การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก กู้เงิน ข 500,000 บาท โดยมี ค เป็นผู้ค้ำ การกู้เงินทำกันถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการค้ำประกันด้วย หลังจากนั้น 2 เดือน มี ง เป็นผู้ค้ำในหนี้รายนี้เพิ่มอีกคนหนึ่ง ต่อมา ก ผิดนัดชำระหนี้ ข จึงฟ้อง ค ให้รับผิด ค อ้างว่า เมื่อมี ง เป็นผู้ค้ำรายใหม่แล้ว ค ผู้ค้ำคนแรกควรจะพ้นความรับผิด ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของ ค ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
มาตรา 682 วรรคสอง ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันร่วมกัน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การค้ำประกันนั้น ถ้ามีผู้ค้ำประกันหลายคนในหนี้รายเดียวกัน แม้จะไม่ได้ค้ำประกันร่วมกัน ก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องผู้ค้ำคนใดคนหนึ่งหรือจะฟ้องทั้งหมดก็ได้ (มาตรา 291 ประกอบมาตรา 682 วรรคสอง)
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อ ค และ ง ยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน จึงต้องมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งนี้แม้ ค และ ง จะมิได้เข้ารับค้ำประกันร่วมกันก็ตาม และถึงแม้จะมีการเพิ่ม ง ผู้ค้ำประกันมาภายหลังก็หาทำให้ ค ผู้ค้ำประกันรายแรกพ้นความรับผิดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อ ก ผิดนัดชำระหนี้ ข จึงฟ้อง ค ให้รับผิด ซึ่งเป็นกรณีที่เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงย่อมสามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ ข้ออ้างของ ค จึงฟังไม่ขึ้น (ฎ. 500/2507)
สรุป ข้ออ้างของ ค ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2 นาย ก ยืมเงินนาย ข เป็นเงิน 200,000 บาท ต่อมามีนายคิงได้เสนอจำนองที่ดินที่ตนและภริยาเป็นเจ้าของร่วมกันเพราะทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรส ซึ่งได้มาหลังวันจดทะเบียน แต่ในโฉนดดังกล่าวมีชื่อนายคิงแต่เพียงผู้เดียวเป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น และที่เป็นเช่นนี้ สาเหตุก็เพราะวันที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภริยาของนายคิงอยู่ต่างประเทศจึงไม่สามารถมาลงชื่อร่วมในโฉนดได้ ดังนี้ หากนาย ข เจ้าหนี้ยอมรับจำนองที่ดินดังกล่าว โดยภริยาไม่ได้รับรู้ด้วย จำนองจะมีผลเช่นใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา 705 การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อได้ความว่าที่ดินมีโฉนดได้มาภายหลังวันสมรส ย่อมเป็นสินสมรสทั้งสองสามีภริยาย่อมเป็นเจ้าของร่วมกันอยู่ แต่โดยธรรมดาแล้วการที่ภริยาไม่ได้ลงชื่อของตนในโฉนด ย่อมทำให้ผู้อื่นซึ่งสุจริตและเสียค่าตอบแทนเข้าใจผิดได้ว่าตนค้ำประกัน (นายคิงสามีเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว) ดังนั้น การจำนองมีผลสมบูรณ์ไปทั้งหมด กล่าวคือ ภริยาของนายคิงจะบอกเลิกการค้ำประกันไม่ได้แม้ในส่วนของตน
สรุป การจำนองมีผลสมบูรณ์
ข้อ 3 นายกรุงเทพ กู้เงินนายต่างจังหวัด 20,000 บาท โดยมีนายต่างประเทศมอบทองคำแท่ง หนัก 10 บาท ราคา 17,600 บาท จำนำเป็นประกันหนี้เงินกู้รายนี้ ซึ่งไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมแต่อย่างใด เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายกรุงเทพผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้ได้ นายต่างจังหวัดจึงได้มีจดหมายบอกกล่าวให้นายกรุงเทพทำการชำระหนี้ แต่นายกรุงเทพไม่ยอมชำระหนี้ นายต่างจังหวัดจึงได้นำทองคำแท่งออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิ จำนวน 15,600 บาท ดังนี้ นายต่างจังหวัดจะฟ้องขอให้นายกรุงเทพและนายต่างประเทศรับผิดในเงินที่เหลืออีก 4,400 บาท อีกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
มาตรา 764 เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น
ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด
อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย
มาตรา 767 เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น
ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายต่างประเทศนำทองคำแท่งมาจำนำ สามารถกระทำได้เนื่องจากมาตรา 747 มิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นลูกหนี้เท่านั้น ความหมายของคำว่า “บุคคลคนหนึ่ง” จึงหมายถึง ใครก็ได้ ที่นำสังหาริมทรัพย์ส่งมอบให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
ส่วนการบังคับจำนำนั้น นายต่างจังหวัดได้กระทำถูกต้องตามมาตรา 764 คือ มีจดหมายบอกให้ลูกหนี้ทำการชำระหนี้และมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำ อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 767 กำหนดไว้ว่า เมื่อมีการบังคับจำนำโดยเอาทรัพย์จำนำออกขายทอดตลาดแล้ว หากได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ ลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น อันเป็นการบังคับเฉพาะกรณีระหว่างผู้รับจำนำและลูกหนี้ ส่วนผู้จำนำนั้นกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องรับผิดแต่อย่างใด ดังนั้น นายต่างประเทศจึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ยังไม่ครบนั้น (ฎ. 875/2523)
สำหรับลูกหนี้นั้น แม้ตามมาตรา 767 กำหนดให้ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้นอีก แต่เมื่อปรากฏว่าหนี้เงินนั้นมิได้มีหลักฐานการกู้ยืมตามมาตรา 653 นายต่างจังหวัดจึงไม่สามารถบังคับนายกรุงเทพให้ชำระหนี้ในส่วนที่ขาดแต่อย่างใด (ฎ.200/2496)
สรุป นายต่างจังหวัดจะฟ้องขอให้นายกรุงเทพและนายต่างประเทศรับผิดในเงินที่เหลืออีก 4,400 บาท ไม่ได้