การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  มีกรณีใดบ้างที่เป็นการระงับไปซึ่งสัญญาค้ำประกันให้ท่านอธิบายมาสัก  2  กรณี  พร้อมทั้งอ้างหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  698  อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ

มาตรา  699  การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้นท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้  โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้

ในกรณีเช่นนี้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้

มาตรา  700  ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ  ณ  เวลามีกำหนดแน่นอน  และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด

แต่ถ้าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา  ท่านว่าผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่

มาตรา  701  ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้

อธิบาย

โดยปกติผู้ค้ำประกันจะต้องผูกพันกันตามสัญญาค้ำประกันจนกว่าหนี้จะระงับ  ผู้ค้ำประกันจะบอกเลิกการค้ำประกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมไม่ได้  เว้นแต่จะมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา  แต่หากไม่มีข้อตกลงกันตามสัญญาแล้วสัญญาค้ำประกันอาจระงับสิ้นไปได้โดยดังต่อไปนี้

1       หนี้ประธานระงับ  ถ้าหนี้ประธานระงับสิ้นไป  ไม่ว่าจะเป็นเพราะลูกหนี้ชำระหนี้  เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้  หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่  หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน  เป็นต้น  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด  (มาตรา  698)

2       ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาค้ำประกัน  โดยหลักแล้วผู้ค้ำประกันจะบอกเลิกการค้ำประกันโดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมไม่ได้  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  699  ซึ่งมีหลักเกณฑ์การบอกเลิกการค้ำประกันดังนี้

            ต้องเป็นกิจการเนื่องกันไปหลายๆคราว  มิใช่เป็นกิจการครั้งเดียวเสร็จในครั้งเดียว

            กิจการเนื่องกันไปหลายคราวจะต้องไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้

            ผู้ค้ำประกันจะบอกเลิกได้ก็ต่อเมื่อคราวอันเป็นอนาคตเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม  เจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันอาจจะตกลงกันไว้ในสัญญาห้ามผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญา  แม้กรณีจะต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  699  ก็ได้  เพราะข้อยกเว้นดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

3       เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้  การค้ำประกันหนี้อันมีกำหนดชำระแน่นอน  ถ้าเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้โดยผู้ค้ำประกันไม่รู้เห็นยินยอมด้วย  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด  (มาตรา  700)

ตัวอย่าง  ก  กู้เงิน  ข  เป็นจำนวนเงิน  100,000  บาท  มีระยะเวลา  1  ปี  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำประกัน  เมื่อถึงเวลาชำระหนี้  ข  เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่  ก  ลูกหนี้  โดย  ค  ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย  ค  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  700

4       เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้  ปกติผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนก็ต่อเมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา  686  แม้ลูกหนี้ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด  ผู้ค้ำประกันก็ขอชำระหนี้ได้  ดังนั้นถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและผู้ค้ำประกันของชำระหนี้  แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด  (มาตรา  701)  เป็นผลให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด  ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างที่ผิดนัดตามมาตรา  224  แต่ลูกหนี้ยังไม่พ้นจากการชำระหนี้

ตัวอย่าง  ก  กู้เงิน  ข  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำประกัน  มีระยะเวลา 1  ปี  เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้  ค  จะขอชำระหนี้ให้แก่  ข  แต่  ข  ไม่ยอมรับชำระหนี้  ค  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  701

5       ผู้ค้ำประกันตาย 

            ถ้าผู้ค้ำประกันตายก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้  หรือก่อนลูกหนี้ผิดนัด  สัญญาค้ำประกันระงับ

            ถ้าผู้ค้ำประกันตายหลังจากที่หนี้ถึงกำหนดชำระ  และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้  สัญญาค้ำประกันยังไม่ระงับ  ความผูกพันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตกทอดไปยังทายาทตามมาตรา  1600

 

ข้อ  2  นายเอกทำสัญญากู้เงินจากนายโท  เป็นจำนวน  5,000,000  บาท  โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้  ต่อมาราคาที่ดินของนายเอกมีราคาต่ำลงนายโทเกรงว่าจะไม่พอชำระหนี้เงินกู้  จึงมีจดหมายส่งไปถึงนายเอกขอให้นายเอกมาทำข้อตกลงเพิ่มเติมว่า  ถ้าหากบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้เงินกู้  นายเอกจะยอมรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่เหลือ  เมื่อนายเอกได้รับจดหมายของนายโท  จึงตอบตกลงทางโทรศัพท์ไปยังนายโท  โดยทั้งสองตกลงว่าจะนำข้อตกลงเพิ่มเติมไปจดทะเบียนในอีก  2  วัน  แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว  นายเอกก็ไม่จดทะเบียนข้อตกลงเพิ่มเติมในโฉนดที่ดิน  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  หากต่อมานายโทบังคับจำนองที่ดินได้เงินไม่พอชำระหนี้ยังขาดเงินอยู่อีก  1,000,000  บาท  นายเอกต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  714  อันสัญญาจำนองนั้น  ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา  733  ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด  และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี  หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

