การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิขา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท เหลืองได้นำที่ดินของตนมาจำนองประกันหนึ่งแปลง ต่อมาน้ำเงินเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน และหลังจากนั้นแดงได้จำนองที่ดินของตนหนึ่งแปลงเป็นประกันหนี้รายนี้ ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำปลดจำนองให้เหลืองและแดง โดยทั้งสองคนได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว

ครั้นหนี้ถึงกำหนดชำระ แดงผิดนัด ดำจึงเรียกให้น้ำเงินชำระหนี้ ในขณะนั้นที่ดินของเหลืองและแดงราคาแปลงละห้าแลนบาท น้ำเงินได้ทราบเรื่องดังกล่าว จึงปฎิเสธไม่ชำระหนี้ให้ โดยอ้างว่า ตนหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการกระทำของดำ

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของน้ำเงินฟังขึ้นหรือไม่ และยังต้องรับผิดชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องสียหายเพราะการนั้น

วินิจฉัย

ผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิจำนอง หรือจำนำ หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหาย เพราะการกระทำของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดำ 1,000,000 บาท เหลืองและแดงได้นำที่ดินของตน ซึ่งมีราคาแปลงละ 500,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้โดยมีน้ำเงินเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาก่อนหนี้ถึง กำหนดชำระ ดำได้ปลดจำนองที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่เหลืองและแดงโดยทั้งสองคนได้จดทะเบียนปลดจำนองแล้ว

ดังนี้การกระทำของดำเจ้าหนี้เป็นเหตุให้น้ำเงินผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินของเหลืองและแดงลูกหนี้ และจะทำให้น้ำเงินผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ดินของเหลืองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ เมื่อดำ เจ้าหนี้ปลดจำนองให้แก่เหลือง น้ำเงินผู้ค้ำประกันย่อมไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตน ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะกรณีที่น้ำเงินจะต่อสู้กับเจ้าหนี้ ตามมาตรา 697 ได้นั้นที่ดินที่นำมาจำนองไว้ต้องเป็นที่ดินของลูกหนี้เท่านั้น มิใช่ที่ดินของบุคคลอื่น

เพราะการที่ผู้ค้ำประกันจะรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามมาตรา 693 วรรคสองนั้นต้องเป็นสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ หรือเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ดังนั้น น้ำเงินยังคงต้องรับผิดในการขำระหนี้ให้แก่ดำ จะอ้างว่าตนหลุดพ้นจาก ความรับผิดกรณีนี้ไม่ได้

ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ภายหลังการทำสัญญา ค้ำประกันแล้ว ดังนั้นการที่ดำเจ้าหนี้ได้ปลดจำนองที่ดินแปลงนี้ให้แดง น้ำเงินผู้ค้ำประกันย่อมไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตนไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไนการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 697 ดังนั้น น้ำเงินผู้ค้ำประกันจึงยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ไห้แก่ดำ

สรุป ข้ออ้างของน้ำเงินฟังไม่ขึ้นทั้งสองกรณี น้ำเงินยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ให้แก่ดำ เป็นจำนวนเงิน 1,000,000บาท

 

ข้อ 2. นายอูกู้เงินนางอี เป็นเงินจำนวน 500,000 บาทโดยไม่ได้ทำเป็นหนังลือ โดยวันที่ 1 มกราคม 2555 มีนายหมู ได้นำนาของตนพร้อมบ้านพ่อที่สร้างอยู่บนที่ดังกล่าวราคา 300,000 บาทมาจำนอง

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกันมีนายป่าได้นำสวนเงาะพร้อมเรือนไทยของตนราคารวมกัน 200,000 บาทมาจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้เช่นกัน

ดังนี้ หากนายป่าเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวมา ปรึกษาท่านว่า เขามีสิทธิในการนำทรัพย์อย่างใดไปขายโดยปลอดจำนองได้บ้างหรือไม่ จงให้คำปรึกษา นายป่าตามที่ได้เรียนมา

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตรา ไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ 

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้

มาตรา 710 วรรคแรก ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกัน การชำระหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว ท่านก็ให้ทำได้

มาตรา 716 “จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน

มาตรา 718 “จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้

มาตรา 720 “จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดิบหรือใต้ดิน ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอูกู้เงินนางอีเป็นเงินจำนวน 500,000 บาทแม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่การที่นายหมูและนายป่าได้นำนาและสวนเงาะพร้อมเรือนไทยของตนมาจำนองเพื่อประกันหนี้รายนี้ย่อมสามารถทำได้ตามมาตรา 702709 และมาตรา 710 วรรคแรก

