การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2010 (LA 210),(LW 302)

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายอรรถทำสัญญากู้เงินนายอิงค์  เป็นเงิน  3,000,000  บาท  โดยนายอ่ำได้ส่งมอบเครื่องเพชรมูลค่า  2,000,000  บาท  ให้นายอิงค์ไว้เป็นประกันการกู้เงินของนายอรรถ  ต่อมาอีก  3  วัน  นายอุ๊ได้ทำหลักฐานสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ส่งมอบให้นายอิงค์ไว้อีกฉบับหนึ่งโดยที่นายอรรถไม่ทราบ  หลังจากที่นายอุ๊ได้ทำสัญญาค้ำประกันแล้ว  นายอรรถได้จดทะเบียนจำนองที่ดินมูลค่า  3  ล้านบาท ไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของตนด้วย  หากต่อมาปรากฏว่าก่อนหนี้เงินกู้จะถึงกำหนดนายอิงค์ได้ปลดจำนองให้นายอรรถไป  โดยเห็นว่าหนี้เงินกู้ของนายอรรถมีหลักประกันเพียงพอแล้ว  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1  ถ้าหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระและนายอรรถผิดนัด   นายอิงค์มาเรียกร้องให้นายอุ๊รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน  นายอุ๊จะเกี่ยงให้นายอิงค์ไปบังคับจำนำเครื่องเพชรของนายอ่ำที่นำมาจำนำ  และให้ไปบังคับจำนองที่ดินที่นายอรรถนำมาจำนองเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินของนายอรรถเสียก่อน  แล้วจึงมาเรียกร้องให้ตนรับผิดจะกระทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

2  ถ้านายอรรถผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้  นายอุ๊จะอ้างเหตุที่นายอิงค์ทำการปลดจำนองที่ดินที่นายอรรถนำมาจำนอง  เพื่อขอหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  686  ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด  ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  697  ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี  จำนองก็ดี  จำนำก็ดี  และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

การที่นายอุ๊เข้าทำสัญญาค้ำประกันกู้เงินของนายอรรถให้แก่นายอิงค์โดยที่นายอรรถลูกหนี้ชั้นต้นไม่ทราบหรือไม่ยินยอม  ก็ถือว่าการค้ำประกันมีผลผูกพันนายอุ๊ผู้ค้ำประกันแล้ว  เพราะการค้ำประกันเป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกเข้าแสดงเจตนาต่อเจ้าหนี้  เพื่อจะชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้ประธาน  ตามมาตรา  680  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  686

1       ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในประการแรก  มีว่า  นายอุ๊ผู้ค้ำประกันจะใช้สิทธิในการเกี่ยงตามาตรา  690  ได้หรือไม่  เห็นว่ากรณีที่จะใช้สิทธิในการเกี่ยงตามาตรา  690  ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีทรัพย์สินของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันวางชำระหนี้ประธาน  แต่กรณีตามปัญหา  นายอ่ำบุคคลภายนอกได้ส่งมอบเครื่องเพชรของตนเองเพื่อเป็นประกันการกู้เงินของนายอรรถ  ดังนั้น  นายอุ๊ผู้ค้ำประกันจึงไม่มีสิทธิเกี่ยงให้นายอิงค์เจ้าหนี้ไปบังคับจำนำเครื่องเพชรของนายอ่ำบุคคลภายนอกก่อนได้  เพราะมิใช่หลักประกันที่เป็นทรัพย์ของนายอรรถลูกหนี้ชั้นต้น

ส่วนกรณีที่ดินที่นายอรรถได้จำนองไว้  ก็ไม่มีอยู่ในฐานะที่หนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระแล้ว เพราะนายอิงค์เจ้าหนี้ได้ปลดจำนองให้นายอรรถผู้จำนองไปแล้วจึงทำให้การจำนองระงับ  นายอิงค์เจ้าหนี้จึงมิได้มีทรัพย์สินของนายอรรถ  ลูกหนี้ชั้นต้นยึดถือไว้เป็นประกันอีกต่อไป  ดังนั้น นายอุ๊ผู้ค้ำประกันจึงไม่มีสิทธิเกี่ยงได้อีกต่อไปตามมาตรา  690

