การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก. กู้เงิน ข 100,000 บาท โดยมิได้มีหลักฐานการกู้เป็นหนังสือ แต่มี ค ทำหนังสือสัญญากับ ข ในฐานะผู้ค้ำประกัน ดังนี้ ข จะฟ้องใครให้รับผิดในหนี้รายนี้ได้บ้าง และเพราะเหตุใด (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบด้วย)
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 681 วรรคแรก อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์
มาตรา 694 นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว การกู้ยืมเงินกันกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้กู้ยืม จะฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญากู้ยืมไม่ได้ตามมาตรา 653 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก กู้ยืมเงิน ข โดยมิได้มีหลักฐานการกู้เป็นหนังสือ ข เจ้าหนี้จึงฟ้องให้ ก รับผิดใช้เงินตามสัญญากู้ไม่ได้ตามมาตรา 653 วรรคแรก
ส่วนสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นสัญญาไม่มีแบบ คือ กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ แต่การจะฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาค้ำประกันได้ กฎหมายบังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ค ผู้ค้ำประกันได้ทำสัญญาค้ำประกันเป็นหนังสือ จึงถือว่าสัญญาค้ำประกันในหนี้รายนี้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญแล้ว จึงใช้ฟ้องร้องบังคับคดีต่อกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง แม้ว่าสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่ได้ก็ตาม เพราะหนี้ประธานและหนี้อุปกรณ์เป็นคนละสัญญาแยกจากกันต่างหาก ทั้งกรณีนี้ก็ได้มีการส่งมอบเงินกู้แก่กันแล้ว ย่อมถือได้ว่าหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ขาดเพียงหลักฐานการฟ้องร้องเท่านั้น จึงมีการค้ำประกันกันได้ตามมาตรา 681 วรรคแรก
อย่างไรก็ตาม เมื่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเกิดขึ้นโดยอาศัยมูลหนี้ประธาน ผู้ค้ำประกันจึงสามารถยกเหตุที่หนี้ประธานไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่ได้ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 694 ดังนั้นผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิด
สรุป ข ไม่สามารถเรียกใช้ ก รับผิดตามสัญญากู้ยืมและไม่อาจเรียกให้ ค รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้
ข้อ 2 นาย ก กู้เงินนาย ข เป็นจำนวน 100,000 บาท ต่อมามีนายควายนำที่ดินราคา 50,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้ในวันที่ 1 มกราคม 2552 และนายวัวนำที่ดินราคา 30,000 บาท มาประกันหนี้รายนี้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 ในการนี้ นายวัวและนายควายตกลงกับนาย ข เจ้าหนี้ว่า หากต้องการจะบังคับจำนองให้บังคับเอากับที่ดินของนายวัวก่อน ต่อมานาย ข เจ้าหนี้ ได้ประทับใจในความดีของนายควาย จึงปลดจำนองให้นายควาย ดังนี้ การปลดจำนองนายควายมีผลดีกับนายวัวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา 709 บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ก็ให้ทำได้
มาตรา 710 ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว ท่านก็ให้ทำได้
และในการนี้คู่สัญญาจะตกลงกันดังต่อไปนี้ก็ได้ คือว่า
(1) ให้ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองตามลำดับอันระบุไว้
มาตรา 726 เมื่อบุคคลหลายคนต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและได้ระบุลำดับด้วยไซร้ ท่านว่าการที่ผู้รับจำนองยอมปลดหนี้ให้แก่ผู้จำนองคนหนึ่งนั้นย่อมทำให้ผู้จำนองคนหลังๆได้หลุดพ้นด้วยเพียงขนาดที่เขาต้องรับความเสียหายแต่การนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การจำนองของนายวัวและนายควายเป็นการจำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้เงินกู้ยืมซึ่งนาย ก บุคคลอื่นจะต้องชำระ ย่อมทำได้ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 709 ซึ่งหนี้รายเดียวกันนี้เองก็สามารถจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ได้ตามมาตรา 710 วรรคแรก
เมื่อได้มีการระบุตามข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับผู้จำนองไว้ด้วยว่าให้นายวัวต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองก่อนตามมาตรา 710 วรรคสอง (1) จึงต้องเป็นไปตามนั้น
สำหรับในเรื่องการปลดหนี้จำนองนั้น หลักกฎหมายตามมาตรา 726 กำหนดให้ผู้รับจำนองหลุดพ้นจากความรับผิดได้หากเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ
1 มีผู้จำนองหลายคนจำนองประกันหนี้รายเดียว
2 มีการระบุลำดับการบังคับจำนองไว้ตามมาตรา 710 วรรคสอง (1)
