การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายกรุงเทพเป็นหนี้เงินกู้นายเหลืองผ่องจำนวน  5  ล้านบาท  โดยมีนายแดงแจ๋เป็นผู้ค้ำประกัน  มีหลักฐานการกู้เงินและการค้ำประกันถูกต้องตามกฎหมาย  นายเหลืองผ่องเกรงว่าเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ทั้งนายกรุงเทพและนายแดงแจ๋จะชำระหนี้ไม่ครบ  จึงขอให้นายกรุงเทพหาหลักประกันเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นมามอบไว้  นายกรุงเทพจึงนำโฉนดที่ดินของนายต่างจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจำนวน  20  ไร่  ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครนายกมาให้นายเหลืองผ่องยึดถือไว้เป็นประกัน

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายกรุงเทพชำระหนี้ไม่ได้  ส่วนนายแดงแจ๋อ้างว่าเมื่อนายต่างจังหวัดนำโฉนดที่ดินให้นายกรุงเทพยึดถือไว้แล้ว  จึงขอให้นายเหลืองผ่องบังคับการชำระหนี้จากที่ดินนั้นได้  ตนจึงหลุดพ้นไม่ต้องรับผิด  อยากทราบว่าข้ออ้างของนายแดงแจ๋รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  680  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 686 ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  714  อันสัญญาจำนองนั้น  ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นถ้าได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย  และมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี  ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชำระหนี้เอาจากลูกหนี้และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา  680  และในส่วนของผู้ค้ำประกันอาจจะบ่ายเบี่ยงขอให้เจ้าหนี้บังคับเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ตามมาตรา  690  คือเมื่อเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน  และการเรียกนั้นได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย  เช่น  ในกรณีทรัพย์ที่เป็น ประกันไว้เป็นที่ดินก็จะต้องได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  714  ด้วย

ตามอุทาหรณ์  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายกรุงเทพซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้  นายเหลืองผ่องเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกให้นายแดงแจ๋ชำระหนี้ได้ตามมาตรา  686  และการที่นายแดงแจ๋อ้างว่าเมื่อนายต่างจังหวัดนำโฉนดที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้แล้วก็ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากที่ดินนั้นตามมาตรา  690  ข้ออ้างของนายแดงแจ๋รับฟังไม่ได้  ทั้งนี้เพราะที่ดินที่นายเหลืองผ่องยึดถือไว้นั้นไม่ใช่ที่ดินของลูกหนี้  อีกทั้งการที่มีการเอาที่ดินมายึดถือไว้เป็นประกันนั้นก็มิได้กรทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด  คือไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  714  แต่อย่างใด

สรุป  ข้ออ้างของนายแดงแจ๋รับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  นายแดงต้องการช่วยเหลือนายดำซึ่งเป็นลูกหนี้นายขาวเป็นจำนวนเงิน  10  ล้านบาท  แต่นายแดงมีเพียงที่ดินจำนวน  5  ไร่  ราคา 2  ล้าน  5  แสนบาท  จึงขอนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นหลักประกันกับนายขาว  โดยจดทะเบียนจำนองระบุที่ดินเปล่า  5  ไร่  ราคา  2  ล้าน  5  แสนบาท  หลังจากจดทะเบียนจำนองแล้ว  ปรากฏว่านายแดงทำการค้าขายได้เงินกำไรเป็นจำนวน  10 ล้านบาท  จึงนำเงินดังกล่าวไปปลูกบ้านในที่ดินที่จดทะเบียนจำนอง  เมื่อหนี้เงินกู้ของนายดำและนายขาวถึงกำหนดชำระ  นายขาวขอบังคับจำนองโดยมีจดหมายบอกให้นายดำชำระหนี้  และหากชำระหนี้ไม่ได้ก็ขอขายทอดตลาดทั้งที่ดินและบ้านที่ปลูกสร้างหลังการจดทะเบียนจำนองเพื่อนำเงินที่ขายได้ทั้งหมดมาชำระหนี้เงินกู้  10  ล้านบาท  อยากทราบว่า  นายขาวมีสิทธิ์ขายทั้งที่ดินและบ้าน  และนำเงินที่ขายได้ทั้งหมดมาชำระหนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  702  อันว่าจำนองนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนอง  เป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา  709  บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ก็ให้ทำได้