2       ประเด็นสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยมีว่า   นายอุ๊จะหลุดพ้นเพราะเหตุที่นายอิงค์ทำการปลดจำนองที่ดินให้นายอรรถหรือไม่  เห็นว่าตามมาตรา  697  ตอนท้าย  มีหลักว่า  ถ้าเจ้าหนี้ทำให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในหลักประกันที่เกิดขึ้นก่อนหรือขณะที่ผู้ค้ำประกันเข้าทำการค้ำประกันแล้ว  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น  ดังนั้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายอรรถได้จำนองที่ดินไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้  ภายหลังจากที่นายอุ๊ได้เข้าค้ำประกันแล้ว  แม้นายอิงค์เจ้าหนี้จะปลดจำนองให้นายอรรถเป็นเหตุให้นายอุ๊ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ก็ตาม  ก็ไม่ทำให้นายอุ๊หลุดพ้นจากความรับผิด  เพราะการจำนองของนายอรรถเกิดขึ้นหลังจากที่นายอุ๊เข้าทำการค้ำประกันแล้ว  จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติ มาตรา  697

สรุป 

1       นายอุ๊  ผู้ค้ำประกันไม่อาจเกี่ยงให้นายอิงค์เจ้าหนี้ไปบังคับจำนำเครื่องเพชรของนายอ่ำและบังคับจำนองที่ดินของนายอรรถที่เคยจำนองไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ได้ตามมาตรา 690

2       นายอุ๊  ผู้ค้ำประกันไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะเหตุที่นายอิงค์เจ้าหนี้ทำให้นายอุ๊ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ตามมาตรา  697

 

ข้อ  2  นางอินนภาให้เงินนางเพ็ญจักรยืมเป็นเงิน  10,000  บาท  โดยมีนายอาเจ็กจำนองที่ดินของตนเป็นประกันการยืมเงินรายนี้ตามกฎหมาย  ในการยืมเงินครั้งนี้นางอินนภาเจ้าหนี้ได้ตกลงกับนางเพ็ญจักรว่าให้ชำระหนี้  ณ  วันที่  31  ธันวาคม  ครั้นเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวนางเพ็ญจักรไม่มีเงินชำระหนี้จึงโทรศัพท์มาบอกนางอินนภาเจ้าหนี้ว่าตนไม่มีเงิน  หากมีเงินเมื่อไรจะรีบนำมาให้  นางอินนภารับทราบว่าลูกหนี้ไม่มีเงินจ่าย  แต่ก็ปล่อยปละละเลยไม่ได้ฟ้อง  ดังนี้  นายอาเจ็ก  ผู้จำนองจะหลุดพ้น จากการจำนองหรือไม่  หากตนไม่รู้ถึงข้อตกลงทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในระหว่างที่ทั้งสองตกลงกัน  (นายอาเจ๊กเพิ่งมารู้ทีหลัง)

ธงคำตอบ

มาตรา  700  ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ  ณ  เวลามีกำหนดแน่นอน  และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด

แต่ถ้าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา  ท่านว่าผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  727  ถ้าบุคคลคนเดียวจำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตรา  697, 700 และ  701  ว่าด้วยค้ำประกันนั้นบังคับอนุโลมตามควร

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ตามมาตรา  700  ประกอบมาตรา  727  ที่กำหนดให้ผู้จำนองหลุดพ้นจากความรับผิด  เพราะเหตุที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้  ประกอบด้วยสาระสำคัญ  3  ประการ

1       ต้องเป็นหนี้ที่กำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน  ถ้าเป็นหนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระแน่นอนจะมีการผ่อนเวลาไม่ได้

2       ต้องมีการตกลงยอมผ่อนเวลาโดยชัดแจ้ง  และทั้งเจ้าหนี้ต้องยินยอมด้วย

3       ถ้าผู้จำนองตกลงด้วยในการผ่อนเวลาย่อมไม่หลุดพ้น

เมื่อหนี้ระหว่างนางอินนภาและนางเพ็ญจักร์  ซึ่งเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระแน่นอนในวันที่  31  ธันวาคม  ถึงกำหนดชำระแล้ว  ลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้จึงโทรศัพท์มาบอกอินนภาว่าไม่มีเงินหากมีเงินเมื่อไรจะรีบนำมาให้  โดยนางอินนภาก็รับทราบ  แต่ก็ปล่อยปละละเลยไม่ได้ฟ้อง  เช่นนี้  ไม่ถือว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ตามมาตรา  700  เพราะเป็นเพียงแต่ตกลงด้วยวาจาเท่านั้น  ไม่ชัดแจ้ง  จึงไม่ผูกพันเจ้าหนี้  ผู้จำนองจึงยังไม่หลุดพ้นจากความผิด  ตามมาตรา  700  ประกอบมาตรา  727 