วินิจฉัย

สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  714  สัญญาจำนองคือสัญญาที่ผู้จำนองนำทรัพย์สินไปตราไว้เป็นประกันกับเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง  โดยให้ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนอง  ก่อนเจ้าหนี้สามัญคนอื่นของผู้จำนองตามมาตรา  702 

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อทำสัญญาจำนองและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว  ย่อมมีผลทางกฎหมายตามมาตรา  714  แม้ต่อมาจะทำข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาจำนองว่า  ถ้าเอาที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าหนี้ที่ค้างชำระผู้จำนองจะใช้ให้จนครบ  ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ข้อตกลงนี้จึงใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ  และแม้คู่สัญญาจะมิได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็สมบูรณ์ใช้ได้  เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการจำนองที่ดินรายพิพาท  จึงไม่เป็นสัญญาจำนองตามมาตรา  702  เนื่องจากมิได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ส่วนที่เหลือก่อนเจ้าหนี้สามัญ  ดังนั้นจึงไม่ต้องนำไปจดทะเบียนตามมาตรา  714  นายเอกจะอ้างว่าไม่มีการจดทะเบียนเพิ่มเติมข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้ไม่ได้   ฟังไม่ขึ้น  นายเอกต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติมาตรา  733

สรุป  นายเอกต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือ  1,000,000  แก่นายโท

 

ข้อ  3  แดงตกลงมอบเงินฝากในบัญชีธนาคารบีเอสเอ็ม  จำกัด  พร้อมสมุดบัญชีเงินฝากประจำซึ่งมีจำนวน  3  ล้านบาท  โดยได้ทำหนังสือยินยอมมอบเงินฝากไว้กับธนาคารมีข้อความว่า  เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้และธนาคารมีอำนาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากของแดง  โดยที่แดงจะไม่ถอนเงินฝากจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน  ต่อมาเจ้าหนี้อีก  2  รายของแดงได้ฟ้องให้แดงชำระหนี้และขอให้นำเงินฝากในบัญชีธนาคารดังกล่าวจัดสรรเป็นการชำระหนี้  ธนาคารไม่ยอมโดยอ้างว่าข้อตกลงระหว่างแดงและธนาคารเป็นการจำนำเงินฝาก  ธนาคารจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินฝากก่อนเจ้าหนี้รายอื่น  อยากทราบว่าข้ออ้างของธนาคารรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

วินิจฉัย

ตามหลักกฎหมายลักษณะจำนำกำหนดให้มีการส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำดังนี้  ทรัพย์ที่จะจำนำจะต้องหลุดพ้นจากการครอบครองของผู้จำนำด้วยจึงจะเป็นการจำนำ  ส่วนการจำนำเงินฝากตามใบรับฝากเงินนั้น  เงินที่ฝากไว้กับธนาคารตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร  ซึ่งธนาคารต้องมีหน้าที่คืนเงินให้ครบตามจำนวนที่ฝากไว้  การมอบเงินฝากพร้อมสมุดบัญชีประจำไว้ก็เพียงเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่ผู้ฝากจะพึงมีต่อธนาคารเท่านั้น  แม้จะมีข้อความว่าเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้และให้สิทธิธนาคารในการหักเงินถือเป็นความตกลงในการฝากเงินเพื่อประกัน  ส่วนเงินตามจำนวนในบัญชีเงินฝากนั้นยังคงเป็นของผู้ฝาก

 ตามปัญหาการตกลงดังกล่าวของแดงที่มอบเงินฝาก  พร้อมสมุดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคาร  เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้และธนาคารมีอำนาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากของแดง  โดยที่แดงจะไม่ถอนเงินฝากจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน  จึงไม่ใช่เป็นการจำนำเงินฝาก  ธนาคารจึงไม่มีสิทธิได้รับการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนำแต่ประการใด

สรุป  ข้ออ้างของธนาคารฟังไม่ขึ้น

Advertisement