มาตรา  719  จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง  เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

แต่กระนั้นก็ดี  ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้  แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงต้องการช่วยเหลือนายดำซึ่งเป็นลูกหนี้นายขาว  จึงนำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นหลักประกันกับนายขาว  การจดทะเบียนจำนองดังกล่าวถึงแม้เป็นที่ดินเป็นของนายแดง บุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้  ก็ย่อมกระทำได้ตามมาตรา  702  ประกอบมาตรา  709

และโดยหลักแล้ว  การจำนองย่อมไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง  เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นไว้โดยเฉพาะในสัญญาให้ครอบไปถึง  อย่างไรก็ดี  ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้  แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น  (มาตรา  719)

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังวันจำนองนายแดงได้ปลูกบ้านในที่ดินที่จดทะเบียนจำนอง  เมื่อหนี้เงินกู้ของนายดำและนายขาวถึงกำหนดชำระ  นายขาวก็ประสงค์จะบังคับจำนองโดยมีจดหมายบอกให้นายดำชำระหนี้และหากชำระหนี้ไม่ได้  ก็ขอขายทอดตลาดทั้งที่ดินและบ้านที่ปลูกภายหลังวันจำนอง  ดังนี้  นายขาวสามารถขายที่ดินพร้อมบ้านได้แต่จะนำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดไม่ได้  จะนำไปได้แต่เพียงราคาที่ดินเท่านั้น  ตามมาตรา  719  วรรคสอง

สรุป  นายขาวสามารถขายที่ดินพร้อมบ้านได้แต่จะนำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดไม่ได้  จะนำไปชำระหนี้ได้แต่เพียงราคาที่ดินเท่านั้น

 

ข้อ  3  นายฟ้ากู้เงินนายดินจำนวน  2  ล้านบาท  โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้อง  ขณะเดียวกัน  นายฟ้าได้นำทองคำหนัก  100  บาท  คิดเป็นเงิน  1  ล้านแปดแสนบาท  มาให้กับนายดินเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้  โดยมิได้ทำหลักฐานการจำนำแต่อย่างไร  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายดินได้จดหมายเรียกให้นายฟ้าชำระหนี้  แต่นายฟ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้  นายดินจึงนำทองคำออกขายทอดตลาด  ปรากฏว่าราคาทองคำตกต่ำลงมาก  ทำให้นายดินขายทองได้เงินเพียง  1  ล้านบาท  อยากทราบว่า  นายฟ้าจะยังคงต้องรับผิดในหนี้เงินที่เหลืออีก  1 ล้านบาทหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายฟ้านำทองคำมาจำนำกับนายดิน  เมื่อการจำนำดังกล่าวมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ย่อมทำให้สัญญาจำนำสมบูรณ์  มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย  และในกรณีที่มีการบังคับจำนำนั้นนายดินก็ได้กระทำถูกต้องตามมาตรา  764  คือ  มีจดหมายบอกให้ลูกหนี้ทำการชำระหนี้และมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำ  และตามมาตรา  767  ได้กำหนดไว้ว่า  เมื่อมีการบังคับจำนำโดยเอาทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดแล้ว  หากได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั่นเอง  ดังนั้น  เมื่อนำทองออกขายทอดตลาดได้เพียง  1  ล้านบาท  นายฟ้าจึงต้องรับผิดในหนี้ที่ยังเหลืออยู่อีก  1  ล้านบาทตามมาตรา  767  วรรคสอง

สรุป  นายฟ้าต้องรับผิดในหนี้ที่ยังเหลืออยู่อีก  1  ล้านบาท

Advertisement