การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551
 
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 
 
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ 
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ
ข้อ 1.       วันที่ 20 ธันวาคม 2548  นายสมหวังทำสัญญากู้เงินนายสมส่วน เป็นเงิน 3 ล้านบาท โดยในวันที่ 25 ธันวาคม 2548  นายสมทรงเข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายสมหวังดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2548  นายสมหวังจดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาทของตนเป็นประกันหนี้เงินกู้ของตน 
และวันที่ 28 ธันวาคม 2548  นางสมสมรส่งมอบเครื่องเพชรมูลค่า 1 ล้านบาทของตนเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายสมหวังด้วย  เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนด นายสมหวังผิดนัดไม่ชำระหนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า
               
1)  ถ้าหากว่านายสมส่วนได้เรียกร้องให้นายสมทรงรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน นายสมทรงจะเกี่ยงให้นายสมส่วนไปบังคับจำนองเอากับที่ดินที่นายสมหวังจำนองไว้ และไปบังคับจำนำเอากับเครื่องเพชรที่นางสมสมรจำนำไว้ก่อนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
 
2)  ถ้าหากว่านายสมส่วนได้ปลดจำนองให้แก่ที่ดินของนายสมหวังไปแล้ว จึงมาเรียกร้องให้นายสมทรงรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน นายสมทรงจะอ้างเอาเหตุดังกล่าวมาเพื่อขอหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ และถ้าอ้างได้ นายสมทรงจะหลุดพ้นจากความรับผิดเป็นจำนวนเท่าไหร่
ธงคำตอบ
 
มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจาก ทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน
 
มาตรา 697 ถ้าเพราะ การกระทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง ของ เจ้าหนี้เอง เป็นเหตุให้ ผู้ค้ำประกัน ไม่อาจ เข้ารับช่วง ได้ทั้งหมด หรือ แต่บางส่วน ในสิทธิ ก็ดี จำนอง ก็ดี จำนำ ก็ดี และ บุริมสิทธิ อันได้ให้ไว้ แก่ เจ้าหนี้ แต่ก่อน หรือ ในขณะทำ สัญญาค้ำประกัน เพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่า ผู้ค้ำประกัน ย่อมหลุดพ้น จากความรับผิด เพียงเท่าที่ตน ต้องเสียหาย เพราะการนั้น
วินิจฉัย 
 
1) ป.พ.พ. มาตรา 690 บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันในการที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ชั้นต้นที่ได้ให้ไว้เป็นหลักประกันก่อนได้ เห็นว่า เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนด นายสมหวัง ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันก็ได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 868 ปรากฏว่า นายสมส่วนได้เรียกร้องให้นายสมทรงรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน นายสมทรงจะเกี่ยงให้นายสมส่วนไปบังคับจำนองเอากับที่ดินที่นายสมหวังลูกหนี้ชั้นต้นจำนองไว้ก่อนย่อมสามารถกระทำได้ เพราะที่ดินจำนองเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ชั้นต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 690
 
แต่นายสมทรงจะเกี่ยงให้นายสมส่วนเจ้าหนี้ไปบังคับจำนำเอากับเครื่องเพชรที่นางสมสมร ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจำนำไว้ก่อนไม่ได้ เพราะเครื่องเพชรไม่ใช่ทรัพย์ของนายสมหวัง ลูกหนี้ชั้นต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 690
 
2) ถ้าหากว่านายสมส่วนได้ปลดจำนองให้แก่ที่ดินของนายสมหวังไปแล้วจึงมาเรียกร้องให้นายสมทรงรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน นายสมทรงจะอ้างเอาเหตุดังกล่าวมาเพื่อขอหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เห็นว่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 697 บัญญัติให้ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเท่ามูลค่าของหลักประกันที่เจ้าหนี้กระทำให้ตนเองไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ แต่หลักประกันที่ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ดังกล่าวจะต้องเป็นหลักประกันที่เกิดขึ้นก่อนหรือขณะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 25 ธันวาคม 2548 นายสมทรงเข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายสมหวัง ต่อมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2548 นายสมหวังจดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาทของตนเป็นประกันหนี้เงินกู้ จึงเห็นว่าที่ดินที่จำนองเกิดขึ้นหลังวันทำสัญญาค้ำประกัน ดังนั้น นายสมทรงจะอ้างเอาเหตุที่นายสมส่วนปลดจำนองที่ดินให้นายสมหวังขึ้นเป็นเหตุหลุดพ้นจากความรับผิดมูลค่า              1 ล้านบาท หาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 697
สรุป
 
1) นายสมทรงเกี่ยงให้ไปบังคับเอากับที่ดินที่นายสมหวังจำนองไว้ก่อนได้ แต่จะเกี่ยงให้ไปบังคับจำนำเอากับเครื่องเพชรที่นางสมสมรจำนำไว้ก่อนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 690
 
