การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายแดงเจ้าของกิจการขับรถรับ – ส่งสินค้า ได้ว่าจ้างนายเหลืองให้เป็นคนขับรถบรรทุกรับ – ส่งสินค้า โดยมีนายขาวตกลงค้ำประกันการทำงานของนายเหลือง หลังจากเซ็นสัญญาค้ำประกันเสร็จนายแดงได้ให้นายเหลืองขับรถบรรทุกน้ำหนักเกินตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้นนายแดงยังขอให้นายเหลืองขับรถเป็นเวลาติดต่อกันถึง 15 ชั่วโมง นายเหลืองจึงเกิดอาการหลับใน ขับรถชนกับรถโดยสารประจำทาง ทำให้รถโดยสารพังเสียหายทั้งคัน เจ้าของรถประจำทางจึงฟ้องนายแดงขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย นายแดงจึงฟ้องขอให้นายขาวผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดกับนายเหลืองในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหาย นายขาวจึงมาปรึกษาท่านว่า ตนจะต้องรับผิดร่วมกับนายเหลืองในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างไร หรือไม่ ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 694 นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย
วินิจฉัย
การที่นายขาวตกลงเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของนายเหลือง และมีหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการทำงานของนายเหลือง แต่กรณีตามปัญหาปรากฏว่าการทำให้เกิดความเสียหาย ในการขับรถชนรถโดยสารนั้นสาเหตุเนื่องมาจากการที่นายแดง นายจ้างได้ใช้ให้นายขาวทำงานเกินขีดกำลังความสามารถซึ่งเป็นความบกพร่องของนายจ้าง จึงถือเป็นข้อต่อสู้ซึ่งลูกจ้างสามารถยกขึ้นอ้างต่อนายจ้างได้ อีกทั้งการบรรทุกน้ำหนักเกินก็เป็นคำสั่งของนายจ้าง ในกรณีเช่นนี้ ผู้ค้ำประกันจึงสามารถยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ ตามมาตรา 694 ได้ ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ได้
สรุป ขาวสามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้
ข้อ 2 จำเลยกู้เงินโจทก์ โดยมีนายแดงจำนองที่ดินเป็นประกัน ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยและนายแดงให้ชำระหนี้พร้อมทั้งได้มีการนำที่ดินจำนองออกขายทอดตลาด แดงจึงตกลงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ ซึ่งหักแล้วยังมีหนี้ที่ต้องชำระอีก 500,000 บาท โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยและนายแดงรับผิดในหนี้ที่ยังขาดอยู่อีก 500,000 บาท อยากทราบว่า โจทก์สามารถบังคับได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา 711 การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง หรือว่าได้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นอย่างใดนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์
มาตรา 728 เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้
มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
วินิจฉัย
กรณีที่แดงผู้จำนองได้โอนที่ดินที่ตนจำนองไว้ให้แก่โจทก์ หลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว เป็นการตกลงโอนใช้หนี้ภายหลัง หนี้ถึงกำหนดชำระซึ่งเป็นการตกลงที่เกิดภายหลังหนี้ถึงกำหนดชำระ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับ มาตรา 711 และไม่ใช่เป็นการบังคับจำนองตามมาตรา 728 ดังนี้ เมื่อปรากฏว่ายังมีหนี้ค้างชำระอยู่อีก จำเลยลูกหนี้ชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ให้ครบถ้วน กรณีย่อมไม่อาจนำมาตรา 733 มาบังคับแก่กรณีได้ ส่วนแดงผู้จำนองมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้นจึงไม่ต้องรับผิดตามมูลหนี้เดิม
สรุป โจทก์บังคับให้จำเลยชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่อีก 500,000 บาทได้ ส่วนนายแดงโจทก์ไม่อาจบังคับได้เนื่องจากมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น
ข้อ 3 สิงห์มอบให้เสือเป็นตัวแทนนำแหวนทองคำไปจำนำเป็นประกันเงินกู้จำนวน 100,000 บาท กับม้าหลังจากจำนำเสร็จ ม้าได้ตกลงกับเสือขอให้แมวเป็นผู้เก็บรักษาแหวนดังกล่าว ต่อมาแมวเดินทางไปทัศนาจรที่จังหวัดตราด โดยที่แมวได้นำแหวนใส่ติดตัวระหว่างทาง ปรากกว่าเกิดพายุทำให้น้ำท่วมทาง แหวนที่แมวใส่ไปจึงเกิดหลุดหายไปกับน้ำ ดังนี้ อยากทราบว่า ผู้รับจำนำจะต้องรับผิดในกรณีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
มาตรา 749 คู่สัญญาจำนำจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ก็ได้
มาตรา 759 ผู้รับจำนองต้องรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ให้ปลอดภัย และต้องสงวนทรัพย์สินจำนำนั้นเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง
วินิจฉัย
กรณีดังกล่าวถือว่าเสือในฐานะตัวแทนย่อมมีสิทธิจัดการใดๆ ภายใต้บังคับกฎหมายลักษณะจำนำได้ ดังนั้นการที่ม้ากับเสือตกลงกันขอให้แมวเป็นผู้เก็บรักษาจึงกระทำได้ตามมาตรา 749 อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 759 กำหนดให้ผู้รับจำนำจะต้องดูแลรักษาทรัพย์และสงวนทรัพย์เหมือนอย่างวิญญูชนควรสงวน เมื่อปรากฏว่าทรัพย์ที่จำนำเป็นแหวนซึ่งมีราคา ผู้ดูแลทรัพย์จึงควรสงวนโดยการเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยมิใช่นำไปใส่ติดตัว ดังนี้ แม้จะมีเหตุพายุทำให้แหวนหลุดหายไปกับสายน้ำซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย ผู้รับจำนำก็จะต้องรับผิดอยู่ดีนั่นเอง ตามมาตรา 760
สรุป ผู้รับจำนำต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินที่จำนำดังกล่าว