การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ไก่กู้เงินสิน  50,000  บาท  โดยมีเป็ดเป็นผู้ค้ำประกันโดยที่สินผู้ให้กู้ผู้เดียวมิได้มีการลงลายมือชื่อในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน  ต่อมาไก่ผิดนัดการชำระหนี้  สินจึงฟ้องไก่และเป็ดให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน  ทั้งไก่และเป็ดต่างอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเพราะสินผู้ให้กู้มิได้มีการลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาทั้งสองฉบับ  สินจึงมาปรึกษาท่านว่าข้ออ้างของทั้งสองคนรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  686  ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด  ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินนั้น  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดบังคับว่าต้องทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือ  เพียงแต่กำหนดว่าหากจะฟ้องร้องบังคับคดีกัน  จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ  ดังนั้นหากทำสัญญากู้ยืมเงินลงลายมือชื่อผู้ยืมฝ่ายเดียว  สัญญากู้ยืมก็สมบูรณ์  มีผลบังคับตามมาตรา  653  วรรคแรก  แม้ผู้ให้กู้ยืมจะมิได้ลงลายมือชื่อด้วยก็ตาม

เช่นเดียวกับหลักฐานทางสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  680  วรรคสอง  ก็กำหนดเพียงว่าต้องมีลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญเท่านั้น

ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  ทั้งการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันต่างก็มีลายมือชื่อผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน  จึงเป็นสัญญาที่ถูกต้องสมบูรณ์มีผลบังคับตามกฎหมาย  เมื่อไก่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้  ไก่ผู้กู้ยืมและเป็ดผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญา  ตามมาตรา  686

ข้ออ้างของไก่และเป็ดที่ว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญา  เพราะสินผู้ให้กู้ยืมได้ลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฉบับจึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของไก่และเป็ดรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  นายส้มจุกกับนางส้มโอ  เป็นสามีภริยากันถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมานายส้มจุกเอาเงินครอบครัวมาซื้อที่ดินและได้ใส่ชื่อของตนโดยไม่ยอมใส่ชื่อภริยาในโฉนดด้วย  ภายหลังนายส้มจุกมีภริยาน้อยจึงไปยืมเงินนางส้มเขียวหวาน  (ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนางส้มโอ)  เป็นเงิน  100,000  บาท  พร้อมนำโฉนดฉบับดังกล่าวมาจำนองโดยจดทะเบียนตามกฎหมาย  ดังนี้นางส้มโอภริยาจะร้องต่อศาลโยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินครึ่งหนึ่ง  ขอให้ศาลเพิกถอนการจำนองดังกล่าวได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

วินิจฉัย

การที่สามีภริยาได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส  ย่อมต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าให้ถือเป็นสินสมรส (มาตรา  1474)  ฉะนั้นทั้งส้มจุกและส้มโอจะมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินแปลงดังกล่าว  แต่ในกรณีนี้  สามีได้นำชื่อของตนไปเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว  และภายหลังได้นำมาจำนองกับเพื่อนสนิทของภริยา  จึงถือว่าเพื่อนภริยาต้องรู้หรือควรรู้ได้ว่าที่ดินดังกล่าว  จะต้องมีกรรมสิทธิ์ร่วม  หรือเป็นสินสมรสนั่นเอง  ฉะนั้นกฎหมายจึงไม่คุ้มครองผู้รับจำนองที่ไม่สุจริต (กฎหมายจะปกป้องผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทน)  ดังนั้นการจำนองครั้งนี้จึงไม่สมบูรณ์  ตามมาตรา  702

สรุป  การจำนองไม่สมบูรณ์  นางส้มโอสามารถร้องต่อศาลให้เพิกถอนการจำนองดังกล่าวได้

 

 

ข้อ  3  นายเอกทำสัญญากู้เงินนายโทเป็นเงิน  3  แสนบาท  โดยตกลงให้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ปีละ  1  แสนบาท  ซึ่งเกินกว่าร้อยละ  15 บาทต่อปีตามกฎหมาย  ซึ่งในการกู้ครั้งนี้นายตรีได้มอบชุดเครื่องเพชรไว้เป็นประกันการชำระหนี้นายเอก  ปรากฏว่าต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชำระหนี้  นายโทจึงบอกกล่าวบังคับจำนำตามกฎหมาย  แต่นายโทก็ยังไม่ได้รับการชำระหนี้  นายโทจึงนำชุดเครื่องเพชรออกขายทอดตลาดทันทีโดยไม่ได้ฟ้องคดีเพื่อให้ศาลมีคำสั่งนำชุดเครื่องเพชรออกขายทอดตลาดก่อน  เมื่อนายโทขายทอดตลาดได้เงินมาจึงนำเงินที่ได้มาชำระหนี้เงินต้น  3  แสนบาท  พร้อมกับนำไปชำระหนี้ดอกเบี้ย  1  แสนบาทด้วย  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าการบังคับจำนำชุดเครื่องเพชรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และนายโทจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

วินิจฉัย

นายโทเจ้าหนี้ผู้รับจำนำเครื่องเพชรของนายตรีเพื่อประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายเอกลูกหนี้  โดยตกลงให้นายโทมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ  15  บาทต่อปีจึงถือว่าข้อตกลงในการคิดดอกเบี้ยเป็นโมฆะตามกฎหมาย  การจำนำเพื่อประกันการชำระหนี้ดอกเบี้ยจึงไม่มีผลบังคับได้  แต่การจำนำประกันการชำระหนี้ในส่วนของเงินต้นยังมีผลสมบูรณ์  เพราะการจำนำมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้ประธานอันสมบูรณ์เท่านั้น  ตามมาตรา  747  ดังนั้น  นายโทจึงมีสิทธิบังคับจำนำเครื่องเพชรเพื่อชำระหนี้ได้แต่เฉพาะต้นเงิน  3  แสนบาทเท่านั้น  ไม่มีสิทธินำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเครื่องเพชรไปชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ย  1  แสนบาท

ส่วนการบังคับจำนำเครื่องเพชรดำเนินการโดยชอบแล้วโดยไม่ต้องฟ้องบังคับจำนำเพื่อให้ศาลมีคำสั่งนำเครื่องเพชรออกขายทอดตลาดก่อน  เพราะการบังคับจำนำไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล  ต่างจากการบังคับจำนองต้องฟ้องเป็นคดีก่อน  ตามมาตรา  764  ดังนั้น  การที่นายโทนำเครื่องเพชรทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดโดยไม่ได้ฟ้องเป็นคดีก่อนจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  การบังคับจำนำเครื่องเพชรโดยไม่ได้ฟ้องเป็นคดีก่อนนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  764  แต่นายโทไม่มีสิทธินำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเครื่องเพชรไปชำระหนี้ดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะได้เพราะหนี้ประธานในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สมบูรณ์  ตามมาตรา  747

Advertisement