การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงเป็นหนี้ดำ  1  ล้านบาท  แดงนำที่ดินของตน  1  แปลงจำนองเป็นประกัน  หลังจากนั้นแสบได้ค้ำประกันหนี้รายนี้และเขียวได้นำที่ดินของตน  1  แปลงจำนองเป็นประกันด้วย  ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระไม่กี่วัน  ดำปลดจำนองให้แดงและแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ดำเรียกให้แสบชำระหนี้  (ในขณะนั้นที่ดินทั้ง  2  แปลงราคาแปลงละ  5  แสนบาท)  แสบต่อสู้ว่า  ตนไม่ต้องชำระหนี้  เพราะ

(1) ตนต้องเสียหายจากการปลดจำนอง

(2) ตนสามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ทั้ง  2  ประการ  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  และผลจะเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  690  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ  ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา  693  ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว  ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้  เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ  เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่ง  ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

มาตรา  697  ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี  จำนองก็ดี  จำนำก็ดี  และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น  ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

(1) ข้อต่อสู้ของแสบที่ว่าตนต้องเสียหายจากการปลดจำนองฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  ตามกฎหมายนั้นเมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แล้วย่อมสามารถเข้ารับช่วงสิทธิที่เจ้าหนี้มีเหนือลูกหนี้ได้  (มาตรา  693  วรรคสอง)  และถ้าเจ้าหนี้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธินั้นได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน  ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น  (มาตรา  697)

ตามข้อเท็จจริง  การที่ดำปลดจำนองที่ดินให้แดงลูกหนี้และแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้วนั่นย่อมทำให้แสบผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในจำนองที่ดำมีต่อแดงได้ทั้งหมด  ดังนั้น  แสบจึงเสียหายจากการปลดจำนองดังกล่าว  และแสบย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้เป็นจำนวน  5  แสนบาท  ตามราคาที่ดินที่แดงนำมาจำนองตามมาตรา  693  วรรคสองและมาตรา  697  ข้อต่อสู้ของแสบจึงฟังขึ้น

(2) ข้อต่อสู้ของแสบที่ว่าตนสามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อนฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  690  นั้น  กำหนดไว้ว่า  ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกัน  และผู้ค้ำประกันร้องขอ  เจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

เมื่อตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เขียวมิใช่ลูกหนี้ของดำ  เพียงแต่นำที่ดินของตนมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เท่านั้น  ดังนั้น  แสบจึงไม่สามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อนได้  ข้อต่อสู้ของแสบจึงฟังไม่ขึ้น

ดังนั้น  เมื่อดำเรียกให้แสบชำระหนี้  แสบจึงต้องชำระหนี้ในบานะผู้ค้ำประกันจำนวน  5  แสนบาท

สรุป  ข้อต่อสู้ของแสบที่ว่าตนต้องเสียหายจากการปลดหนี้นั้นฟังขึ้น  ส่วนข้อต่อสู้ที่ว่าตนสามารถให้ดำบังคับจำนองจากที่ดินของเขียวก่อนนั้นฟังไม่ขึ้น  และแสบจะต้องชำระหนี้ในบานะผู้ค้ำประกันเป็นจำนวน  5  แสนบาท

 

ข้อ  2  นายจันทร์ยืมเงินนายอังคารจำนวน  100,000  บาท  ต่อมามีนายเอ  นายบี  และนายซีนำที่ดินของตนคนละแปลงราคาหนึ่งแสนบาทเท่ากันหมดมาจำนองประกันหนี้รายนี้  ดังนี้  หากต่อมานายซีมาชำระหนี้ให้กับนายอังคารทั้งหมด  ดังนี้นายซีจะได้รับช่วงสิทธิจากนายอังคารเจ้าหนี้หรือไม่  นายเอและนายบีจะต้องทำอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  725  เมื่อบุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องขำระ  และมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้  ท่านว่าผู้จำนองซึ่งได้เป็นผู้ชำระหนี้หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งต้องบังคับจำนองนั้นหามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้จำนองอื่นๆต่อไปได้ไม่

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  725  เป็นเรื่องที่ผู้รับจำนองและลูกหนี้มิได้เป็นบุคคลคนเดียวกัน  โดยมีผู้จำนองหลายคนได้จำนองทรัพย์สินของตนเป็นประกันหนี้รายเดียวกัน  และมิได้ระบุลำดับการบังคับจำนองไว้  ซึ่งหากต่อมาผู้จำนองคนใดได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้  ผู้จำนองคนนั้นก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้ได้  แต่จะไล่เบี้ยเอากับผู้จำนองคนอื่นๆไม่ได้  เพราะการจำนองเป็นเพียงแต่การนำทรัพย์มาเป็นประกันการชำระหนี้เท่านั้น  ผู้จำนองซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์มิได้ผูกพันด้วย  จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกันอย่างกรณีของผู้ค้ำประกัน

