การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายนิติภูมิทำสัญญาจ้างนายสมัครเป็นพนักงานเก็บเงินในร้านสะดวกซื้อ  ในการนี้นายสมัครได้ส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝากของตนไว้เป็นประกันการเข้าทำงาน  ต่อมาอีก  2  วัน  นายสมบัติได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายสมัครต่อนายนิติภูมิ  หลังจากนั้นอีก  3 เดือน  นายสมัครได้ยักยอกเงินนายนิติภูมิไปเป็นเงิน  3  แสนบาท  เมื่อนายนิติภูมิทราบเรื่องได้ไล่นายสมัครออกจากงานและได้เรียกร้องให้นายสมบัติรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน  ถ้านายสมบัติจะยกข้อต่อสู้ต่อไปนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายสมบัติจะรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

1       นายสมบัติไม่ต้องรับผิดเพราะในขณะเข้าทำสัญญาค้ำประกันยังไม่มีหนี้ที่นายสมัครจะต้องรับผิดต่อนายนิติภูมิ  การยักยอกเงินเพิ่งเกิดขึ้นหลังนายสมบัติเข้าทำสัญญาค้ำประกัน

2       นายสมบัติเรียกร้องให้นายนิติภูมิไปบังคับเอากับเงินฝากที่นายสมัครได้มอบสมุดบัญชีไว้เป็นหลักประกันก่อน  ขาดเท่าไรจึงมาเรียกร้องให้นายสมบัติรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

ธงคำตอบ

มาตรา 681 วรรคสอง  หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้ นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้

มาตรา  686  ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด  ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  689  ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม  ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้  และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

วินิจฉัย

 1       การที่นายสมบัติเข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายสมัคร  ถือว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่นายสมัครลูกจ้าง (ลูกหนี้)  อาจก่อให้เกิดขึ้นแก่นายนิติภูมินายจ้าง  (เจ้าหนี้)  ภายในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังไม่สิ้นสุด  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็สามารถมีการค้ำประกันได้ตามมาตรา  681  วรรคสอง  ดังนั้นแม้ปรากฏว่าในขณะที่นายสมบัติเข้าทำสัญญาค้ำประกัน  นายสมัครลูกจ้างยังไม่ได้กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายนิติภูมินายจ้างก็ตาม  แต่ภายหลังจากทำสัญญาค้ำประกันได้  3  เดือน  นายสมัครได้ยักยอกเงินก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายนิติภูมิ  จึงถือว่านายสมัครลูกหนี้มีการผิดนัด (มาตรา  206)  ความรับผิดของนายสมบัติผู้ค้ำประกันจึงเกิดมีขึ้น  ตามมาตรา  686  นายสมบัติจึงมิอาจที่จะยกข้อต่อสู้ว่าในขณะเข้าทำสัญญาค้ำประกันยังไม่มีหนี้ประธานเกิดขึ้นเพื่อเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดได้  เพราะเป็นการค้ำประกันหนี้ในอนาคต  ตามมาตรา  681  วรรคสอง  ดังนั้นข้อต่อสู้ของนายสมบัติจึงฟังไม่ขึ้น

2       ในขณะที่นายสมบัติเข้าทำสัญญาค้ำประกัน  นายสมัครลูกจ้างได้ส่งมอบสมุดเงินฝากให้นายนิติภูมิยึดถือไว้เป็นประกันการทำงาน  เห็นว่า  การที่นายสมัครส่งมอบสมุดเงินฝากให้นายนิติภูมิไม่ถือว่าเป็นการที่ลูกหนี้ได้ให้หลักประกันแก่เจ้าหนี้ตามกฎหมาย  เพราะการส่งมอบสมุดเงินฝากไม่ถือว่าเป็นการจำนำตามมาตรา  747  เป็นแต่เพียงทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะยึดถือสมุดเงินฝากไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จากนายสมัครลูกจ้างเท่านั้น  ดังนั้นข้อต่อสู้ที่ให้นายนิติภูมิ  ไปบังคับเอากับสมุดเงินฝากที่ยึดถือไว้เป็นหลักประกันก่อนตามมาตรา  690  จึงับฟังไม่ได้  แต่ถ้านายสมบัติผู้ค้ำประกันสามารถพิสูจน์ได้ว่า  นายสมัครลูกหนี้มีเงินฝากอยู่ในบัญชีสมุดเงินฝากซึ่งสามารถนำมาชำระหนี้ได้และการบังคับชำระหนี้ไม่เป็นการยากก็สามารถเรียกร้องให้นายนิติภูมิเจ้าหนี้  ไปบังคับเอากับเงินฝากที่นายสมัครได้มอบสมุดบัญชีไว้เป็นหลักประกันก่อน  ขาดเท่าไรจึงมาเรียกร้องให้นายสมบัติรับผิดตามสัญญาค้ำประกันข้อต่อสู้ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น  ตามมาตรา  690  แต่ชอบที่จะเกี่ยงตามมาตรา  689  ได้

