การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเอกทำสัญญากู้เงินนายโทเป็นเงิน  70,000  บาท  ขณะทำสัญญาเงินกู้  นายเอกได้จดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า  50,000 บาท  ไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้รายนี้  หลังจากนั้นนายโทได้จดทะเบียนปลดจำนองให้นายเอก  อีก  2  วันต่อมานายตรีได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือโดยขอรับผิดร่วมกับนายเอกลูกหนี้ชั้นต้น  ต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชำระหนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1)    นายตรีจะอ้างให้นายโทเจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอากับที่ดินของนายเอกได้หรือไม่

2)    นายตรีจะอ้างเรื่องการปลดจำนองเพื่อขอหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  689  ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม  ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้  และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน

มาตรา  691  ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา  688, 689, และ  690 

มาตรา  697  ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี  จำนองก็ดี  จำนำก็ดี  และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

การที่นายเอกทำสัญญากู้เงินนายโทเป็นเงิน  70,000  บาท  ขณะทำสัญญากู้เงินนายเอกได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน  มูลค่า  50,000  บาท  ไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้รายนี้  หลังจากนั้นนายโทได้จดทะเบียนปลดจำนองให้นายเอก  อีก  2  วัน  ต่อมานายตรีได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือโดยขอรับผิดร่วมกับนายเอก  ลูกหนี้ชั้นต้น  ต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชำระหนี้

1)    นายตรีจะอ้างให้นายโทเจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอากับที่ดินของนายเอกได้หรือไม่  เห็นว่า  นายตรีผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันโดยรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้  จึงหมดสิทธิที่จะเรียกให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนตามมาตรา  688 – 690  ดังนั้นนายตรีจึงไม่มีสิทธิเกี่ยงให้นายโทเจ้าหนี้บังคับเอากับที่ดินของนายเอกลูกหนี้ชั้นต้นก่อนได้  ตามมาตรา  691  ประกอบมาตรา  689

2)    นายตรีจะอ้างเรื่องการปลดจำนองเพื่อขอหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่  เห็นว่าขณะที่นายตรีผู้ค้ำประกันได้เข้าทำสัญญาค้ำประกัน  หนี้ประธานคือหนี้เงินกู้ไม่มีทรัพย์สินใดเป็นหลักประกัน  จึงไม่ใช่กรณีที่เพราะการกระทำของนายโทเจ้าหนี้เป็นเหตุให้นายตรีผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้  เนื่องจากไม่มีหลักประกันใดที่นายตรีจะรับช่วงสิทธิอยู่ในขณะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  697

สรุป 

1 )  นายตรีไม่มีสิทธิเกี่ยง  ตามมาตรา  689  ประกอบมาตรา  691

2 )  นายตรีไม่อาจอ้าง  มาตรา  697  เพื่อหลุดพ้นจากความรับผิดได้

 

ข้อ  2  จงอธิบายถึงการครอบของจำนองซึ่งครอบไปทุกสิ่ง  และการครอบของจำนองซึ่งครอบไปทุกส่วนพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  716  จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง  แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน

มาตรา  717  แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม  ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง

ถึงกระนั้นก็ดี  ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย  ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลดจากจำนองก็ให้ทำได้  แต่ความยินยอมดังว่านี้หากมิได้จดทะเบียน   ท่านว่าจะยกเอาเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกหาได้ไม่

อธิบาย    การจำนองครอบทุกสิ่ง   ตามมาตรา  716  หมายถึง  การนำทรัพย์หลายสิ่งหรือหลายชิ้นมาจำนองเป็นประกันหนี้รายเดียวกัน  หากมิได้มีการตกลงกันตามมาตรา  710  สิทธิจำนองย่อมครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินซึ่งจำนองทุกสิ่ง  แม้ลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วน  โดยหากมิได้มีการชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวดๆและจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงปลดเอาทรัพย์สินสิ่งใดออกจากการจำนอง  การจำนองยังครอบไปถึงทรัพย์สินทุกสิ่งอยู่นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น  ก  กู้เงิน  ข  1  ล้านบาท  โดยจำนองที่ดินกับเครื่องจักรเป็นประกัน  ต่อมาแม้ว่า  ก  จะชำระหนี้ไปแล้ว  9  แสนบาท  เหลือหนี้อยู่เพียง  1  แสนบาท  ทั้งที่ดินและเครื่องจักรก็ยังคงติดจำนองอยู่

แต่ถ้ามีข้อตกลงตามมาตรา  710 (2)  คือ  สัญญาจำนองระบุว่าที่ดินจำนองเป็นประกันหนี้  7  แสนบาท  เครื่องจักรประกันหนี้  3  แสนบาท  ในกรณีนี้ผู้จำนองก็มีสิทธิเลือกว่าจะชำระหนี้ส่วนไหนก่อน  ผู้จำนองอาจจะเอาเงิน  3  แสนบาทไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้และขอจดทะเบียนปลดจำนองเครื่องจักรได้  แต่ถ้าไปไม่ได้มีข้อตกลงอย่างใด การชำระหนี้แม้ว่าจะชำระไปจนเหลือเพียง  1  บาท  ก็ยังมีผลทำให้ที่ดินและเครื่องจักรยังติดจำนองทั้งสองรายการ  ลูกหนี้ไม่สามารถขอที่ดินหรือเครื่องจักรคืนหรือนำไปขายโดยปลอดจำนองได้