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเอ  นายบี  และนายซี  นำที่ดินของตนคนละแปลงมาจำนองประกันหนี้ระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  และมิได้ระบุลำดับในการบังคับจำนองไว้  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายซีซึ่งเป็นผู้จำนองคนหนึ่งได้ชำระหนี้ทั้งหมดให้กับนายอังคารเจ้าหนี้แทนนายจันทร์ลูกหนี้  ย่อมทำให้นายซีเข้ารับช่วงสิทธิของนายอังคารเจ้าหนี้ไปไล่เบี้ยเอากับนายจันทร์ลูกหนี้ได้  แต่จะไปไล่เบี้ยเอากับผู้จำนองคนอื่นคือ  นายเอและนายบีไม่ได้ตามมาตรา  725

สรุป  นายซีจะได้รับช่วงสิทธิจากนายอังคารเจ้าหนี้  แต่จะไปไล่เบี้ยเอากับนายเอและนายบีไม่ได้

 

ข้อ  3  นาย  ก  ถูกฟ้องคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ได้ว่าจ้างให้นาย  ข  เป็นทนายความฟ้องคดีแก้ต่าง  โดยตกลงให้ค่าจ้าง  100,000  บาท  โดยมีนาย  ค  มอบนาฬิกาจำนำไว้เป็นประกันหนี้ค่าจ้างว่าความไว้  การว่าจ้างและการจำนำมิได้ทำเป็นหนังสือเพราะต่างก็ไว้ใจกัน  ต่อเมื่อเสร็จคดี  นาย  ข  ได้มีหนังสือให้นาย  ก  และนาย  ค  ชำระค่าจ้าง  แต่คนทั้ง  2  มิได้ชำระ  นาย  ข  จึงนำนาฬิกาที่จำนำไว้ออกขายทอดตลาดได้เงิน  600,000  บาท  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นาย  ข  จะฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่  40,000  บาท  จากนาย  ก  และนาย  ค ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

ตามกฎหมายสัญญาจำนำนั้น  เป็นสัญญาระหว่างผู้จำนำตกลงกับเจ้าหนี้  โดยส่งมอบสังหาริมทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้  ซึ่งผู้จำนำจะเป็นตัวลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกก็ได้  แต่บุคคลผู้เข้าทำสัญญาจำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น  และสัญญาจำนำนั้นกฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ  ดังนั้นสัญญาจำนำเพียงแต่ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำก็เป็นสัญญาที่สมบูรณ์แล้ว  (มาตรา 747)

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ค  มอบนาฬิกาไว้ให้นาย  ข  เพื่อเป็นประกันหนี้ค่าจ้างว่าความนั้น  แม้นาย  ค  จะมิใช่ลูกหนี้  แต่เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำแล้ว  ย่อมเป็นสัญญาจำนำที่สมบูรณ์ตามมาตรา  747  แม้การจำนำจะมิได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม

และสำหรับการบังคับจำนำนั้นตามบทบัญญัติมาตรา   767  วรรคสอง  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนำน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ  ลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดนั้น

ตามข้อเท็จจริง  มูลหนี้จำนำคือการว่าจ้างว่าความอันเป็นสัญญาจ้างทำของ  ซึ่งแม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ดังนั้น  เมื่อนาย  ข  เจ้าหนี้นำนาฬิกาที่จำนำไว้ออกขายทอดตลาดได้เงิน  60,000  บาท  ซึ่งยังขาดอยู่อีก  40,000  บาท  นาย  ข  ย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความในส่วนที่ยังขาดอยู่อีก  40,000  บาทนี้จากนาย  ก  ลูกหนี้ได้ตามมาตรา  767  วรรคสอง

ส่วนกรณีของนาย  ค  นั้น  นาย  ข  จะฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่อีกไม่ได้  เพราะนาย  ค  ไม่ใช่ลูกหนี้  เป็นเพียงแต่ผู้เอาทรัพย์สินจำนำไว้เป็นประกันหนี้เท่านั้น  ซึ่งเมื่อมีการบังคับจำนำแล้วการจำนำย่อมระงับสิ้นไป  (ฎ. 200/2496)

สรุป  นาย  ข  ฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความที่ยังขาดอยู่  40,000  บาท  จากนาย  ก  ได้  แต่จะฟ้องเรียกจากนาย  ค  ไม่ได้

Advertisement