การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายเอกทำสัญญากู้เงินจำนวน 80,000 บาท จากนายโท โดยมีนายตรีเข้าทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อสัญญากู้ถึงกำหนดชำระ นายโทไม่ได้เรียกร้องให้นายเอกชำระหนี้ เพราะเห็นว่ากิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ของนายเอกกำลังประสบภาวะขาดทุน อีก 9 ปีต่อมา นายโทได้เรียกร้องให้นายเอกรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ นายเอกได้ทำการชำระหนี้ให้นายโทโดยการออกเช็คสั่งจ่ายเนื่องจากไม่มีเงินในบัญชี นายโทจึงนำเช็คไปคืนให้นายเอกและเรียกร้องให้ชำระหนี้
มิฉะนั้นจะนำคดีมาฟ้อง นายเอกจึงอ้างว่าตนนำเงินไปเข้าบัญชีไม่ทันและออกเช็คฉบับใหม่ให้นายโทไป ซึ่งเช็คฉบับใหม่นี้ก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีก นายโทจึงฟ้องนายเอกและนายตรีให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน นายตรีต่อสู้คดีว่า นายโทยอมผ่อนเวลาในการชำระหนี้ให้แก่นายเอก ตนจึงหลุดพ้นจากความรับผิด ข้ออ้างของนายตรีรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น
มาตรา 700 ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด
แต่ถ้าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา ท่านว่าผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่
วินิจฉัย
การที่ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะเหตุที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ต้องเป็นกรณีที่หนี้ประธานมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน และเจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้ว่าภายในกำหนดเวลาที่ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้จะไม่ฟ้องหรือเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ประธานนั้น ตามมาตรา 700
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า การที่สัญญากู้ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้ไม่เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่า กรณีดังกล่าวการที่นายโทไม่เรียกร้องให้นายเอกรับผิดชำระหนี้ในทันทีที่หนี้ถึงกำหนดเวลาชำระโดยไม่มีการตกลงกับนายเอกว่าจะผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นายเอก จึงถือไม่ได้ว่านายโทผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นายเอก อันจะทำให้นายตรีหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 700
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า การที่นายเอกออกเช็คชำระหนี้ให้นายโท 2 ครั้ง เมื่อนายโทเรียกร้องให้นายเอกชำระหนี้ ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่ากรณีนี้ก็หาถือได้ว่านายโทตกลงผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่นายเอก อันจะทำให้นายตรีผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ ดังนั้นนายตรีจึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 700
สรุป ข้ออ้างของนายตรีผู้ค้ำประกันรับฟังไม่ได้ นายตรียังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามมาตรา 686 ประกอบมาตรา 700
ข้อ 2 นางบุญล้นยืมเงินนายฉอ้อนเป็นเงิน 100,000 บาท การยืมเงินครั้งนี้มีนายบุญมากเป็นคนนำที่ดินของตนจำนองประกันหนี้รายนี้ ซึ่งที่ดินของนายบุญมากนี้เป็นที่ดินซึ่งมีการจดทะเบียนภารจำยอมอยู่ก่อนแล้ว หลังจากจดทะเบียนจำนองได้ 10 วัน นายบุญมากนำที่ดินแปลงเดิมไปจำนองค้ำประกันกู้เงินของตนกับแบงก์รัตนสิน โดยนายฉอ้อนเจ้าหนี้ไม่ยินยอม ดังนี้ อยากทราบว่านายฉอ้อนจะเพิกถอนนิติกรรมต่างๆ ที่ติดอยู่กับที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 709 บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้