สรุป

1       ข้อต่อสู้ฟังไม่ขึ้น  ตามมาตรา  682  วรรคสอง

2       ข้อต่อสู้ฟังไม่ขึ้น  ตามมาตรา  690  แต่ชอบที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา  689  ได้

 

ข้อ  2  วันที่  1  กุมภาพันธ์  2545  นายปริญญาทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารทักษิณเป็นเงิน  3  ล้านบาท  ซึ่งจะถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ในวันที่  30  สิงหาคม  2548  โยวันที่  1  กุมภาพันธ์  2545  นายวาสนาได้จดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า  3  ล้านบาทเป็นประกันหนี้เงินกู้ของนายปริญญา  ต่อมาวันที่  2  กุมภาพันธ์  2545  นายปริญญาได้จดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า  4  ล้านบาท  เป็นประกันหนี้เงินกู้ของตนเอง  ในวันที่  1  มีนาคม  2545  นายปริญญาได้นำที่ดินที่จำนองไว้กับธนาคารทักษิณไปจดทะเบียนการเช่าให้นายสุเทพเช่าเพื่อปลูกอาคารพาณิชย์โดยคิดค่าเช่าที่ดินเดือนละ 1  หมื่นบาท  เมื่อปลูกอาคารพาณิชย์เสร็จนายสุเทพได้นำอาคารดังกล่าวออกให้นายรัฐธรรมนูญเช่า  โดยคิดค่าเช่าอาคารเดือนละ  15,000  บาท  ต่อมาวันที่  1  กันยายน  2548  ธนาคารทักษิณได้ทำหนังสือและจดทะเบียนปลดจำนองให้นายวาสนาไป  เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระนายปริญญาผิดนัดไม่ชำระหนี้วันที่  31  สิงหาคม  2548  ธนาคารทักษิณได้บอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวาจาไปยังนายปริญญา  ถ้าหลังจากบอกกล่าวบังคับจำนองนายสุเทพได้นำค่าเช่าที่ดิน  1  หมื่นบาทมาชำระให้นายปริญญาและนายรัฐธรรมนูญนำค่าเช่าอาคารมาชำระให้นายสุเทพ  เช่นนี้ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

 1       ถ้าต่อมาในอนาคตเวลาจะฟ้องบังคับจำนองที่ดินของนายปริญญาที่นำมาจำนองกับธนาคารทักษิณจะได้เงินไม่พอชำระหนี้  3  ล้านบาท  เพราะมีการจดทะเบียนการเช่าให้นายสุเทพและนายรัฐธรรมนูญไว้  ธนาคารทักษิณจะฟ้องศาลเพื่อให้ลบสิทธิการเช่าดังกล่าวออกจากทะเบียนได้หรือไม่

2       การจำนองที่ดินของนายปริญญาจะครอบไปถึงบ้านนายสุเทพ  ค่าเช่าที่ดิน  ค่าเช่าอาคารหรือไม่  เพราะเหตุใด

3       นายปริญญาผู้จำนองจะหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาจำนองอันเนื่องมาจากการที่ธนาคารทักษิณปลดจำนองที่ดินให้นายวาสนาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  709  บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ก็ให้ทำได้

มาตรา  710  ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว  ท่านก็ให้ทำได้

และในการนี้คู่สัญญาจะตกลงกันดังต่อไปนี้ก็ได้  คือว่า

(1) ให้ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองตามลำดับอันระบุไว้

(2) ให้ถือเอาทรัพย์สินแต่ละสิ่งเป็นประกันหนี้เฉพาะแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดที่ระบุไว้

มาตรา  718  จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง  แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้

มาตรา  720  จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดิน  ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย  ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น

มาตรา  721  จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง  เว้นแต่ในเมื่อผู้รับจำนองได้บอกกล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง

