การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 แดงเป็นหนี้เขียวมีหลักฐานถูกต้องตามกฎหมาย แดงได้นำที่ดินจดจำนองเป็นประกันกับเขียว พร้อมกับมีม่วงเป็นผู้ค้ำประกัน แต่สัญญาค้ำประกันนั้นเป็นการกระทำระหว่างนายเขียวกับม่วง โดยแดงไม่รู้เห็นด้วย และมีการลงลายมือชื่อเพียงนายม่วงคนเดียว เมื่อหนี้ถึงกำหนด แดงชำระหนี้ไม่ได้ เขียวจึงฟ้องขอให้ม่วงชำระ ม่วงบ่ายเบี่ยงว่าแดงไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญาและมีการลงลายมือชื่อตนเพียงคนเดียว ตนจึงไม่ต้องรับผิด และขณะเดียวกันเขียวมีที่ดินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว ตนจึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด อยากทราบว่าข้ออ้างของม่วงทั้งหมดรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น
มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ม่วงทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของแดงกับเขียว โดยที่แดงไม่รู้เห็นด้วย และมีการลงลายมือชื่อเพียงนายม่วงคนเดียวนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง เพราะสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องให้ลูกหนี้รู้เห็นหรือลงลายมือชื่อด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและปรากฏว่าแดงชำระหนี้ไม่ได้ เขียวย่อมฟ้องเรียกให้ม่วงผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนแดงได้ตามมาตรา 686 ดังนั้น ข้ออ้างของม่วงที่ว่าแดงไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญา และมีการลงลายมือชื่อตนเพียงคนเดียว และขณะเดียวกันเขียวมีที่ดินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว ตนจึงไม่ต้องรับผิดนั้นจึงรับฟังไม่ได้
แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า แดงได้นำที่ดินไปจดจำนองเป็นประกันกับเขียว ซึ่งถือเป็นการจำนองที่ถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา 702 และมาตรา 714 จึงถือเป็นกรณีที่เขียวเจ้าหนี้มีทรัพย์ของแดงลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน ดังนั้น ม่วงผู้ค้ำประกันจึงสามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งแดงนำมาจำนองไว้เป็นประกันได้ตามมาตรา 690
สรุป ข้ออ้างของม่วงที่ว่าแดงไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญา และมีการลงลายมือชื่อตนเพียงคนเดียว และขณะเดียวกันเขียวมีที่ดินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว ตนจึงไม่ต้องรับผิดนั้นรับฟังไม่ได้ แต่ม่วงสามารถบ่ายเบี่ยงให้เขียวชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งนำมาจำนองไว้เป็นประกันได้
ข้อ 2 นายกรุงเทพขอนำที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งนายกรุงเทพมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายนคร จดทะเบียนประกันหนี้รายหนึ่งกับนายลำปางเจ้าหนี้ อยากทราบว่านายกรุงเทพจะจำนองที่ดินนี้ได้หรือไม่ และมีผลประการใด ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา 705 การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่
มาตรา 706 บุคคลมีกรรมสิทธ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น
มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย บุคคลที่สามารถจะนำทรัพย์สินไปจำนองได้นั้น กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำนองนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาจจะเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง หรือเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น (มาตรา 705) แต่อย่างไรก็ตามหากบุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่อยู่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด เช่น เป็นเจ้าของที่ดินแต่ที่ดินนั้นมีภาระจำยอม หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั้น บุคคลนั้นจะจำนองทรัพย์สินนั้นได้ก็แต่ภายใต้เงื่อนไขเช่นนั้นด้วย (มาตรา 706)
กรณีตามอุทาหรณ์ นายกรุงเทพจะจำนองที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่ และมีผลประการใดนั้น เห็นว่า เมื่อนายกรุงเทพเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ย่อมสามารถนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กับนายลำปางได้ตามมาตรา 705 โดยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 702 และมาตรา 714 และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ปรากฏว่านายนครมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายกรุงเทพในที่ดินแปลงนี้ด้วย ดังนั้น การจำนองที่ดินแปลงนี้จึงมีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายกรุงเทพเท่านั้นตามมาตรา 706
สรุป นายกรุงเทพจำนองที่ดินแปลงนี้ได้ แต่มีผลเฉพาะที่ดินส่วนของนายกรุงเทพเท่านั้น
ข้อ 3 นายปูเป็นหนี้เงินกู้นายปลา 5 ล้านบาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง นายนกได้นำ TV จอแบนราคา 2 ล้านบาท ซึ่งนำเข้าจากอเมริกามาส่งมอบวางเป็นประกันกับนายปลาแทนนายปู แต่ไม่ได้จดทะเบียนอะไร เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายปูชำระหนี้ไม่ได้ นายปลาจึงมาปรึกษาท่านว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีการบังคับการชำระหนี้จาก TV ดังกล่าว และหากได้เงินไม่พอจะเรียกร้องการชำระหนี้ได้จากใครบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
มาตรา 764 เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น
ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด
อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย
มาตรา 767 เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น
ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น
วินิจฉัย
ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น บทบัญญัติมาตรา 747 มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว
ส่วนในกรณีผู้จำนำนั้นจะเป็นตัวลูกหนี้เองหรือบุคคลอื่นนำทรัพย์มาเป็นประกันการชำระหนี้ก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์สินมาจำนำประกันหนี้ของตนเองเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือ ผู้จำนำจะต้องเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ
กรณีตามอุทาหรณ์ การกู้เงินระหว่างนายปูกับนายปลามีหลักฐานการกู้ถูกต้อง จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ (มาตรา 653 วรรคแรก) และการที่นายนกได้นำ TV จอแบนมาส่งมอบวางเป็นประกันการชำระหนี้กับนายปลาแทนนายปูนั้น ย่อมสามารถทำได้ เพราะแม้นายนกจะเป็นบุคคลภายนอก แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้จำนำทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นแต่อย่างใด และเมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับผู้รับจำนำแล้ว จึงถือเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา 747 และมีผลสมบูรณ์ แม้จะมิได้ทำหลักฐานประการใดเลยก็ตาม
ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ และนายปูชำระหนี้ไม่ได้ นายปลาเจ้าหนี้ย่อมสามารถบังคับจำนำกับ TV จอแบนของนายนกได้ โดยนายปลาต้องดำเนินการตามมาตรา 764 คือ ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังนายปูลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้านายปูละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว นายปลาชอบที่จะเอา TV จอแบนซึ่งจำนำออกขายได้โดยการขายทอดตลาดตามมาตรา 764 และหากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้นไม่พอที่จะชำระหนี้ที่นายปูค่างนายปลาอยู่ นายปลาก็สามารถเรียกร้องการชำระหนี้เอาจากนายปูลูกหนี้ในหนี้ส่วนที่เหลือนั้นได้ตามมาตรา 767 วรรคสอง
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายปลาตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น