การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายแดดทำสัญญาค้ำประกันนายฝนซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์ส่งของให้บริษัท  ฤดูกาล  จำกัด  ซึ่งมีนายหนาวเป็นผู้จัดการ ปรากฏว่าต่อมานายฝนได้ขับรถไปส่งของด้วยอาการหลับใน  เนื่องจากฝนตกทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน  ของที่นำไปส่งเสียหายทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน  50,000  บาท  นายหนาวจึงฟ้องนายฝนลูกจ้างและนายแดดผู้ค้ำประกันให้ร่วมกันรับผิดในหนี้  50,000  บาท  อยากทราบว่า  นายแดดจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่  เพราะเหตุใด  ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  686  ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด  ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

วินิจฉัย

การค้ำประกัน  คือ  การที่บุคคลภายนอกมาทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าหากลูกหนี้มีทำการชำระหนี้  ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้ให้  ตามบทบัญญัติมาตรา  680  วรรคแรก  ซึ่งสามารถแยกลักษณะของสัญญาค้ำประกันได้  3  ประการ คือ

1       ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก  อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

2       ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้  เรียกว่า  หนี้ประธาน  หรือหนี้ชั้นต้น  โดยที่ความผูกพันของผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ชั้นที่สองหรือหนี้อุปกรณ์

3       ต้องผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

นายแดดบุคคลภายนอกผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้อันเกิดจากสัญญาจ้างนายฝนเป็นพนักงานขับรถยนต์ส่งของ  ถือว่าเป็นการค้ำประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจ้าง  นายแดดจึงต้องผูกพันตามมาตรา  680  วรรคแรก

เมื่อปรากฏว่าความเสียหายดังกล่าว  เกิดขึ้นจากการทำงานตาสัญญาจ้าง  ซึ่งนายฝนลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ  จึงต้องถือว่านายฝนผิดนัดไม่ชำระหนี้  ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ผิดนัดเจ้าหนี้ก็ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้  ตามมาตรา  686  นายแดดผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ตนทำไว้  ตามมาตรา  680  วรรคแรกประกอบมาตรา  686

สรุป  นายแดดต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

 

ข้อ  2  นายผ่องขอกู้เงินนายเมี่ยงจำนวน  1,000,000  บาท  พร้อมกับนำที่ดินของตนราคา  8,000,000  บาท  มาจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าว  นายเมี่ยงเกรงว่าจะไม่ได้รับเงินคืนครบทุกบาท  จึงขอให้นายผ่องทำสัญญาเป็นหนังสือว่าจะไม่นำที่ดินแปลงจำนองดังกล่าวไปจำนองกับใครอีก  โดยนายเมี่ยงและนายผ่องได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาดังกล่าว  ต่อมาปรากกว่าการค้าของนายผ่องขาดทุน  จำเป็นต้องใช้เงินอีก  2,000,000  บาท  นายผ่องจึงนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขอกู้เงินจากนายนวล  2,000,000  บาท  นายเมี่ยงทราบจึงคัดค้านว่าไม่สามารถจำนองที่ดินแปลงนี้ได้อีกแล้ว  อยากทราบว่าข้ออ้างของนายเมี่ยงรับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  712  แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม  ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น  ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้

วินิจฉัย

การที่นายผ่องกู้เงินนายเมี่ยง  โดยนำที่ดินของตนมาประกันหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นการทำสัญญาจำนอง  ตามมาตรา  702  วรรคแรก  ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดให้มีการส่งมอบทรัพย์แต่อย่างใด  สัญญาจำนองสมบูรณ์  ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