มาตรา  722  ถ้าทรัพย์สินได้จำนองแล้ว  และภายหลังที่จดทะเบียนจำนองมีจดทะเบียนภาระจำยอมหรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่น  โดยผู้รับจำนองมิได้ยินยอมด้วยไซร้  ท่านว่าสิทธิจำนองย่อมเป็นใหญ่กว่าภาระจำยอม  หรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่นนั้น  หากว่าเป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้รับจำนองในเวลาบังคับจำนอง  ก็ให้ลบสิทธิที่กล่าวหลังนั้นเสียจากทะเบียน

มาตรา  726  เมื่อบุคคลหลายคนต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและได้ระบุลำดับด้วยไซร้  ท่านว่าการที่ผู้รับจำนองยอมปลดหนี้ให้แก่ผู้จำนองคนหนึ่งนั้นย่อมทำให้ผู้จำนองคนหลังๆได้หลุดพ้นด้วยเพียงขนาดที่เขาต้องรับความเสียหายแต่การนั้น

มาตรา  727  ถ้าบุคคลคนเดียวจำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตรา  697, 700 และ  701  ว่าด้วยค้ำประกันนั้นบังคับอนุโลมตามควร

วินิจฉัย

วันที่  1  กุมภาพันธ์  2545  นายปริญญาทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารทักษิณเป็นเงิน  3  ล้านบาท  ซึ่งจะถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ในวันที่ 30  สิงหาคม  2548  โดยในวันดังกล่าว  นายวาสนาบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า  3  ล้านบาท  เป็นประกันหนี้เงินกู้ของนายปริญญา  ตามมาตรา  709  ต่อมาในวันที่  2  กุมภาพันธ์  2545  นายปริญญาลูกหนี้ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า  4  ล้านบาท  เป็นประกันหนี้เงินกู้ของตนเอง  ซึ่งเป็นกรณีการจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเป็นประกันการชำระหนี้รายเดียวตามมาตรา  710  โดยไม่มีการตกลงระบุลำดับในการบังคับจำนองไว้ตามมาตรา  710 (1)  และมิได้มีการตกลงจำกัดความรับผิดในทรัพย์ที่จำนองแต่ละสิ่ง  ตามมาตรา  710 (2)  เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการตกลงกันระหว่างคู่สัญญาจำนองในทำนองดังกล่าว  อีกทั้งการจดทะเบียนจำนองก่อนหรือหลังหาได้ทำให้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองจะต้องบังคับเอากับทรัพย์ที่รับจำนองไว้ก่อนไม่  ตามมาตรา  734

หลังจากนั้นในวันที่  1  มีนาคม  2545  นายปริญญา(ผู้จำนอง)  ได้นำที่ดินที่จำนองไว้กับธนาคารทักษิณไปจดทะเบียนการเช่าให้นายสุเทพเช่าเพื่อปลูกอาคารพาณิชย์โดยคิดค่าเช่าที่ดินเดือนละ  1  หมื่นบาท  เมื่อปลูกอาคารพาณิชย์เสร็จนายสุเทพได้นำอาคารดังกล่าวออกให้นายรัฐธรรมนูญเช่า  โยคิดค่าเช่าอาคารเดือนละ  15,000  บาทเช่นนี้

 1       ถ้าต่อมาในอนาคตเวลาจะฟ้องบังคับจำนองที่ดินของนายปริญญาที่นำมาจำนองกับธนาคารทักษิณจะได้เงินไม่พอชำระหนี้  3  ล้านบาท  เพราะมีการจดทะเบียนการเช่าให้นายสุเทพและนายรัฐธรรมนูญไว้  ธนาคารทักษิณจะฟ้องศาลเพื่อให้ลบสิทธิการเช่าดังกล่าวออกจากทะเบียนได้หรือไม่  เห็นว่าตามมาตรา  722  ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองชอบที่จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมหรือทรัพยสิทธิอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ในทรัพย์ที่รับจำนองได้  ถ้าปรากกว่าในขณะที่จะบังคับจำนองการจดทะเบียนภาระจำยอมหรือทรัพยสิทธิอื่นทำให้เสื่อมเสียแก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนอง  แต่กรณีตามปัญหา  การที่นายปริญญาผู้จำนองได้จดทะเบียนให้เช่าที่ดินที่ติดจำนองแก่นายสุเทพไป  แม้จะทำให้ธนาคารทักษิณผู้รับจำนองได้รับความเสียหายในเวลาที่จะบังคับจำนองก็ตาม  ก็ไม่สามารถฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าที่ดินดังกล่าวได้  เพราะการจดทะเบียนการเช่าเป็นเพียงบุคคลสิทธิไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนภาระจำยอมหรือทรัพยสิทธิอื่น  ตามมาตรา  722  ดังนั้นธนาคารทักษิณจะฟ้องศาลเพื่อให้ลบสิทธิการเช่าดังกล่าวออกจากทะเบียนไม่ได้

