การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายลักษณะการค้ำประกันตามหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 680 ในกรณีบุคคลที่จะเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันจำเป็นต้องเป็นลูกหนี้ด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
อธิบาย
จากบทบัญญัติมาตรา 680 วรรคแรก จะเห็นว่า การค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
เมื่อพิจารณาแล้วลักษณะของสัญญาค้ำประกันประการหนึ่ง ในกรณีของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันนั้น กฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นบุคคลภายนอกที่เข้ามาผูกพันกับเจ้าหนี้ คือเป็นบุคคลภายนอกสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่มิได้มีส่วนได้เสียในหนี้นั้น หนี้ที่ค้ำประกันจะต้องมีบุคคลสามฝ่ายเสมอ ดังนี้ลูกหนี้เองจะเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ของตนเอง หรือทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้ร่วมมิได้ แม้จะให้ลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันเจ้าหนี้ก็ไม่มีหลักประกันดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะการค้ำประกันเป็นการประกันด้วยบุคคล เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้อยู่แล้วแม้ลูกหนี้จะเอาตัวเองค้ำประกัน เจ้าหนี้ก็เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เหมือนเดิม ไม่ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิพิเศษอย่างใด ลูกหนี้จึงเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากการค้ำประกันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ผู้ค้ำประกันย่อมต้องเป็นผู้ชำระหนี้แทน
ตัวอย่างเช่น นาย ก และนาย ข ร่วมกันกู้ยืมเงินนาย ค ก จะทำสัญญาค้ำประกัน ข โดยทำสัญญากับ ค เจ้าหนี้ว่าถ้า ข ไม่ชำระหนี้ ตนจะชำระหนี้นั้นแทนทั้งหมด ดังนี้ ก ทำไม่ได้ เพราะ ก เป็นลูกหนี้ชั้นต้น จะทำสัญญาเป็นลูกหนี้ชั้นที่สองอีก เจ้าหนี้ก็มิได้หลักประกันอะไรเพิ่มขึ้นมา เจ้าหนี้ฟ้อง ก ให้ชำระหนี้ได้สิ้นเชิงอยู่แล้ว ผู้ค้ำประกันจึงต้องเป็นบุคคลอื่นที่เข้ามารับผิดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี บุคคลภายนอกที่ทำสัญญาค้ำประกันอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้าหากลูกหนี้จะค้ำประกันตนเองต้องให้ประกันด้วยทรัพย์ ซึ่งก็คือ การจำนองตามมาตรา 702 หรือการจำนำตามมาตรา 747
ข้อ 2 นายกิ่งขอยืมเงินนายสิงเป็นเงิน 100,000 บาท ต่อมานายสอนได้นำที่ดินของตนมาจำนองเพื่อประกันหนี้รายนี้ ดังนี้หากที่ดินของนายสอนซึ่งมีราคา 80,000 บาท และมีต้นสักราคา 80,000 บาท ของนายกิ่งปลูกอยู่บนที่ดินของนายสอน ซึ่งต่อมาต้นสักดังกล่าวถูกปลวกกินเสียหายหมดกรณีหนึ่ง กับอีกกรณีหนึ่งที่ดินของนายสอน ซึ่งมีราคาเท่าเดิมคือ 80,000 บาท และมีบ้านไม้สักราคา 80,000 บาท ของนายกิ่งอยู่บนที่ดินของนายสอน ซึ่งต่อมาถูกไฟไหม้ทั้งหลัง ดังนี้ ทั้งสองกรณีนายสิงเจ้าหนี้สามารถที่จะบังคับจำนองได้ทันทีหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา 718 จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้
มาตรา 720 จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดิน ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น
มาตรา 723 ถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองบุบสลาย หรือถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญหายหรือบุบสลาย เป็นเหตุให้ไม่เพียงพอแก่การประกันไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเสียในทันทีก็ได้ เว้นแต่เมื่อเหตุนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของผู้จำนอง และผู้จำนองก็เสนอจะจำนองทรัพย์สินอื่นแทนให้มีราคาเพียงพอหรือเสนอจะรับซ่อมแซมแก้ไขความบุบสลายนั้นภายในเวลาอันสมควรแก่เหตุ