อีกทั้งการที่เจ้าหนี้ไม่ฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ก็ไม่ใช่เป็นการขยายระยะเวลาการชำระหนี้หรือผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ แต่เป็นเพียงการปล่อยปละละเลยไม่ฟ้องเท่านั้น  นายอาเจ๊กผู้จำนองจึงไม่หลุดพ้นจากการจำนอง  แม้ว่านายอาเจ๊กจะไม่รู้ถึงข้อตกลงระหว่างนางอินนภาและนางเพ็ญจักรก็ตาม

สรุป  นายอาเจ๊กผู้จำนองไม่หลุดพ้นจากการจำนอง

 

ข้อ  3  นาย  ก  กู้เงิน  นาย  ข    เป็นจำนวนเงิน  50,000  บาท  โดยนำสร้อยคอทองคำหนัก  5  บาท  ไปจำนำไว้เป็นประกันหนี้โดยมีข้อตกลงกันว่า  หากถึงกำหนดชำระหนี้ไม่มีเงินไปชำระ  ให้นาย  ข  ผู้รับจำนำเป็นเจ้าของทรัพย์สิน  คือ  สร้อยคอนั้น  หรือให้นาย  ข  จัดการแก่ทรัพย์สินที่รับจำนำเป็นประการใดก็ได้ที่นาย  ข  ต้องการ  เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามที่สัญญากู้เงินกันเมื่อวันที่  1  มกราคม  2549  มีระยะเวลา  1  ปี  เมื่อครบ  1  ปี  นาย  ข  ได้ยึดสร้อยคอนั้นเป็นของตนเสีย  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  ข้อตกลงในสัญญาฉบับนี้สมบูรณ์หรือไม่อย่างไร  กรณีที่หนึ่ง

กรณีที่สอง  หากสัญญาฉบับดังกล่าวนี้  นาย  ก  กับ  นาย  ข  ตกลงกันเมื่อหนี้ถึงกำหนดแล้วว่า  ให้ทรัพย์สินที่จำนำเป็นของผู้รับจำนำ  หรือ  ให้ผู้รับจำนำสร้อยคอไปร้านขายทองนำเงินมาชำระหนี้โดยไม่ต้องขายทอดตลาด  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  ข้อตกลงในสัญญาฉบับดังกล่าวนี้สมบูรณ์หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  756  การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า  ถ้าไม่ชำระหนี้  ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนำ  หรือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่น  นอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำนั้นไซร้  ข้อตกลงเช่นนั้น  ท่านว่าไม่สมบูรณ์

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

วินิจฉัย

กรณีที่หนึ่ง  การที่นาย  ก  และนาย  ข  ตกลงกันว่า  หากถึงกำหนดชำระหนี้  ไม่มีเงินไปชำระให้นาย  ข  ผู้รับจำนำเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ  หรือให้นาย  ข  จัดการแก่ทรัพย์สินที่รับจำนำเป็นประการใดก็ได้ที่นาย  ข  ต้องการนั้น  เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย  ต้องห้ามตามมาตรา  756  เพราะเป็นการตกลงกันล่วงหน้าระหว่างผู้รับจำนำกับผู้จำนำ  ก่อนเวลาที่หนี้ถึงกำหนดชำระ  ข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะ

กรณีที่สอง  หากนาย  ก  กับนาย  ข  ตกลงกันเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วว่า  ให้ทรัพย์สินที่จำนำเป็นของผู้รับจำนำ  หรือ  ให้ผู้รับจำนำสร้อยคอไปขายร้านทองนำเงินมาชำระหนี้โดยไม่ต้องขายทอดตลาด”  กล่าวคือ  ไม่ต้องขายทอดตลาดตามมาตรา  764  วรรคสอง  ย่อมสามารถกระทำได้  เป็นข้อตกลงที่ไม่ต้องห้ามตามมาตรา  756  เพราะเป็นข้อตกลงกันภายหลังที่หนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และถือเป็นข้อตกลงที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้

 สรุป

กรณีที่หนึ่ง  ข้อตกลงไม่สมบูรณ์  เป็นโมฆะ

กรณีที่สอง  ข้อตกลงสมบูรณ์  ใช้บังคับได้    

Advertisement