2       การจำนองที่ดินของนายปริญญาจะครอบไปถึงอาคารพาณิชย์ของนายสุเทพ  ค่าเช่าที่ดิน  ค่าเช่าอาคาร  หรือไม่  เห็นว่าโดยหลักตามมาตรา  718  การจำนองย่อมครอบไปถึงตัวทรัพย์ทั้งปวงที่ติดพันกับทรัพย์สินที่จำนอง  แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับใน  มาตรา  719 721  ซึ่งตามมาตรา  720  มีหลักว่าการจำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงโรงเรือนบุคคลอื่นได้ปลูกสร้างไว้  ดังนั้นการจำนองที่ดินของนายปริญญาย่อมไม่ครอบไปถึงอาคารพาณิชย์ที่นายสุเทพได้ปลูกสร้าง  ตามมาตรา  720

ส่วนกรณีการจะบังคับเอาดอกผลของตัวทรัพย์สินที่นำมาจำนองได้นั้น  ต้องมีการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบตามมาตรา  721  แต่กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระนายปริญญาลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้  วันที่  31  สิงหาคม  2548  ธนาคารทักษิณได้บอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวาจาไปยังนายปริญญา  ถือว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร  ตามมาตรา  728  ดังนั้นแม้ว่าหลังจากบอกกล่าวบังคับจำนอง  นายสุเทพได้นำค่าเช่าที่ดิน(ที่ติดจำนอง)  1  หมื่นบาทมาชำระให้นายปริญญาผู้จำนอง  การจำนองที่ดินก็ย่อมไม่ครอบไปถึงค่าเช่าที่ดิน  1  หมื่นบาท  ที่นายสุเทพนำมาชำระให้นายปริญญาผู้จำนองเพราะการบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  721  ประกอบมาตรา  728

ส่วนกรณีค่าเช่าอาคารพาณิชย์  15,000  บาท  ที่นายรัฐธรรมนูญนำมาชำระให้นายสุเทพนั้น  เมื่อการจำนองครอบที่ดินของนายปริญญาไม่ครอบไปถึงอาคารพาณิชย์ที่นายสุเทพปลูกสร้างขึ้น  เพราะการจำนองที่ดินของนายปริญญาย่อมไม่ครอบไปถึงโรงเรือนอาคารพาณิชย์ที่นายสุเทพบุคคลอื่นได้ปลูกสร้างตามมาตรา  720  ดังนั้นเมื่อไม่ครอบไปถึงอาคารพาณิชย์  ก็ไม่ครอบไปถึงค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลของอาคารพาณิชย์ด้วย

ดังนั้น  การจำนองที่ดินของนายปริญญาจะครอบไปถึง  แต่เฉพาะที่ดินของนายปริญญาผู้จำนองเท่านั้น  แต่ไม่ครอบไปถึงอาคารของนายสุเทพและค่าเช่าอาคาร  ตามาตรา  720  อีกทั้งไม่ครอบไปถึงค่าเช่าที่ดิน  เพราะไม่มีการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบตามมาตรา  721

3       นายปริญญาผู้จำนองที่เป็นลูกหนี้ชั้นต้นจะหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาจำนอง  อันเนื่องมาจากที่ธนาคารทักษิณปลดจำนองที่ดินให้นายวาสนา  หรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  726  มีหลักว่า  ถ้าผู้รับจำนองปลดจำนองให้ผู้จำนองที่เป็นบุคคลภายนอกที่ต้องถูกบังคับจำนองในลำดับหลัง  แต่กรณีตามอุทาหรณ์  มิใช่เป็นกรณีที่มีบุคคลภายนอกหลายคนต่างจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้และได้มีการตกลงระบุลำดับในการบังคับจำนองไว้  จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติใน  มาตรา  726  ดังนั้นนายปริญญาผู้จำนองจะอ้างว่าการที่ธนาคารทักษิณปลดจำนองให้แก่นายวาสนาเป็นเหตุให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ได้