แม้ต่อมาในระหว่างสัญญาจำนองรายแรกยังมีผลใช้บังคับอยู่นั้น  จะปรากฏว่านายผ่องนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองประกันหนี้เงินกู้จากนายนวลอีก  ทั้งๆที่มีสัญญาเป็นหนังสือว่าจะไม่นำที่ดินแปลงที่จำนองกับนายเมี่ยงไปจำนองกับใครอีกก็ตาม  นายผ่องก็ย่อมทำได้  ข้อตกลงระหว่างนายผ่องและนายเมี่ยงที่ห้ามนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองซ้อน  ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย  ตามมาตรา  712  ทั้งนี้จะเห็นได้จากข้อความที่ว่า  แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอ่างอื่นก็ตาม  ซึ่งหมายถึงคู่สัญญาจะตกลงยกเว้นความในบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้  ถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ถึงแม้จะมีข้อห้าม  จำนองซ้อน  เจ้าของทรัพย์สินผู้จำนองกับเจ้าหนี้ผู้รับจำนองคนแรกก็ยังมีสิทธินำทรัพย์สินนั้นไปจำนองกับเจ้าหนี้ผู้รับจำนองรายหลังๆได้อีก  เพราะหากมีการบังคับจำนอง  เอาทรัพย์สินขายทอดตลาด  ผู้รับจำนองคนก่อนมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลังอยู่แล้ว  โดยถือเอาวันและเวลาจดทะเบียนก่อนหลังเป็นสำคัญ  เจ้าหนี้ผู้รับจำนองคนแรกจึงไม่เสียหายเพราะการจำนองซ้อนแต่อย่างใด

สรุป  ข้ออ้างของนายเมี่ยงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  นายเข้มนำสร้อยคอพร้อมจี้เพชรมาวางเป็นประกันหนี้  ซึ่งนายอ่อนกู้เงินจากนายกลางเป็นจำนวน  20,000  บาท  ปรากฏว่าเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระจนล่วงเลยเวลา  6  เดือน  นายกลางเจ้าหนี้จึงขอนำสร้อยคอพร้อมจี้เพชรออกขายทอดตลาด  นายเข้มคัดค้านการขายทอดตลาดนี้  อยากทราบว่านายเข้มกระทำถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด  ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

วินิจฉัย

การที่นายเข้มนำสร้อยคอพร้อมจี้เพชรมาวางเป็นประกันหนี้ของนายอ่อน  ซึ่งกู้เงินจากนายกลางย่อมเป็นการจำนำ  ตามมาตรา  747  แม้จะเป็นการประกันหนี้ของคนอื่นๆ  ก็ย่อมทำได้ไม่มีกฎหมายห้าม

เมื่อปรากกว่าหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระ  แต่นายอ่อนลูกหนี้ไม่ชำระหนี้  จนล่วงเลยเวลา  6  เดือนนายกลางเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบังคับจำนำเอากับทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องฟ้องศาล  ตามมาตรา  764  ซึ่งวิธีการบังคับจำนำผู้รับจำนำจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย  คือ

1       บอกกล่าวให้ชำระหนี้  (บอกกล่าวครั้งแรก)  โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นภายในเวลาอันสมควร  ซึ่งผู้รับจำนำกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

2       บอกกล่าวก่อนขายทอดตลาด (บอกกล่าวครั้งหลัง)  หลังจากที่บอกกล่าวครั้งแรกแล้วลูกหนี้ก็ยังไม่ชำระหนี้  กฎหมายไม่ให้สิทธิผู้รับจำนำขาดทอดตลาดในทันที  แต่จะต้องส่งจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำอีกครั้งหนึ่งว่าจะขายทอดตลาดเมื่อใดและที่ไหน  เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้จำนำเข้าสู่ราคาหรือไถ่ถอนการจำนำ

ตามปัญหา  เมื่อปรากฏว่านายกลางมิได้บอกกล่าวเป็นหนังสือให้นายอ่อนชำระหนี้ก่อน  (บอกกล่าวครั้งแรก)  จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนการบังคับจำนำตามมาตรา  764  นายเข้มผู้จำนำจึงสามารถคัดค้านการขาดทอดตลาดได้

สรุป  การคัดค้านการขาดทอดตลาดของนายเข้มถูกต้องแล้ว

Advertisement