การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
ข้อ 1 ไก่กู้เงินสิน 50,000 บาท โดยมีเป็ดเป็นผู้ค้ำประกันโดยที่สินผู้ให้กู้ผู้เดียวมิได้มีการลงลายมือชื่อในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ต่อมาไก่ผิดนัดการชำระหนี้ สินจึงฟ้องไก่และเป็ดให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญากูเงินและสัญญาค้ำประกัน ทั้งไก่และเป็ดต่างอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเพราะสินผู้ให้กู้มิได้มีการลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฉบับ สินจึงมาปรึกษาท่านว่าข้ออ้างของทั้งสองคนรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น
มาตรา 653 การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
การกู้ยืมเงินนั้น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดบังคับว่าต้องทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือ เพียงแต่กำหนดว่าหากจะฟ้องร้องบังคับคดีกัน จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ ดังนั้นหากทำสัญญากู้ยืมเงินลงลายมือชื่อผู้ยืมเพียงฝ่ายเดียว สัญญากู้ยืมก็สมบูรณ์ มีผลบังคับตามมาตรา 653 วรรคแรก แม้ผู้ให้กู้ยืมจะมิได้ลงลายมือชื่อด้วยก็ตาม
เช่นเดียวกับหลักฐานทางสัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 680 วรรคสอง ก็กำหนดเพียงว่าต้องมีลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญเท่านั้น
ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ทั้งการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันต่างก็มีลายมือชื่อผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน จึงเป็นสัญญาที่ถูกต้องสมบูรณ์มีผลบังคับตามกฎหมาย เมื่อไก่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้ ไก้ผู้กู้ยืมและเป็ดผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญา ตามมาตรา 686
ข้ออ้างของไก่และเป็ดที่ว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญา เพราะสินผู้ให้กู้ยืมมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฉบับจึงรับฟังไม่ได้
สรุป ข้ออ้างของไก่และเป็ดรับฟังไม่ได้
ข้อ 2 แดงเป็นหนี้เขียว 300,000 บาท โดยมีม่วงนำที่ดินของตน 1 แปลงราคา 200,000 บาท มาทำสัญญาจำนองไว้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแดงและเขียวตกลงกันขอนำที่ดินดังกล่าวตีราคาใช้หนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าแดงและม่วงมีสิทธิตกลงนำที่ดินมาใช้หนี้ได้หรือไม่ และเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก 100,000 บาท ทั้งแดงและม่วงยังคงต้องรับผิดอีกหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 711 การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง หรือว่าได้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นอย่างใดนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์
มาตรา 728 เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้
มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
วินิจฉัย
การตกลงของเขียวและแดงในการขอนำที่ดินมาตีใช้หนี้ เป็นการตกลงหลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 711 ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับตามกฎหมายได้ และกรณีนี้มิได้มีการบังคับจำนอง ตามมาตรา 728 ลูกหนี้ชั้นต้นคือนายแดงจึงจะขอนำมาตรา 733 เป็นข้อยกเว้นมิให้มีการชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอีก 100,00 บาท ไม่ได้ ส่วนในกรณีของม่วงซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ย่อมไม่ต้องรับผิด เนื่องจากการตีใช้หนี้ย่อมเป็นการระงับไปซึ่งหนี้จำนอง ม่วงจึงไม่ต้องรับผิดอีก
สรุป แดงและม่วงมีสิทธินำที่ดินมาตีใช้หนี้ได้ แต่แดงต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอีก 100,000 บาท ส่วนม่วงเป็นอันหลุดพ้นจากความผิด เพราะเจ้าหนี้จำนองระงับไปแล้ว
ข้อ 3 ทองล้วนรับจำนำรถยนต์จากทองก้อน ระหว่างสัญญาทองล้วนอยากไปพักผ่อนชายทะเลจึงถือโอกาสนำรถยนต์ดังกล่าวขับไปชายทะเลระหว่างทางกลับบ้านเกิดน้ำท่วมทำให้ขับรถกลับไม่ได้ รถจอดแช่น้ำอยู่ 3 วันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายคิดเป็นเงิน 100,000 บาท ทองก้อนทราบข่าวจึงขอให้ทองล้วนรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ทองล้วนอ้างว่าไม่ต้องรับผิดเนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย อยากทราบว่าข้ออ้างของทองล้วนรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 760 ถ้าผู้รับจำนำเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกใช้เอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเก็บรักษาโดยผู้จำนำมิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนำจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจำนำนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
วินิจฉัย
ทองล้วนรับจำนำรถยนต์จากทองก้อน ระหว่างสัญญาทองล้วนได้นำรถยนต์ดังกล่าวขับไปชายทะเล ระหว่างทางกลับบ้านเกิดน้ำท่วมทำให้รถเสียหาย กรณีเป็นการที่ผู้รับจำนำ นำทรัพย์ที่จำนำออกใช้สอยโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้จำนำ ซึ่งตามมาตรา 760 กำหนดให้ผู้รับจำนำจักต้องรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลาย แม้ทั้งเป็นเหตุสุดวิสัยและกรณีดังกล่าวก็มิใช่กรณีจะอ้างได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ถึงอย่างไรก็คงจะสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั้นเองตามมาตรา 760 ไม่ได้
สรุป ข้ออ้างของทองล้วนจึงรับฟังไม่ได้