การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  กู้เงิน  ข  100,000  บาท  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำ  ต่อมามี  ง  มาเป็นผู้ค้ำเพิ่ม  ก  ผิดนัดชำระหนี้  ข  จึงฟ้องให้  ค  ชำระหนี้  ค ต่อสู้ว่า  เมื่อมีผู้ค้ำมาเพิ่มภายหลัง  ผู้ค้ำคนแรกต้องหลุดพ้น  ดังนี้  ข้ออ้างของ  ค  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง  จากโจทย์ข้างต้น  เมื่อ  ค  โดนบังคับชำระหนี้ไปแล้ว  ค  จะไล่เบี้ยเอาจาก  ง  ผู้ค้ำด้วยกันได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  291  ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง  หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันร่วมกัน

วินิจฉัย

ในเรื่องการค้ำประกันนั้น  ถ้ามีผู้ค้ำประกันหลายคนในหนี้รายเดียวกัน  แม้จะไม่ได้ค้ำประกันร่วมกัน  ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  ซึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งหรือจะฟ้องทั้งหมดก็ได้  ดังนั้น  แม้เดิมจะมีผู้ค้ำประกันอยู่ก่อนแล้ว  ต่อมามีผู้ค้ำทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันอีก  การเพิ่มจำนวนผู้ค้ำประกันขึ้น  ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันคนเดิมพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใด  (มาตรา 291  ประกอบมาตรา  682  วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  100,000  บาท  โดยมี  ค  เป็นผู้ค้ำประกัน  แล้วต่อมามี  ง  มาเป็นผู้ค้ำเพิ่มนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ก  ผิดนั้นชำระหนี้  ข  ดังนี้  ผู้ค้ำประกันคือ  ค  และ  ง  ย่อมต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม  แม้ว่า  ง  จะเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันเพิ่มในภายหลังก็ตาม  ดังนั้นข้ออ้างของ  ค  ที่ต่อสู้ว่าเมื่อมีผู้ค้ำมาเพิ่มภายหลัง  ผู้ค้ำคนแรกต้องหลุดพ้นจึงฟังไม่ขึ้นตามมาตรา  291 ประกอบมาตรา  682  วรรคสอง  (ฎ. 500/2507)

ส่วนอีกประการหนึ่ง  แม้หนี้รายนี้จะมีผู้ค้ำประกัน  2  คน  เมื่อผู้ค้ำคนหนึ่งได้ชำระหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้ไปแล้ว  ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาจากผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งได้กึ่งหนึ่ง  (ฎ. 359/2509)  โดยใช้หลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ  ดังนั้น  เมื่อ  ค  โดนบังคับชำระหนี้ไปแล้ว  ค  จึงสามารถไล่เบี้ยเอาจาก  ง  ผู้ค้ำด้วยกันได้

สรุป  ข้ออ้างของ  ค  ฟังไม่ขึ้น  และ  ค  สามารถไล่เบี้ยเอาจาก  ง  ผู้ค้ำด้วยกันได้กึ่งหนึ่ง

 

ข้อ  2  แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท  มีเหลือง  เขียว  ขาว  ต่างจำนองที่ดินของตนประกันหนี้รายนี้  นอกจากนี้เหลืองได้จำนองที่ดินแปลงเดียวกันนี้ประกันหนี้อีกหนึ่งล้านบาทไว้กับน้ำเงิน 

ต่อมาดำใช้สิทธิของตนบังคับจำนองจากที่ดินของเหลืองแปลงเดียว  เพราะราคาหนึ่งล้านบาท  ส่วนของเขียวและขาวราคาแปลงละห้าแสนบาท

ดังนี้  เมื่อน้ำเงินมาปรึกษาท่านเรื่องการใช้สิทธิของตนบังคับชำระหนี้  ท่านจะแนะนำน้ำเงินว่าอย่างไร  และน้ำเงินจะได้รับชำระหนี้บ้างหรือไม่  อย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  734  วรรคสาม  แต่ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งแต่เพียงสิ่งเดียวไซร้  ผู้รับจำนองจะให้ชำระหนี้อันเป็นส่วนของตนทั้งหมดจากทรัพย์สินอันนั้นก็ได้ในกรณีเช่นนั้น  ท่านให้ถือว่าผู้รับจำนองคนถัดไปโดยลำดับย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองคนก่อน  และจะเข้าบังคับจำนองแทนที่คนก่อนก็ได้แต่เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองคนก่อนจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆ  ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  734  วรรคสาม  เป็นเรื่องผู้รับจำนองรายแรกรับจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายเดียวของตน  แต่ต่อมาผู้จำนองเอาทรัพย์สินบางสิ่งไปจำนองซ้ำแก่ผู้รับจำนองรายที่สอง  ถ้าผู้รับจำนองรายแรกบังคับจำนองทรัพย์สินเพียงสิ่งเดียว  และเป็นทรัพย์สินที่มีการจำนองซ้ำ  ทำให้ผู้รับจำนองรายที่สองไม่ได้รับชำระหนี้  กฎหมายกำหนดให้ผู้รับจำนองรายที่สองสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองรายแรกได้  เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองรายแรกจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่แดงเป็นหนี้ดำ  1  ล้านบาท  โดยมีเหลือง  เขียว  และขาว  จำนองที่ดินของตนประกันหนี้รายนี้  ถือเป็นการที่ดำผู้รับจำนองรายแรกรับจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายเดียวของตน  ดังนั้น  เมื่อเหลืองผู้จำนองคนหนึ่งได้จำนองที่ดินแปลงเดียวกันนี้ประกันหนี้อีก  1  ล้านไว้กับน้ำเงิน  จึงเป็นกรณีที่ผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินบางสิ่งไปจำนองซ้ำแก่ผู้รับจำนองรายที่สองอีก  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ต่อมาดำได้ใช้สิทธิของตนบังคับจำนองจากที่ดินของเหลืองแปลงเดียวเพราะราคา  1  ล้านบาทพอดี  ซึ่งจะทำให้น้ำเงินผู้รับจำนองรายที่สองไม่ได้รับชำระหนี้จากการบังคับจำนองเอาจากที่ดินของเหลือง