อีกทั้งนายปริญญาผู้จำนองที่เป็นลูกหนี้อ้างว่า  เป็นผู้จำนองที่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  727  ก็มิได้อีกเช่นกัน  เพราะมาตรา  727  ใช้เฉพาะกับหนี้ประธานที่ผู้จำนองที่เป็นบุคคลภายนอกคนเดียว  แล้วเจ้าหนี้ผู้รับจำนองกระทำการตามมาตรา  697, 700 , 701  ทำให้ผู้จำนองที่เป็นบุคคลภายนอกเสียหาย  แต่ตามอุทาหรณ์นายปริญญาผู้จำนองเป็นลูกหนี้ชั้นต้นจึงจะอ้างประโยชน์ตามมาตรา  697 ประกอบมาตรา  727  เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ได้

สรุป 

1       ฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าไม่ได้  ตามมาตรา  722

2       การจำนองครอบเฉพาะที่ดินที่นำมาจำนองตามมาตรา  718   720  และมาตรา  721

3       นายปริญญาผู้จำนองที่เป็นลูกหนี้ชั้นต้น  จะอ้างมาตรา  726  และ  727  เพื่อหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ได้

 

ข้อ  3  นายมหาชนทำสัญญากู้เงินนายชาติไทยเป็นเงิน  3  แสนบาท  โดยนายประชาธิปัตย์ได้นำเครื่องจักรมูลค่า  3  แสนบาทเป็นประกันการกู้เงินของนายมหาชน  ซึ่งนายชาติไทยและนายประชาธิปัตย์ตกลงให้นายมหาชนเป็นผู้เก็บรักษาเครื่องจักร  ถ้าต่อมานายมหาชนผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้  พร้อมดอกเบี้ยเกินกว่า  5  ปีแล้ว  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1       การจำนำเครื่องจักรระงับหรือไม่  เพราะเหตุใด

2       นายชาติไทยจะบังคับจำนำโดยเอาเครื่องจักรที่รับจำนำไว้หลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  749  คู่สัญญาจำนำจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ก็ได้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

มาตรา  769  อันจำนำย่อมระงับไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจำนำเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความหรือ

(2) เมื่อผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ

วินิจฉัย

การที่นายมหาชนทำสัญญากู้เงินนายชาติไทยเป็นเงิน  3  แสนบาท  โดยนายประชาธิปัตย์ได้จำนำเครื่องจักรมูลค่า  3  แสนบาทเป็นประกันกู้เงินของนายมหาชน  ซึ่งนายชาติไทยผู้รับจำนำ  และนายประชาธิปัตย์ผู้จำนำตกลงให้นายมหาชนลูกหนี้ชั้นต้นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาจำนำเป็นผู้เก็บรักษาเครื่องจักร  การจำนำเกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  747  ประกอบมาตรา  749  ต่อมานายมหาชนผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเกินกว่า  5  ปีแล้ว  เช่นนี้

1       การจำนำเครื่องจักรระงับหรือไม่  เห็นว่า  มาตรา  769 (2)  จำนำจะระงับเมื่อผู้รับจำนำส่งคืนทรัพย์สินที่รับจำนำให้แก่ผู้จำนำ  แต่กรณีตามปัญหานายชาติไทยผู้รับจำนำไม่ได้คืนเครื่องจักรให้นายประชาธิปัตย์ผู้จำนำ  ดังนั้นการจำนำไม่ระงับตามมาตรา  769  (2)  แต่ตกลงให้นายมหาชนเป็นผู้เก็บรักษาได้ตามมาตรา  749

2       นายชาติไทยจะบังคับจำนำโดยเอาเครื่องจักรที่รับจำนำไว้หลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  764  ไม่มีกรณีจะบังคับจำนำเอาทรัพย์หลุดเป็นกรรมสิทธิ์ได้  เพราะต้องบังคับจำนำโดยเอาเครื่องจักรออกขายทอดตลาดชำระหนี้เท่านั้น

สรุป 

1       การจำนำไม่ระงับตามมาตรา  769 (2)  ประกอบมาตรา  749

2       บังคับจำนำเอาทรัพย์จำนำหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ได้ตามมาตรา  764

Advertisement