การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายแดงทำหลักฐานเป็นหนังสือค้ำประกันค่าซื้อเครื่องก่อสร้างราคา 50 ล้านบาท ระหว่างนายเขียวผู้ซื้อและนายขาวผู้ขาย โดยนายแดงได้ตกลงกับนายขาวผู้ขายในการชำระราคาค่าก่อสร้างของนายเขียว ระหว่างนั้นนายส้มเพื่อนนายเขียวได้นำโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งราคา 100 ล้านบาท ให้นายขาวถือไว้เพื่อความสบายใจในการชำระหนี้ เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ปรากฏว่านายเขียวไม่สามารถชำระหนี้ได้ นายขาวจึงฟ้องนายเขียวและนายแดงผู้ค้ำประกันให้ทำการชำระหนี้ นายแดงขอให้นายขาวบังคับการชำระหนี้จากที่ดินของนายส้มที่มอบให้นายขาวก่อน อยากทราบว่านายแดงจะขอให้บังคับการชำระหนี้จากที่ดินก่อนได้หรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น
มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน
มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
วินิจฉัย
นายแดงเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ค่าซื้อเครื่องก่อสร้างของนายเขียว และมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตามมาตรา 680 วรรคสอง เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระปรากฏว่านายเขียวไม่สามารถชำระหนี้ได้ นายแดงจึงต้องรับผิดแทนนายเขียวลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ตามมาตรา 686
ส่วนการที่นายส้มได้นำโฉนดที่ดินมาให้นายขาวเจ้าหนี้ยึดถือไว้จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ครบถ้วนแล้ว ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาจำนอง ตามมาตรา 714 เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิพิเศษในที่ดินอันเป็นตัวทรัพย์นั้นแต่อย่างใด การจำนองจึงไม่สมบูรณ์ นายแดงผู้ค้ำประกันจึงไม่อาจบ่ายเบี่ยงขอให้บังคับการชำระหนี้จากที่ดินได้แต่อย่างใด เพราะกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 690 ทั้งนี้เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นของนายส้ม มิใช่ของนายเขียวลูกหนี้
สรุป นายแดงจะขอให้บังคับการชำระหนี้จากที่ดินก่อนไม่ได้
ข้อ 2 นายมะลิรับจำนองที่ดินแปลงหนึ่งเป็นประกันหนี้เงินกู้ เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายมะลิอยากบังคับจำนองจากที่ดินดังกล่าว จึงมาปรึกษาท่านให้อธิบายเรื่องการบังคับจำนอง และในกรณีนี้นายมะลิจะบังคับจำนองได้อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา 728 เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้
วินิจฉัย
การบังคับจำนอง ตามมาตรา 728 มีลักษณะดังนี้คือ
1 การบังคับจำนองจะต้องมีการฟ้องบังคับจำนอง
2 ก่อนการฟ้องคดีบังคับจำนองจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลุกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าว ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจึงฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับจำนองได้
เมื่อนายมะลิรับจำนองที่ดินตามมาตรา 702 และต้องการบังคับจำนองที่ดินดังกล่าว นายมะลิจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินกู้ก่อน โดยกำหนดเวลาพอสมควรให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ถ้าและลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาในจดหมายบอกกล่าว นายมะลิจึงจะฟ้องคดีเพื่อนำทรัพย์ที่รับจำนองออกขายทอดตลาดได้
ข้อ 3 นายฟ้ากู้เงินนายทะเล จำนวน 20 บาท เพื่อนำไปลงทุนปลูกข้าวเนื่องจากราคาข้าวขณะนี้ดีมากนายทะเลอยากให้นายฟ้ากู้เงิน แต่เกรงว่าจะไม่ได้เงินคืน นายคลองทราบจึงนำรถจักรยานยนต์จำนวน 20 คัน มูลค่า 20 ล้านบาท ซึ่งนายคลองไปเช่าซื้อจากนายภูเขาโดยยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบเพื่อมาวางเป็นกรจำนำให้นายทะเลประกันหนี้เงินกู้ จำนวน 20 ล้านบาท อยากทราบว่า กรณีดังกล่าวนายคลองจะจำนำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
วินิจฉัย
การจำนำ กฎหมายวางหลักให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ส่งมอบเพื่อให้ผู้รับจำนำยึดไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ ส่วนวิธีการส่งมอบอาจเป็นการส่งมอบโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ กล่าวคือ การกระทำใดๆที่ให้ทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของผู้รับจำนำ
นอกจากนี้ยังต้องปรากฏว่า ผู้รับจำนำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย กล่าวคือ ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนำ หากผู้จำนำไม่ใช่เจ้าของทรัพย์แล้ว เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้โดยใช้หลักกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1336
กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งโดยหลักกฎหมายในเรื่องเช่าซื้อนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อต่อเมื่อผู้เช่าซื้อชำระราคาค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เมื่อนายคลองไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากนายภูเขาโดยผ่อนค่าเช่าซื้อยังไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจึงยังไม่โอนมาเป็นของนายคลอง นายคลองจึงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่อาจนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมาจำนำเป็นประกันการชำระหนี้ได้ตามมาตรา 747 ได้
สรุป นายคลองไม่มีสิทธิในการจำนำทรัพย์ดังกล่าว