3 ผู้รับจำนองปลดจำนองรายหนึ่งรายใดในลำดับก่อน
4 ผู้จำนองลำดับถัดไปเสียหายจากการปลดจำนอง
เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า นาย ข เจ้าหนี้ ปลดจำนองให้แก่นายควายซึ่งจะต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองในลำดับหลังสุด การปลดจำนองดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ แก่นายวัว เพราะถึงอย่างไรก็ตาม นายวัวก็ต้องถูกบังคับจำนองในลำดับแรกอยู่ดี ดังนั้นนายวัวยังคงต้องรับผิดในหนี้จำนองจำนวน 50,000 บาท กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 726
สรุป การปลดจำนองให้แก่นายควายไม่มีประโยชน์ใดๆกับนายวัวผู้ถูกบังคับจำนองคนก่อน
ข้อ 3 นายสินกู้เงินนายมั่น จำนวน 80,000 บาท โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน นายมั่นต้องการความแน่นอนในการชำระหนี้ จึงขอให้นายสินหาหลักประกันมาวางไว้ด้วย นายสินจึงนำสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ซึ่งเป็นของภริยา โดยแจ้งให้นายมั่นทราบว่าสร้อยคอทองคำเป็นของภริยามิใช่ของตนเองวางไว้เป็นหลักประกันในลักษณะจำนำ แต่มิได้มีการทำหลักฐานอย่างใด เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายสินหาเงินมาชำระหนี้เงินกู้ไม่ได้ มั่นเห็นว่าราคาทองคำกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงแจ้งให้นายสินชำระหนี้โดยทำจดหมายบอกกล่าวและขอนำสร้อยคอทองคำขายให้แก่นายรุ่ง เพราะนายรุ่งเป็นคนมีฐานะดี และกำลังอยากซื้อสร้อยคอทองคำคงจะให้ราคาดีมาก อยากทราบว่า
(1) นายสินนำสร้อยคอของภริยามาจำนำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นายมั่นนำสร้อยคอทองคำขายให้แก่นายรุ่งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
มาตรา 764 เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น
ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด
อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย
วินิจฉัย
(1) การทำสัญญาจำนำนั้น บทบัญญัติมาตรา 747 กำหนดแต่เพียงว่าต้องมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ มิได้กำหนดให้ต้องมีการทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างอื่นแต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาจำนำจึงสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ (ฎ. 1451/2503)
สำหรับทรัพย์ที่จำนำนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์สินมาจำนำประกันหนี้ของตนเองเท่านั้น บุคคลภายนอกอาจจำนำทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ที่บุคคลอื่นจะต้องชำระก็ได้ เพราะกฎหมายมิได้ห้ามบุคคลภายนอกมิให้จำนำทรัพย์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของบุคคลอื่น แต่ประการสำคัญคือ ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์เท่านั้น ถ้าเอาทรัพย์ของคนอื่นมาจำนำ เจ้าของทรัพย์มีสิทธิติดตามเอาคืนได้ตามมาตรา 1336
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสินลูกหนี้นำสังหาริมทรัพย์ของภริยามาจำนำ สามารถกระทำได้ สัญญาจำนำมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 747 เพราะมีการส่งมอบสร้อยคอทองคำแก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำแล้ว ส่วนการที่สัญญาจำนำจะผูกพันภริยาของนายสินหรือไม่ เป็นอีกเรื่องซึ่งต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่านายสินลักสร้อยคอทองคำของภริยามาจำนำหรือไม่ หรือภริยารู้เห็นในการเอามาจำนำหรือประมาทเลินเล่อปล่อยให้นายสินแสดงตัวเป็นเจ้าของหรือมีพฤติกรรมที่ภริยาเชิดนายสินเหมือนดั่งเป็นตัวแทนของตนหรือไม่ ถ้าภริยาไม่ยินยอมหรือไม่รู้เห็นด้วย ภริยามีสิทธิติดตามเอาสร้อยคอทองคำคืนตามมาตรา 1336 ถือว่าสัญญาจำนำไม่ผูกพันภริยา แต่ถ้าภริยามีพฤติการณ์ดังกล่าวนั้น ภริยาจะเรียกสร้อยคอทองคำคืนโดยไม่ไถ่ถอนจำนำไม่ได้ (ฎ. 631/2503 , ฎ. 449/2516 และ
ฎ .1115/2497)
(2) การบังคับจำนำนั้น บทบัญญัติมาตรา 764 กำหนดให้มีการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้ลูกหนี้ชำระหนี้และสามารถนำทรัพย์ที่รับจำนำนั้นออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด กรณีนี้นายมั่นได้บอกกล่าวการชำระหนี้ถูกต้องตามมาตรา 764 แต่การนำทรัพย์ที่จำนำออกขายให้แก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง มิใช่การขายทอดตลาด จึงไม่ต้องด้วยหลักกฎหมายดังกล่าว นายมั่นจึงนำสร้อยคอทองคำขายให้นายรุ่งไม่ได้
สรุป
(1) นายสินนำสร้อยคอทองคำของภริยามาจำนำโดยวางไว้กับนายมั่นได้โดยไม่จำต้องมีการทำหลักฐานอย่างอื่น
(2) นายมั่นจะนำสร้อยคอทองคำขายให้นายรุ่งมิได้ เพราะมิใช่การขายทอดตลาด