มาตรา 712 แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้
มาตรา 722 ถ้าทรัพย์สินได้จำนองแล้ว และภายหลังที่จดทะเบียนจำนองมีจดทะเบียนภาระจำยอมหรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่น โดยผู้รับจำนองมิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าสิทธิจำนองย่อมเป็นใหญ่กว่าภาระจำยอม หรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่นนั้น หากว่าเป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้รับจำนองในเวลาบังคับจำนอง ก็ให้ลบสิทธิที่กล่าวหลังนั้นเสียจากทะเบียน
วินิจฉัย
นายฉอ้อนเจ้าหนี้ของนางบุญล้นไม่มีสิทธิใดตามกฎหมายที่จะเพิกถอนนิติกรรมที่เกี่ยวกับที่ดินติดจำนองของนายบุญมากดังเหตุผลต่อไปนี้คือ
1 การที่นายบุญมากได้นำที่ดินที่มีภารจำยอมอยู่แล้วไปจำนองค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ภารจำยอมซึ่งมีอยู่ก่อนการจำนองไม่สามารถเพิกถอนภารจำยอมได้ตามมาตรา 722 ต้องถือว่าผู้รับจำนองยอมรับตามเงื่อนไขนั้นแล้ว
2 ส่วนที่นายบุญมากได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนการเช่าเป็นเวลา 5 ปี การเช่าถือได้ว่าเป็นบุคคลสิทธิ ไม่ถือเป็นภาระจำยอมหรือทรัพย์สินอย่างอื่น จึงไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตามมาตรา 722
3 กรณีที่นายบุญมากนำที่ดินแปลงเดิมไปจำนองค้ำประกันเงินกู้ของตนกับแบงก์รัตนสินโดยนายฉอ้อนไม่ยินยอมด้วย เป็นการจำนองตามมาตรา 712 ถือว่าเจ้าของคือนายบุญมากมีสิทธิที่จะทำได้ นายฉอ้อนจึงไม่สามารถที่จะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้
ข้อ 3 นาย ก เป็นเจ้าของโชว์รูมขายรถยนต์ นาย ก ได้สั่งรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นมาขายในประเทศไทยจำนวน 10 คัน เมื่อรถยนต์ทั้ง 10 คันมาถึงประเทศไทยแล้วก็ได้ฝากรถยนต์ทั้ง 10 คันนั้นไว้ในคลังสินค้าที่ท่าเรือคลองเตย นาย ก ต้องการใช้เงินด่วนจึงได้นำใบประทวนสินค้าเรียกว่า “สิทธิซึ่งมีตราสาร” ไปจำนำไว้กับนาย ข โดยได้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการจำนำตราสิทธิไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วทุกประการ หลังจากนั้นห้าวัน นาย ก ได้นำรถยนต์ออกจากคลังสินค้าจำนวน 6 คันเพื่อนำไปขาย
ให้ท่านวินิจฉัยว่า นาย ก มีสิทธิที่จะนำรถยนต์ นั้นไปขายหรือไม่ และการกระทำของนาย ก เช่นว่านี้เป็นผลให้นาย ข ผู้รับจำนำได้รับความเสียหายหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 750 ถ้าทรัพย์สินที่จำนำเป็นสิทธิซึ่งมีตราสาร และมิได้ส่งมอบตราสารนั้นให้แก่ผู้รับจำนำ ทั้งมิได้บอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งการจำนำแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้นด้วยไซร้ ท่านว่าการจำนำย่อมเป็นโมฆะ
มาตรา 755 ถ้าจำนำสิทธิ ท่านห้ามมิให้ทำสิทธินั้นให้สิ้นไป หรือแก้ไขสิทธินั้นให้เสียหายแก่ผู้รับจำนำโดยผู้รับจำนำมิได้ยินยอมด้วย
วินิจฉัย
ตามปัญหา นาย ก เจ้าของรถยนต์สามารถนำใบประทวนสินค้าซึ่งเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารไปจำนำได้โดยมีสิทธิตามมาตรา 750 อีกทั้งได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจำนำครบถ้วนตามระเบียบแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 755 มีหลักว่า ห้ามมิให้ทำสิทธินั้นให้สิ้นไปหรือแก้ไขสิทธินั้นให้เสียหาย โดยผู้รับจำนำมิได้ยินยอมด้วย การกระทำของนาย ก เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 755 โดยนำรถยนต์จำนวน 6 คันออกจากคลังสินค้าไปขาย ซึ่งทำให้นาย ข ผู้รับจำนำใบตราสารนั้นต้องเสียหาย นาย ก จึงต้องรับผิดในผลแห่งการเสียหายนั้นต่อนาย ข ผู้รับจำนำ