การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  จำเลยทำสัญญากู้เงินจากธนาคาร  และจำเลยขอให้โจทย์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากที่โจทก์ฝากไว้แก่ธนาคารเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของจำเลย  โจทก์จึงทำหนังสือมอบสิทธิการรับฝากเงินดังกล่าวแก่ธนาคาร  โดยยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์มาชำระหนี้ได้  ถ้าจำเลยผิดนัดชำระหนี้  ปรากฏต่อมาว่าธนาคารได้หักเงินฝากของโจทก์  เป็นจำนวน  5,000,000  บาท  เพื่อชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยแทนจำเลย  โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชดใช้หนี้จำนวน  5,000,000  บาท แก่โจทก์  อยากทราบว่าการกระทำของโจทก์  จำเลย  และธนาคาร  จัดเป็นสัญญาค้ำประกันตามมาตรา  680  หรือไม่  จงอธิบาย  และมีผลบังคับได้อย่างไรตามกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การที่โจทก์กับธนาคารและจำเลยตกลงกันนี้ถือเป็นความตกลงกันในทางการฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญารูปแบบหนึ่ง  เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารแทนจำเลยตามที่จำเลยร้องขอ  โดยจำเลยรับจะชำระหนี้คืนโจทก์  และธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยก็ยอมรับชำระหนี้แล้ว  จำเลยจึงต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้  กรณีหาใช่เป็นสัญญาค้ำประกันตามมาตรา  680 ไม่  เพราะกรณีของสัญญาค้ำประกันจะต้องเป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกผู้เป็นผู้ค้ำประกันจะรับผิดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้นั้น  โดยมิต้องคำนึงว่ามีสิทธิจะขอหักเงินจากเงินฝากเท่านั้น

สรุป  การกระทำของโจทก์  จำเลย  และธนาคารไม่ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกันตามมาตรา  680

 

ข้อ  2  นางแตงกวาได้จำนองที่ดินของตนกับพระภิกษุอิน  เพื่อเป็นการประกันว่าจะคืนเงินที่ได้ยืมมาจากพระภิกษุอิน  เป็นจำนวน 100,000  บาท  ซึ่งในที่ดินดังกล่าวได้มีบ้านซึ่งปลูกไว้แล้ว  แต่เป็นของนายแตงไทพี่สาวของนายแตงกวา  ต่อมานางแตงกวาได้ปลูกบ้านของตนขึ้นภายหลังวันจำนอง  ดังนี้

1       การจำนองเพื่อประกันเงินกู้ยืมที่พระภิกษุอินปล่อยให้นางแดงกวามีผลเพียงไร

2       การจำนองที่ดินจะครอบถึงทรัพย์อื่นหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  719  จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง  เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

มาตรา  720  จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดิน  ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย  ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น

วินิจฉัย

1       การจำนองที่ดินของแตงกวาเพื่อประกันเงินกู้ยืมมีผลบังคับทางกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  การทำสัญญาจำนองจะมีผลทางกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อสัญญาซึ่งก่อให้เกิดหนี้หรือหนี้ประธานสมบูรณ์มีผลบังคับทางกฎหมาย  หากสัญญาซึ่งก่อให้เกิดหนี้ตกเป็นโมฆะ  สัญญาจำนองประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันผู้จำนองให้ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน

กรณีตามอุทาหรณ์หนี้ประธาน  เป็นหนี้เงินกู้ยืมพระภิกษุอินเป็นผู้ให้กู้ยืม  มีผลบังคับทางกฎหมาย  เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามมิให้พระภิกษุนำเงินส่วนตัวออกให้บุคคลกู้ยืม  พระภิกษุก็เป็นบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย  ทั้งการให้กู้ยืมเงินเป็นการสงเคราะห์ผู้เดือดร้อนได้ทางหนึ่ง  จึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ไม่เป็นโมฆะ

ดังนั้นเมื่อสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานมีผลสมบูรณ์  ไม่ตกเป็นโมฆะ  การจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ประกันการชำระหนี้จึงสมบูรณ์  มีผลบังคับทางกฎหมายได้  ตามมาตรา  702

2       การจำนองที่ดินจะครอบถึงทรัพย์อื่นหรือไม่  เห็นว่ากรณีตามอุทาหรณ์มีทรัพย์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินจำนอง  2  สิ่ง  คือ  บ้านของนางแตงกวา  และบ้านของนางแตงไท  ดังนั้น

