การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายรัตภูมิเจ้าของเหมืองแร่ต้องการขยายกิจการจึงไปขอกู้เงินจากนายสิงหนครจำนวน 20 ล้านบาท มีหลักฐานการกู้เงินถูกต้องพร้อมกับนำที่ดิน 1 แปลง จดทะเบียนจำนองกับนายสิงหนคร ต่อมากิจการเหมืองแร่เริ่มขาดทุนนายรัตภูมิเกรงว่านายสิงหนครจะไม่เชื่อใจ จึงไปขอร้อง น.ส.ระโนด ซึ่งเป็นคนรักให้ช่วยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ 20 ล้านบาทนี้ด้วย น.ส.ระโนดจึงตกลงกับนายรัตภูมิ โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือมีใจความว่า “หากนายรัตภูมิไม่สามารถชำระหนี้ได้ น.ส.ระโนดจะเป็นผู้ชำระหนี้แทน” พร้อมกับลงลายมือชื่อทั้งนายรัตภูมิและ น.ส.ระโนด เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายรัตภูมิไม่สามารถชำระหนี้ได้ น.ส.ระโนดจึงมาปรึกษาท่านว่า สัญญาที่ตนเองทำกับนายรัตภูมิเป็นสัญญาค้ำประกันตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
การจะพิจารณาว่าสัญญาที่ทำนั้นเป็นสัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 680 หรือไม่ มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1 ผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลภายนอกสัญญาประธานหรือหนี้ประธาน
2 ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ (หนี้ในทางแพ่ง)
3 บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
สำหรับหลักเกณฑ์ประการที่ 3 นี้หมายถึง บุคคลภายนอกสัญญาประธานหรือหนี้ประธาน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเข้าทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ในสัญญาประธานหรือหนี้ประธานเพื่อเข้าชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ชั้นต้นตามสัญญาประธานหรือหนี้ประธานไม่ชำระหนี้นั้น ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าลูกหนี้ชั้นต้นจะรู้เห็นยินยอมหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาผูกพันตนโดยตรงกับเจ้าหนี้เท่านั้น ถ้าไปทำสัญญากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ สัญญานั้นไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน
กรณีตามอุทาหรณ์ หนี้ประธาน คือ หนี้เงินกู้จำนวน 20 ล้านบาท มีนายสิงหนครเป็นเจ้าหนี้ และนายรัตภูมิเป็นลูกหนี้ ดังนั้นการที่ น.ส.ระโนดบุคคลภายนอกตกลงกับนายรัตภูมิลูกหนี้ว่า “หากนายรัตภูมิไม่สามารถชำระหนี้ได้ น.ส.ระโนดจะเป็นผู้ชำระหนี้แทน” ลงลายมือชื่อทั้งนายรัตภูมิและ น.ส.ระโนดนั้น แม้จะได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อระโนดเป็นสำคัญก็ตาม แต่เมื่อ น.ส.ระโนด บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาผูกพันตนกับลูกหนี้ มิใช่เจ้าหนี้ตามมูลหนี้ประธาน สัญญาที่ทำนั้นย่อมไม่ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 680 วรรคแรก
แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาที่ทำกันระหว่างนายรัตภูมิและ น.ส.ระโนด ก็ถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ใช้บังคับระหว่างคู่กรณีได้ตามกฎหมาย (ฎ. 489/2537)
สรุป สัญญาระหว่างนายรัตภูมิและ น.ส.ระโนดไม่เป็นสัญญาค้ำประกัน ตามมาตรา 680
ข้อ 2 น.ส.มะลิ กู้เงินนายสะตอจำนวน 5 ล้านบาท โดยมีหลักฐานการกู้เงินถูกต้อง และมีนายมะละกอนำที่ดินราคา 10 ล้านบาท มาให้นายสะตอจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันการกู้เงิน โดยมีข้อสัญญาว่า ขอให้ชำระหนี้เป็นจำนวน 10 งวด แต่ขาดส่งงวดใด ที่ดินที่นำมาจดทะเบียนตกเป็นสิทธิของนายสะตอทันที อยากทราบว่า นายมะละกอจะนำที่ดินของตนเองมาจำนองแทน น.ส.มะลิได้หรือไม่ และข้อสัญญาที่ทำไว้มีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา 709 บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้
มาตรา 711 การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง หรือว่าได้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นอย่างใดนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์
มาตรา 713 ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาจำนอง ท่านว่าผู้จำนองจะชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวดๆก็ได้