ดังนั้น  น้ำเงินจึงสามารถรับช่วงสิทธิของดำผู้รับจำนองคนก่อนได้  เพียงเท่าที่ดำจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆที่รับจำนอง  นอกจากที่ดินของเหลือง  กล่าวคือ  น้ำเงินสามารถเข้าบังคับจำนองที่ดินของเขียวและขาวได้แปลงละ  2  แสน  5  หมื่นบาทตามมาตรา  734  วรรคสาม

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำน้ำเงินว่าสามารถรับช่วงสิทธิของดำผู้รับจำนองคนก่อนเข้าบังคับจำนองที่ดินของเขียวและขาวได้แปลงละ  2  แสน  5  หมื่นบาท

 

ข้อ  3  นายอากาศกู้เงินนายพายุ  5  ล้านบาท  มีหลักฐานการกู้เงินถูกต้องตามกฎหมาย  นายพายุขอให้นายอากาศหาหลักประกันมามอบให้  นายอากาศจึงขอให้นายลมเอาทองคำแท่งหนัก  20  บาท  ซึ่งนายลมเพิ่งได้รับมรดกมาวางเป็นประกันหนี้เงินกู้รายนี้  นายลมตกลงแต่ไม่ยอมทำหลักฐานใดๆให้กับนายพายุ  โดยเพียงแต่ส่งมอบทองคำแท่ง  20  บาท  นี้ให้กับนายพายุ  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายอากาศไม่สามารถชำระหนี้ให้นายพายุได้  นายพายุจึงฟ้องนายอากาศและนายลมพร้อมทั้งขอบังคับจำนำจากทองคำทั้ง  20  บาท  นายลมจึงมาปรึกษาท่านว่าการจำนำรายนี้สมบูรณ์หรือไม่  เพราะตนเองมิได้ทำหลักฐานใดๆให้นายพายุ  และหากมีการบังคับจำนำถ้าได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอใช้หนี้ตนเองจะต้องรับใช้ในส่วนที่ไม่ครบ  5  ล้านบาท  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

การทำสัญญาจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  747  กำหนดแต่เพียงว่าต้องมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ  มิได้กำหนดให้ต้องมีการทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างอื่นแต่อย่างใด  ดังนั้น  สัญญาจำนำจึงสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ  (ฎ.  1451/2503)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายลมนำทองคำแท่ง  20  บาท  มาจำนำไว้กับนายพายุเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ให้กับนายอากาศนั้น  แม้จะมิได้มีการทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ  สัญญาจำนำดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  747  เพราะมีการส่งมอบทองคำแท่งให้แก่นายพายุผู้รับจำนำแล้ว

สำหรับการบังคับจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  767  วรรคสอง  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ  ลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือ

ตามข้อเท็จจริง  การจำนำนี้กฎหมายกำหนดไว้เพียงว่า  บุคคลหนึ่งซึ่งจะเป็นลูกหนี้หรือมิใช่ลูกหนี้ก็ได้  หากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์  ย่อมนำทรัพย์มาเป็นประกันได้  ซึ่งการที่นายลมนำทองคำแท่งมาจำนำนั้น  ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งมิใช่ลูกหนี้นำทรัพย์มาจำนำ  ดังนั้น  นายลมผู้จำนำจึงมิใช่ลูกหนี้ตามมาตรา  767  วรรคสอง  เมื่อการบังคับจำนำได้เงินไม่พอชำระหนี้  นายลมจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ไม่ครบ

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำนายลมว่า  การจำนำรายนี้มีผลสมบูรณ์  และหากมีการบังคับจำนำถ้าได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอใช้หนี้  นายลมไม่ต้องรับใช้ในส่วนที่ไม่ครบ  5  ล้านบาท

Advertisement