บ้านของนางแตงกวา  เป็นบ้านซึ่งอยู่ติดกับที่ดินที่สร้างขึ้นภายหลังวันจำนอง  จำนองย่อมไม่ครอบไปถึงด้วย  ตามมาตรา  719

ส่วนบ้านของนางแตงไท  จำนองย่อมไม่ครอบไปถึงด้วยเช่นกัน  ตามมาตรา  720  เพราะเป็นบ้านซึ่งเป็นของคนอื่นที่ได้สร้างลงในที่ดินซึ่งจำนองไว้  โดยไม่คำนึงว่าบ้านนั้นจะสร้างขึ้นก่อนหรือขณะจำนองหรือภายหลังวันจำนอง

สรุป

1       การจำนองมีผลสมบูรณ์

2       การจำนองไม่ครอบไปถึงบ้านทั้งสองหลังดังกล่าว

 

ข้อ  3  นาย  A  ทำสัญญากู้เงิน  3  ล้านบาทจากนาย  B  โดยมีนาย  C  ส่งมอบเครื่องเพชรไว้เป็นจำนำประกันหนี้สัญญาเงินกู้  ต่อมาหนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนดชำระ  นาย  A  ผิดนัดไม่ชำระหนี้  นาย  B  ก็มิได้ฟ้องเรียกร้องให้นาย  A  ชำระหนี้เงินกู้  แต่นาย  B  ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนำไปยังนาย  A  และนาย  C  แต่ทั้งสองก็มิได้ชำระหนี้  นาย  B  จึงนำเครื่องเพชรของนาย  C  ออกขายทอดตลาดชำระหนี้  เช่นนี้  ถ้าขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้เงินกู้  3  ล้านบาท  นาย  A  และนาย  C  จะต่อสู้ในเรื่องต่อไปนี้ได้หรือไม่

1       การบังคับจำนำไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ฟ้องร้องต่อศาล

2       การที่เงินขาดจำนวนไม่พอชำระหนี้เงินกู้ 3  ล้านบาท  ไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดอยู่

ธงคำตอบ

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

การที่นาย  A  ทำสัญญากู้เงิน  3  ล้านบาท  ไปจากนาย  B  โดยมีนาย  C  นำเครื่องเพชรมาส่งมอบไว้เป็นการจำนำประกันหนี้เงินกู้  ต่อมานาย  A  ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้นาย  B  เจ้าหนี้ผู้รับจำนำจึงมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนำไปยังนาย  A  (ลูกหนี้)  และนาย  C  (ผู้จำนำ)  แต่ทั้งสองก็มิได้นำเงินมาชำระหนี้เงินกู้  นาย  B  (ผู้รับจำนำ)  จึงนำเครื่องเพชรที่รับจำนำออกขายทอดตลาด  จึงชอบที่จะกระทำได้เพราะ  มาตรา  764  มีหลักว่าถ้ามีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนำแล้ว  ถ้าลูกหนี้ยังไม่นำเงินมาชำระหนี้ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนำ  เจ้าหนี้ก็ชอบที่จะนำทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้ประธานได้  ดังนั้นข้ออ้างของนาย  A  และนาย  C  ที่ว่าการบังคับจำนำไม่ชอบเพราะไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลให้นำทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดจึงฟังไม่ขึ้นเพราะการบังคับจำนำไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาลตามมาตรา  764

ส่วนกรณีที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนำแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามมาตรา  767  มีหลักว่าถ้าขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้  ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่  ดังนั้นเมื่อขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้  นาย  A  ลูกหนี้จึงยังคงต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่ตามมาตรา  767  แต่นาย  C  ผู้จำนำไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่  เพราะมิใช่เป็นลูกหนี้ชั้นต้น  ดังนั้น  นาย  A  จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าตนไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ขาดอยู่เพราะนาย  A  เป็นลูกหนี้ชั้นต้น  เมื่อนาย  B  เจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้เงินไม่พอชำระหนี้เงินกู้  3  ล้านบาท  นาย  A  ลูกหนี้จึงต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอยู่  แต่นาย  C  ผู้จำนำสามารถอ้างได้ว่าไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดอยู่เพราะนาย  C  เป็นเพียงผู้จำนำมิใช่เป็นลูกหนี้ชั้นต้น  จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามมาตรา  767

สรุป 

1 ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น  เพราการบังคับจำนำไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาลตามมาตรา  764

2  ข้ออ้างของนาย  A  ฟังไม่ขึ้น  แต่ของนาย  C  สามารถรับฟังได้  เพราะนาย   C  มิใช่เป็นลูกหนี้ชั้นต้นตามมาตรา  767

Advertisement