และเมื่อมีการจำนองถูกต้องตามกฎหมายแล้วตามมาตรา 716 ได้บัญญัติว่า จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง กล่าวคือเมื่อมีการนำทรัพย์หลายสิ่งมาจำนองเป็นประกันหนี้ ไม่ว่าทรัพย์เหล่านั้นจะเป็นของบุคคลคนเดียวหรือของบุคคลหลายคนก็ตาม

ทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องเป็นประกัน การชำระหนี้อยู่จนกว่าลูกหนี้จะได้ชำระหนี้เสร็จสิ้น แม้ต่อมาภายหลังลูกหนี้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน และทรัพย์สินที่จำนองบางสิ่งก็เป็นการเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งจำนวน ลูกหนี้ก็ยังคงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอถอนทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไปให้หลุดพ้นจากการจำนองได้ และนอกจากนั้นมาตรา 718 ยังได้บัญญัติว่าจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง

เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 720

ดังนั้นข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายหมูได้นำนาของตนพร้อมบ้านพ่อที่สร้างอยู่บน ที่ดินดังกล่าวมาจำนอง ดังนี้จำนองย่อมไม่ครอบไปถึงบ้านพ่อที่สร้างอยู่บนที่ดินที่จำนองตามมาตรา 720 แต่การที่นายป่านำสวนเงาะพร้อมเรือนไทยของตนมาจำนองนั้น

จำนองย่อมครอบไปถึงสวนเงาะและเรือนไทยทั้งหมด ตามมาตรา 716 และมาตรา 718

และถ้าตราบใดที่ลูกหนี้ยังชำระหนี้ไม่เสร็จสิ้น ผู้จำนองไมมีสิทธินำทรัพย์สินที่จำนองไปขาย โดยปลอดจากจำนองได้เลย เพราะถ้ามีการโอนทรัพย์สินที่จำนอง ทรัพย์สินนั้นย่อมมีจำนองติดไปด้วยเสมอ ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์ นายป่าซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนองคือสวนเงาะและเรือนไทย

จะนำทรัพย์สินที่จำนองอย่างใดอย่างหนึ่งไปขายโดยปลอดจำนองไม่ได้เลย

สรุป หากนายป่ามาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นายป่าตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. ก. เช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์จาก ข. ในขณะที่ ก. ยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่หมด ก. ได้นำเครื่องรับโทรทัศน์ดังกล่าวไปจำนำไว้กับ ค. อย่างหนึ่ง กับนำไปจำนำไว้กับโรงรับจำนำอีกอย่างหนึ่ง เป็นเงิน 5,000 บาท ทั้งนี้ ทั้ง ค. และโรงรับจำนำได้รับจำนำไว้โดยสุจริต

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ข. มีสิทธิฟ้องเรียกเครื่องรับโทรทัศน์คืนได้หรือไม่ และจะต้องเสียค่าไถ่หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา 757 “บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะ 13 นี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่สัญญาจำนำที่ทำกับผู้ตั้งโรงรับจำนำโดยอนุญาตรัฐบาลแต่เพียงที่ไม่ขัดกับกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับว่าด้วยโรงจำนำ

มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแท่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิ จะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

วินิจฉัย

กรณีจำนำไว้กับ ค.

ก. เอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่หมดไปจำนำไว้กับ ค. กรรมสิทธิ์ในเครื่องรับโทรทัศน์ยังเป็นของ ข. อยู่ ก. ไมใช่เจ้าของที่แท้จริงจึงไม่มีสิทธิที่จะเอาเครื่องรับโทรทัศน์ ไปจำนำตามมาตรา 747 ดังนั้นในฐานะเจ้าของ ข. จึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ตามมาตรา 1336 ข. จึงฟ้อง เรียกเครื่องรับโทรทัศน์คืนจาก ค. ได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์ที่จำนำ

กรณีจำนำไว้กับโรงรับจำนำ

การที่ ก. เอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่หมดไป จำนำไว้กับโรงรับจำนำฯ นั้น แม้ ก. จะไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงของทรัพย์ที่นำมาจำนำ ตามมาตรา 747 แต่โรงรับจำนำ ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 และมาตรา 757 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ อีก

ทั้งตามปัญหา โรงรับจำนำได้รับจำนำไว้โดยสุจริตโรงรับจำนำจึงไม่ต้องคืนทรัพย์แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะเสียค่าไถ่ถอน

ดังนี้ ข. จึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนได้ตามมาตรา 1336 โดย ข. ต้องเสียค่าไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำ

สรุป ข.มีสิทธิฟ้องเรียกคืนเครื่องรับโทรทัศน์ได้ตามมาตรา 1336โดย

1.             กรณีจำนำไว้กับ ค. นั้น ข. ไม่ต้องเสียค่าไถ่ทรัพย์ที่จำนำ

2.             กรณีจำนำไว้กับโรงรับจำนำ ข. ต้องเสียค่าไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำ

Advertisement