2) สมทรงจะอ้างเอาเหตุที่นายสมส่วนปลดจำนองที่ดินให้นายสมหวังขึ้นเป็นเหตุหลุดพ้นจากความรับผิดมูลค่า 1 ล้านบาทหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 697
ข้อ 2.       นายอาภิขอยืมเงินนายเทพเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามกฎหมาย ต่อมามีนายสมิตเข้ามาเป็นผู้จำนองที่ดินของตนเพื่อประกันหนี้รายนี้ ในวันที่ 1 ม.ค. ต่อมานายสมิงเข้ามาจำนองที่ดินของตน ในวันที่ 1 ก.พ. เพื่อประกันหนี้รายเดียวกัน ดังนี้หากนายอาภิชำระเงินไป 19,000 บาท  ยังมีหนี้เหลืออีก 1.000 บาท นายสมิงต้องการนำที่ดินของตนที่ติดจำนองกับนายเทพอยู่เพื่อไปจำนองเงินกู้ของตนกับธนาคารชาด  นายสมิงต้องขออนุญาตนายเทพหรือไม่
 
ธงคำตอบ
มาตรา 653  การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มี หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม เป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
 
 ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการ ใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือ ชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
 
มาตรา 712  แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม ทรัพย์สินซึ่ง จำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีก คนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้
 
มาตรา 716 จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมด ทุกสิ่งแม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน
วินิจฉัย
 
หนี้ประธานซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินนั้นแม้ไม่มีหลักฐานสมบูรณ์ก็ถือว่าสมบูรณ์ ดังนั้น หนี้อุปกรณ์คือหนี้จำนอง มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ส่วนการที่นายอาภิลูกหนี้ชำระเงินไป 19,000 บาท ขาดเงินที่ไมได้ชำระอีก 1,000 บาท ก็ยังถือว่าทรัพย์นั้นจำนองยังครอบอยู่ทั้งหมดทุกสิ่ง ตามมาตรา 716 ดังนั้น การที่ผู้จำนองต้องการจำนองโดยปลอดจำนอง จะต้องขออนุญาตเจ้าหนี้ก่อน แต่หากจำนองทรัพย์ที่ติดจำนองอยู่ก่อนนั้นไม่ต้องขออนุญาตตามนัยแห่งมาตรา 712
 
ข้อ 3.        ก.กู้เงิน ข. 100,000 บาท  โดยนำสร้อยเพชรจำนำไว้เป็นประกันหนี้ การกู้เงินครั้งนี้มิได้ทำเป็นหนังสือ แต่ได้มีการส่งมอบสร้อยเพชรให้ไว้เป็นจำนำ  มีระยะเวลา 5 ปี ก.ได้ส่งดอกมาทุกปี  ข.เห็นว่า ก.ส่งดอกดีไม่เคยขาดเลยสักปี  จนล่วงเลยมาถึง 11 ปี  จน ก.ไม่มีเงินส่งอีกต่อไป  ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
 
(1)           ข.จะฟ้อง ก. เพื่อเรียกเงินต้นคืนได้หรือไม่
 
(2)           การจำนำ จะระงับสิ้นไปหรือไม่
 
(3)          ข. จะนำสร้อยเพชรเส้นนั้นออกขาย นำเงินมาชำระหนี้ได้หรือไม่ และจะเรียกดอกเบี้ยจนถึงวันขายทอดตลาดสร้อยเส้นนั้นได้หรือไม่
 
ธงคำตอบ
 
มาตรา  747  อันว่า จำนำ นั้นคือ สัญญา ซึ่ง บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบ สังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่ง ให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกัน การชำระหนี้
มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มี หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม เป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
 
 ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการ ใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือ ชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
 
วินิจฉัย
 
(1-2)        หลักกฎหมายมาตรา 747, 653, และฏีกาที่ 200/2496
 
– การจำนำนั้นไม่มีแบบเหมือนจำนอง  การจำนำจะทำเป็นหนังสือตามมาตรา 653 หรือไม่ก็ได้  แต่เน้นหนักเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินตามมาตรา 747
 
–  การจำนำนั้นแม้ขาดอายุความแล้ว  ก็ไม่ทำให้หนี้จำนำระงับ  แต่ตามปัญหา  การกู้เงินโดยมีการจำนำทรัพย์สินเป็นการประกันหนี้มิได้ทำเป็นหนังสือตามมาตรา 653  จึงไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้
 
(3)  เมื่อการจำนำมีการมอบทรัพย์สินไว้เป็นจำนำ แม้หนี้จะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็สามารถนำสร้อยเพชรไปขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้ ตาม ม. 747 แต่จะเรียกดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปีไม่ได้

Advertisement