การจำนองครอบทุกส่วน  ตามมาตรา  717  หมายถึง  การนำทรัพย์สินสิ่งเดียว  แต่ทรัพย์นั้นแบ่งออกได้หลายส่วนตามสภาพของทรัพย์สิน  ซึ่งแต่ละส่วนสามารถนำไปจำนองได้  การจำนองย่อมครอบไปทุกส่วน  แม้ผู้จำนองจะได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วก็ตาม  ลูกหนี้ก็ไม่สามารถจะขอส่วนใดส่วนหนึ่งคืนหรือนำไปขายโดยปลอดจำนองได้

ตัวอย่างเช่น  ก  กู้เงิน  ข  จำนวน  1  ล้านบาท  โดยจำนองโรงน้ำแข็งเป็นประกันเงินกู้  ซึ่งโดยสภาพของโรงน้ำแข็งย่อมประกอบด้วยทรัพย์หลายส่วน  เช่น  เครื่องทำน้ำแข็ง  เครื่องกำเนิดไฟฟ้า  ตัวโรงน้ำแข็งเป็นต้น  หรือจำนองที่ดินจำนวน  10  ไร่เป็นประกันหนี้  ต่อมาปรากกว่ามีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินจำนองออกเป็น  10  ส่วนๆละ  1  ไร่  ตามกฎหมายมาตรา  717  ให้ถือว่าสิทธิจำนองก็ยังคงครอบไปถึงทุกส่วน  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทำน้ำแข็ง  เครื่องกำเนิดไฟฟ้า  ตัวโรงน้ำแข็ง  หรือที่ดินทั้ง  10  ไร่นั้น ถึงแม้ว่าจะมีการชำระหนี้ไปแล้ว  9 แสนบาท  เหลือหนี้เพียง  1  แสนบาทก็ตาม

ข้อสังเกต  กรณีของการจำนองที่ดินตามตัวอย่างข้างต้น  จะต้องเป็นการแบ่งแยกที่ดินภายหลังมีการทำสัญญาจำนองเท่านั้น  หากมีการแบ่งแยกที่ดินจำนองก่อนทำสัญญาจำนองแล้ว  ย่อมเป็นกรณีตามมาตรา  716

 

ข้อ  3  นาย  ก  กู้เงิน  นาย  ข  100,000  บาท  โดยมีนาย  ค  นำแหวนเพชรและ  นาย  ง  นำสร้อยเพชรจำนำไว้เป็นประกันหน้าตามลำดับ  การกู้เงินรายนี้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ  ต่อมานาย  ก  ได้นำเงินมาชำระหนี้ครั้งที่  1  เป็นจำนวนเงิน  30,000  บาท  และครั้งที่ 2  เป็นจำนวนเงิน  40,000  บาท  นาย  ค  ผู้จำนำแหวนเพชรไว้ได้ขอคืนแหวนเพชรโดยอ้างว่าการชำระหนี้บางส่วนของนาย  ก  นั้นคุ้มค่าแล้วให้เหลือแต่สร้อยเพชรของนาย  ง  อย่างเดียวก็คุ้มราคากับหนี้ที่เหลือแล้ว  แต่นาย  ข  ไม่ยอมคืนให้  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  ข้ออ้างของนาย  ค  ฟังขึ้นหรือไม่  และการที่นาย  ข  ไม่ยอมคืนแหวนเพชรให้นาย  ค  นั้น  นาย  ข  มีเหตุผลที่จะอ้างกฎหมายใดในการไม่คืนแหวนเพชรนั้น

ธงคำตอบ 

มาตรา  758  ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วน

วินิจฉัย

ตามหลักมาตรา  758  ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วน  อนึ่งการจำนำนั้นมีลักษณะคล้ายสิทธิยึดหน่วง  แม้จะได้รับชำระหนี้แล้วบางส่วนหนี้ที่เหลือก็ยังคงผูกพันทรัพย์สินที่จำนำทั้งหมด  โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าทรัพย์สินจำนำที่ยึดได้จะมีราคามากกว่าหนี้ที่ยังค้างชำระหรือไม่  กรณีตามอุทาหรณ์เมื่อมีทรัพย์จำนำไว้หลายสิ่งและผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนไปแล้วก็จะขอเอาทรัพย์ที่จำนำบางสิ่งกลับคืนโดยผู้รับจำนำไม่ยินยอมไม่ได้  ผู้รับจำนำยังมีสิทธิยึดทรัพย์ที่จำนำทั้งหมดได้

สรุป  ข้ออ้างของนาย  ค  ฟังไม่ขึ้น  และการที่นาย  ข  ไม่คืนทรัพย์ให้นาย  ค  ก็โดยอ้างหลักกฎหมายมาตรา  758  ดังกล่าวข้างต้นนี้

Advertisement