การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นางแตงกวาเป็นหญิงเสเพล ได้ขอยืมเงินนายอินเป็นเงิน 100,000 บาท เพื่อเอาไปเลี้ยงเหล้าเพื่อนของตน โดยมีนายมะระน้องชายนำที่ดินพร้อมบ้านของตนที่อยู่บนดอยปุยซึ่งอยู่ห่างไกลจากความเจริญมาจำนำนายอินไว้ บ้านดังกล่าวมีราคาประมาณ 1,000,000 บาท ต่อมาเกิดไฟไหม้ป่าขึ้นบ้านเสียหาย มูลค่าลดลงไป 900,000 บาท นายอินเห็นว่าบ้านเสียหายมาก ตนเองจะเสียหายจึงจะบังคับจำนองในทันที ดังนี้ นายอินจะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา 723 ถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองบุบสลาย หรือถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญหายหรือบุบสลาย เป็นเหตุให้ไม่เพียงพอแก่การประกันไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเสียในทันทีก็ได้ เว้นแต่เมื่อเหตุนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของผู้จำนอง และผู้จำนองก็เสนอจะจำนองทรัพย์สินอื่นแทนให้มีราคาเพียงพอหรือเสนอจะรับซ่อมแซมแก้ไขความบุบสลายนั้นภายในเวลาอันสมควรแก่เหตุ
วินิจฉัย
การที่นางแตงกวายืมเงินนายอิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ประธานไปซื้อเหล้า ถือว่าหนี้ประธานเป็นหนี้ที่ไม่ขัดต่อความสวบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี จึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อหนี้ประธานสมบูรณ์ตามกฎหมาย การที่นายมะระได้นำที่ดินพร้อมบ้านของตนมาจำนองนายอินไว้ การจำนองย่อมสมบูรณ์เช่นเดียวกันตามมาตรา 702 ส่วนเรื่องความเสียหายของทรัพย์จำนองที่มูลค่าลดลงไปถึง 900,000 บาทนั้น การเสียหายของทรัพย์จำนองดังกล่าวยังไม่เสียหายถึงขนาดที่จะบังคับจำนองได้ทันที ตามมาตรา 723 เพราะยังมีมูลค่าเหลืออยู่อีก 100,000 บาท จึงเพียงพอที่จะประกันการชำระหนี้ที่เหลืออยู่ได้
สรุป นายอินจะบังคับจำนองทันทีไม่ได้
ข้อ 2 แดงกู้เงินเขียว โดยตกลงทำสัญญากันถูกต้อง หลังจากนั้นแดงได้นำแหวนของตนเองและมีเหลืองนำสร้อยคอมาวางเป็นการจำนำไว้กับเขียว โดยที่เขียวตกลงรับแหวนและสร้อยคอเป็นหลักประกันการกู้เงิน เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระเขียวได้โทรศัพท์ขอให้แดงชำระหนี้ แดงไม่ชำระหนี้ เขียวจึงนำแหวนและสร้อยคอออกขายทอดตลาด แดงจึงมาปรึกษาท่านว่าการกระทำของเขียวถูกต้องหรือไม่ ในการนำทรัพย์ของแดงและเหลืองออกขายทอดตลาด
ธงคำตอบ
มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
มาตรา 764 เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น
ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด
อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย
วินิจฉัย
แดงกู้เงินเขียว และได้มอบแหวนของตนเองและมีเหลืองมอบสร้อยคอให้เขียวไว้ ถือเป็นการจำนำประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมตามมาตรา 747 แต่การที่เขียวจะนำทรัพย์ที่จำนำออกขายทอดตลาดนั้น จะต้องปรากฏว่าเขียวได้มีจดหมายบอกกล่าวให้ลูกหนี้คือแดงทำการชำระหนี้เสียก่อน ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ทำการชำระหนี้ ผู้รับจำนำจึงจะมีสิทธินำทรัพย์ที่จำนำออกขายทอดตลาดได้
ตามปัญหาปรากฏว่า เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระเขียวเพียงแต่โทรศัพท์บอกให้แดงชำระหนี้เท่านั้น แต่มิได้มีจดหมายบอกกล่าว จึงต้องถือว่าเขียวมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่มาตรา 764 วางหลักเกี่ยวกับการบังคับจำนำไว้
สรุป การกระทำของเขียวในการนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดจึงยังไม่ถูกต้องตามมาตรา 764
ข้อ 3 ในวันที่ 30 มกราคม 2545 นายเอกทำสัญญากู้เงินจำนวน 50,000 บาท จากนายโท โดยนายเอกตกลงว่าจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แก่นายโทจนกว่าหนี้จะถึงกำหนดในวันที่ 20 สิงหาคม 2549 ซึ่งในการกู้ยืมเงินครั้งนี้นายเอกได้ส่งมอบเครื่องอบผลไม้ไฟฟ้าไว้เป็นประกันการกู้เงินแก่นายโทด้วย โดยนายเอกตกลงให้นายโทสามารถเอาออกให้ผู้อื่นเช่าได้ ในวันที่ 3 ตุลาคม 2545 นายโทจึงได้นำไปให้นายหนึ่งเช่าโดยคิดค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาททุกเดือน เมื่อนายโทได้รับค่าเช่าจากนายหนึ่งทุกสิ้นเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 เป็นต้นมา ก็ได้นำค่าเช่าดังกล่าวมาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ที่นายเอกต้องชำระแก่นายโท ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า การที่นายโทเจ้าหนีกระทำเช่นนี้ ชอบด้วยกฎหมายจำนำหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 749 คู่สัญญาจำนำจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ก็ได้
มาตรา 760 ถ้าผู้รับจำนำเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกใช้เอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเก็บรักษาโดยผู้จำนำมิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนำจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจำนำนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
มาตรา 761 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจากทรัพย์สินนั้นอย่างไร ท่านให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ท่านให้จัดสรรใช้เงินต้นแห่งหนี้อันได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น
วินิจฉัย
ในการจำนำคู่สัญญาจะตกลงให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินที่จำนำได้ และเมื่อผู้จำนำยินยอม ผู้รับจำนำมีสิทธินำทรัพย์จำนำออกให้บุคคลภายนอกใช้สอยได้ ตามมาตรา 749 ประกอบมาตรา 760 และเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วเจ้าหนี้ผู้รับจำนำมีสิทธินำดอกผลนิตินัยที่เกิดจากทรัพย์จำนำมาชำระดอกเบี้ยได้ และถ้าดอกเบี้ยไม่มีให้นำมาจัดสรรชำระหนี้เงินต้นได้
หนี้ตามสัญญากู้ระหว่างนายเอกและนายโทถึงกำหนดชำระในวันที่ 20 สิงหาคม 2549 ดังนั้นแม้จะมีค่าเช่าเกิดขึ้นจากการที่นายโทเจ้าหนี้นำเครื่องอบผลไม้ไฟฟ้าออกให้นายหนึ่งเช่าโดยได้รับความยินยอมจากนายเอกผู้จำนำก็ตาม ตามมาตรา 749 ประกอบมาตรา 760 ซึ่งสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่นายโทเจ้าหนี้หามีสิทธินำค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยดังกล่าวมาจัดสรรชำระหนี้ดอกเบี้ยตามสัญญากู้เพราะหนี้ดอกเบี้ยยังไม่ถึงกำหนดชำระ ตามมาตรา 761 (ให้จัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระเท่านั้น)
สรุป การที่นายโทเจ้าหนี้นำเครื่องอบผลไม้ไฟฟ้าออกให้เช่าเป็นการกระทำโดยชอบตามมาตรา 749 ประกอบมาตรา 760 แต่การนำค่าเช่าที่เก็บตั้งแต่ตุลาคม 2545 เป็นต้นมา นำมาชำระค่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้ไม่สามารถทำได้เพราะค่าดอกเบี้ยยังไม่ถึงกำหนดชำระ ตามมาตรา 761