วินิจฉัย
การที่นายสอนนำที่ดินของตน ซึ่งมีราคา 80,000 [ท มาจำนองประกันหนี้เงินกู้ยืมของนายกิ่งเป็นเงิน 100,000 บาท ตามมาตรา 702 โดยมีต้นสักราคา 80,000 บาท ของนายกิ่งปลูกอยู่บนที่ดินของนายสอนด้วย การจำนองที่ดินของนายสอนครอบไปถึงต้นสักของนายกิ่ง ซึ่งเป็นทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนองด้วย ตามนัยแห่งมาตรา 718 ดังนั้นเมื่อต้นสักซึ่งเป็นทรัพย์จำนองบุบสลายเพราะถูกปลวกกินเสียหายหมด เป็นเหตุให้ไม่เพียงพอแก่การประกัน ผู้รับจำนองจึงมีสิทธิบังคับจำนองได้ทันทีตามมาตรา 723
ส่วนในกรณีที่นายสอนเอาที่ดินราคา 80,000 บาท ของตนมาจำนองตามมาตรา 702 โดยมีบ้านเรือนไม้สักราคา 80,000 บาท ของนายกิ่งอยู่บนที่ดินดังกล่าวของนายสอนด้วย การจำนองที่ดินดังกล่าวย่อมไม่ครอบไปถึงบ้านของนายกิ่ง ตามมาตรา 718 ประกอบมาตรา 720 จึงมีเพียงที่ดินเท่านั้นที่เป็นทรัพย์จำนองเมื่อบ้านถูกไฟไหม้จึงไม่ทำให้ทรัพย์จำนอง(ที่ดิน) ลดราคาลงแต่อย่างใด เพราะบ้านเป็นคนละเจ้าของกับที่ดิน ดังนั้นนายสิงจึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับจำนองได้
สรุป กรณีแรกนายสิงบังคับจำนองทันทีได้ แต่ในกรณีที่สองไม่อาจบังคับจำนองได้
3 ก ได้ซื้อโทรทัศน์ไปจากนาย ข เป็นราคา 10,000 บาท โดยให้เงินไว้ 5,000 บาท ที่เหลือเชื่อไว้ก่อนอีก 10 วันจึงจะนำเงินที่เหลือมาให้ กรณีหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง ก ได้ซื้อโทรทัศน์ไปจาก ข โดยทำสัญญาเช่าซื้อ มีระยะเวลา 6 เดือน โดยจ่ายเงินดาวน์ไว้ 2,000 บาท และเดือนต่อๆไป จะจ่ายอีกเดือนละ 2,000 บาท ทั้งสองกรณีนี้ ถ้า ก ได้นำโทรทัศน์ไปจำนำได้หรือไม่ และผู้เป็นเจ้าของจะติดตามเอาทรัพย์คืนจะต้องเสียค่าไถ่หรือไม่ ให้ท่านอธิบายถึงความแตกต่างและสิทธิของแต่ละกรณีมาพอสังเขปด้วย (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบในการตอบด้วย)
ธงคำตอบ
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ
มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
วินิจฉัย
ในกรณีแรกนั้นเป็นเรื่องของการซื้อขาย เรียกการซื้อขายชนิดนี้ว่า “การซื้อขายเชื่อ หรือการซื้อขายเงินผ่อน” เข้าลักษณะของสัญญาซื้อขายตามหลักทั่วไปในมาตรา 453 ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในโทรทัศน์ดังกล่าวจึงโอนไปยังผู้ซื้อแล้วตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน ตามมาตรา 458 โดยผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาท่ากับว่าผู้ซื้อเป็นเข้าของทรัพย์สินที่ซื้อแล้ว ดังนั้น ก มีสิทธิที่จะนำโทรทัศน์เครื่องดังกล่าวไปจำนำได้ตามมาตรา 747 และในเวลาไถ่ทรัพย์จำนำคืน ก ก็ต้องเสียค่าไถ่ด้วย
ส่วนกรณีที่สอง เป็นเรื่องของการเช่าซื้อตามหลักกฎหมาย มาตรา 572 กรรมสิทธิ์จึงยังไม่โอนไปยังผู้เช่าซื้อ จนกว่าจะได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว แต่ผู้เช่าซื้อคงมีสิทธิครอบครอง ผู้ให้เช่าซื้อจึงเป็นเจ้าของที่แท้จริง ดังนี้ ก ไม่มีสิทธินำโทรทัศน์เครื่องดังกล่าวไปจำนำ ตามมาตรา 747 เพราะการจำนำตามกฎหมายเฉพาะผู้เป็นเจ้าของเท่านั้นที่จะจำนำได้ ดังนั้น ข ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงจึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ ตามมาตรา 1336 โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่
สรุป กรณีแรก ก มีสิทธินำไปจำนำได้ และต้องเสียค่าไถ่
กรณีที่สอง ก ไม่มีสิทธินำไปจำนำ และถ้าผู้เป็นเจ้าของจะติดตามเอาทรัพย์คืนก็ไม่ต้องเสียค่าไถ่