2 พันบาท ซึ่งยังขาดอยู่อีก 2 หมื่น 8 พันบาท ส่วนที่ขาดดังกล่าวดําย่อมสามารถ เรียกเอาจากแดงได้ตามมาตรา 767 วรรคสอง

สรุป

(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากลูกวัวไม่ได้ แต่บังคับชําระหนี้จากเงินปันผลได้โดยวิธีจัดสรรชําระหนี้

(ข) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากแม่วัวและใบหุ้นได้ โดยวิธีการบังคับจํานําซึ่งจะได้ประโยชน์สูงสุด

(ค) เมื่อดําได้รับชําระไม่ครบจํานวน ดําสามารถเรียกจากแดงได้อีก

 

 

Advertisement