วินิจฉัย
สัญญาจำนองนั้น เป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้จำนอง” เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับจำนอง” เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นายมะละกอจะนำที่ดินของตนมาจำนองแทน น.ส.มะลิได้หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 709 ให้สิทธิบุคคลคนหนึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระได้ ดังนั้นแม้นายมะละกอจะเป็นบุคคลภายนอก มิใช่ลูกหนี้ ก็มีสิทธินำที่ดินของตนมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้แทน น.ส.มะลิลูกหนี้ได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ข้อสัญญาระหว่างนายมะละกอและนายสะตอที่ว่าขอให้ชำระหนี้เป็นจำนวน 10 งวด แต่ขาดส่งงวดใด ที่ดินที่นำมาจดทะเบียนตกเป็นสิทธิของนายสะตอทันทีนั้น มีผลใช้บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่ เห็นว่า แม้มาตรา 713 จะบัญญัติให้ผู้จำนองจะชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวดๆได้ ถ้าไม่มีข้อตกลงห้ามเป็นอย่างอื่นก็ตาม แต่การจะตกลงก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระว่า “ขาดส่งงวดใด ให้ที่ดินที่นำมาจดทะเบียนจำนองตกเป็นสิทธิของนายสะตอเจ้าหนี้ทันที” ซึ่งเป็นการตกลงจัดการทรัพย์สินเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับจำนองนั้น ไม่อาจกระทำได้ ต้องห้ามตามมาตรา 711 หากมีการฝ่าฝืน “ข้อสัญญานั้นไม่สมบูรณ์” ไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย แต่ในส่วนสัญญาจำนองยังคงสมบูรณ์ ไม่เสียไป เพียงแต่หาก น.ส.มะลิผิดนัดไม่ชำระหนี้ นายสะตอจะนำข้อสัญญานั้นมาฟ้องร้องให้บังคับคดีตามข้อตกลงนั้นไม่ได้
สรุป นายมะละกอนำที่ดินของตนมาจำนองแทน น.ส.มะลิได้ และข้อสัญญาที่ทำไว้นั้นไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
ข้อ 3 นายแกงขอกู้เงินจากนายขนมจีน จำนวน 2,000 บาท โดยมิได้ทำหลักฐานการกู้ยืมแต่ประการใด นายแกงจึงนำทองรูปพรรณแต่เป็นของเทียมซึ่งมีราคาเพียง 600 บาท มาส่งมอบให้นายขนมจีนเป็นการจำนำ โดยที่นายแกงไม่รู้ว่าทองนั้นเป็นของปลอม อยากทราบว่า การจำนำที่นายแกงกระทำดังกล่าวเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ และมีผลตามกำหมายหรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายแกงและนายขนมจีนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้มิได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืม ตามมาตรา 653 วรรคแรกก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เพราะกรณีนี้เป็นการกู้ยืมเงินกันไม่เกิน 2,000 บาท ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา 653 วรรคแรก
สำหรับสัญญาจำนำ เป็นสัญญาระหว่างผู้จำนำตกลงกับเจ้าหนี้ โดยส่งมอบสังหาริมทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้ ซึ่งผู้จำนำจะเป็นตัวลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกก็ได้ แต่บุคคลผู้เข้าทำสัญญาจำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินจึงจะเข้าทำสัญญาจำนำได้ นอกจากนี้สัญญาจำนำไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับสัญญาจำนอง สัญญาจำนำนั้นย่อมสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินจำนำ และทรัพย์สินที่จะนำมาจำนำได้ก็ต้องเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า นายแกงลูกหนี้นำทองรูปพรรณซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์และตนเองเป็นเจ้าของมาส่งมอบให้นายขนมจีนเจ้าหนี้เป็นการจำนำประกันการชำระหนี้ สัญญาจำนำย่อมเกิดขึ้นแล้ว ตามมาตรา 747 แม้นายขนมจีนจะไม่รู้ว่าเป็นของปลอม สัญญาจำนำดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย ส่วนกรณีทรัพย์สินที่นำมาจำนำเป็นของปลอม แล้วจะเรียกให้ลูกหนี้นำทรัพย์สินซึ่งเป็นของแท้มาแทนได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เป็นคนละเรื่องกับความสมบูรณ์หรือการเกิดมีขึ้นของสัญญาจำนำ
สรุป การกระทำของนายแกงเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย