การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. แดงเป็นหนี้ดำหนึ่งล้านบาท แดงได้นำที่ดินของตนหนึ่งแปลงจำนองไว้ หลังจากนั้นแสดได้ค้ำประกัน
และต่อมาอีกไม่นานแดงได้จำนองที่ดินของตนอีกหนึ่งแปลงประกันหนี้รายนี้
ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำปลดจำนองให้แดง และแดงได้จดทะเบียนการปลดฯ แล้ว เมื่อหนี้ ถึงกำหนดชำระแดงผิดนัด ดำจึงเรียกให้แสดชำระหนี้ (ขณะนั้นที่ดินราคาแปลงละห้าแสนบาท) แสดต่อสู้ว่าตนหลุดพ้นไม่ต้องชำระหนี้
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของแสดฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และความรับผิดของแสดจะเป็นอย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงิน กับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น
อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย”
มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น”
วินิจฉัย
ผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิจำนอง หรือจำนำ หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหาย เพราะการกระทำของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดำ 1,000,000 บาท และได้นำที่ดิน 2 แปลง ๆ ละ 500,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้โดยมีแสดเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ดำได้ปลดจำนอง ที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แดงและแดงได้จดทะเบียนการปลดจำนองแล้ว
ดังนี้การกระทำของดำเจ้าหนี้เป็นเหตุให้ แสดผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินของลูกหนี้ และจะทำให้แสด ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ก่อนทำสัญญาค้ำประกัน ดังนั้น เมื่อดำเจ้าหนี้ปลดจำนองให้แดงลูกหนี้ แสดผู้ค้ำประกันย่อมสามารถต่อสู้ได้ว่าการกระทำของดำเป็นเหตุให้ตน ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิชองเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้และทำให้ตนได้รับความเสียหาย ดังนั้น ตนจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้จำนวน 500,000 บาทได้ตามมาตรา 693 และ 697
ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แดงลูกหนี้ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้ภายหลังการทำสัญญาค้ำประกันแล้ว ดังนั้นการที่ดำเจ้าหนี้ได้ปลดจำนองที่ดินแปลงนี้ให้แดง แสดผู้ค้ำประกันย่อมไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้ว่า การกระทำของดำเป็นเหตุให้ตนไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงนี้ เพราะ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 697 ดังนั้น แสดผู้ค้ำประกันจึงยังคงด้องรับผิดในการชำระหนี้ให้แก่ดำจำนวน 500,000 บาท
สรุป ข้อต่อสู้ของแสดฟังขึ้นเฉพาะกรณีที่ดินแปลงที่ 1 ส่วนกรณีที่ดินแปลงที่ 2 นั้นฟังไม่ขึ้น และแสดจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ดำ 500,000 บาท
ข้อ 2. นาย ก. กู้เงินนาย ข. เป็นจำนวน 100,000 บาท ต่อมามีนายควายนำที่ดินราคา 50,000 บาท มาจำนองประกันหนี้รายนี้ในวันที่ 1 มกราคม 2552 และนายวัวนำที่ดินราคา 30,000 บาท มาประกันหนี้รายนี้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552
ในการนี้ นายวัวและนายควายตกลงกับนาย ข. เจ้าหนี้ว่า หากต้องการจะบังคับจำนองให้บังคับเอากับที่ดินของนายวัวก่อน ต่อมานาย ข. เจ้าหนี้ ได้ประทับใจในความดีของนายควาย จึงปลดจำนองให้นายควาย ดังนี้ การปลดจำนองนายควาย มีผลดีกับนายวัวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 702 “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สิน ตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้อง พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่”
มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระก็ให้ทำได้”
มาตรา 710 “ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้ แต่รายหนึ่งรายเดียว ท่านก็ให้ทำได้
และในการนี้คู่สัญญาจะตกลงกันดังต่อไปนี้ก็ได้ คือว่า
(1) ให้ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังดับเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองตามลำดับอันระบุไว้”
มาตรา 726 “เมื่อบุคคลหลายคนต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่ง รายเดียวกันอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและได้ระบุลำดับไว้ด้วยไซร้ ท่านว่าการที่ผู้รับจำนองยอมปลดหนี้ให้แก่ ผู้จำนองคนหนึ่งนั้นย่อมทำให้ผู้จำนองคนหลัง ๆ ได้หลุดพ้นด้วยเพียงขนาดที่เขาต้องรับความเสียหายแต่การนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การจำนองของนายวัวและนายควายเป็นการจำนองทรัพย์สินของตน เพื่อประกันหนี้เงินกู้ยืมซึ่งนาย ก. บุคคลอื่นจะต้องชำระ ย่อมทำได้ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 709 ซึ่งหนี้ รายเดียวกันนี้เองก็สามารถจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ได้ตามมาตรา 710 วรรคแรก
เมื่อได้มีการระบุลำดับตามข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับผู้จำนองไว้ด้วยว่าให้นายวัวต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองก่อนตามมาตรา 710 วรรคสอง (1) จึงต้องเป็นไปตามนั้น
สำหรับในเรื่องการปลดหนี้จำนองนั้น หลักกฎหมายตามมาตรา 726 กำหนดให้ผู้รับจำนอง หลุดพ้นจากความรับผิดได้หากเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1. มีผู้จำนองหลายคนจำนองประกันหนี้รายเดียว
2. มีการระบุลำดับการบังคับจำนองไว้ตามมาตรา 710 วรรคสอง (1)
3. ผู้รับจำนองปลดจำนองรายหนึ่งรายใดในลำดับทอน
4. ผู้จำนองลำดับถัดไปเสียหายจากการปลดจำนอง
เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่านาย ข. เจ้าหนี้ปลดจำนองให้แก่นายควายซึ่งจะต้องเป็นผู้ถูกบังคับจำนองในลำดับหลังสุด การปลดจำนองดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ แก่นายวัว เพราะถึงอย่างไรก็ตาม นายวัวก็ต้องถูกบังคับจำนองในลำดับแรกอยู่ดี ดังนั้นนายวัวยังคงต้องรับผิดในหนี้จำนองจำนวน 50,000 บาท กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 726
สรุป การปลดจำนองให้แก่นายควายไม่มีประโยชน์ใด ๆ กับนายวัวผู้ถูกบังคับจำนองคนก่อน
ข้อ 3. ก. กู้เงิน ข. 1 แสนบาทโดยนำรถยนต์มาจำนำเป็นประกันหนี้และมีข้อสัญญากันว่า ถ้าค้างดอกเบี้ย หรือเงินต้น ข. เอารถยนต์ที่จำนำให้คนเช่าขับเป็นแท็กซี่ได้ ดังนี้ เมื่อได้ค่าเช่ามาแล้ว ข. จะจัดสรร ชำระค่าอะไรก่อนหลัง กรณีหนึ่ง
อีกกรณีหนึ่ง ถ้า ก. กู้เงิน ข. แล้วนำแม่โคพ่อโคไปจำนำไว้โดยไม่ทราบว่า แม่โคนั้นมีลูกติดท้อง ไปด้วย แม่โคตกลูกออกมา พอดีกับ ก. ค้างดอกเบี้ยกับ ข. ข. จึงนำลูกโคไปขาย นำเงินมาชำระ ค่าดอกเบี้ยและเงินต้น ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(1) ข. มีอำนาจที่จะนำลูกโคไปขายหรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง จะติดตามเอาทรัพย์นั้นคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 761 “ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจากทรัพย์สินนั้น อย่างไร ท่านให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น”
มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้จึงดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
วินิจฉัย
มาตรา 761 ได้วางหลักไว้ว่า หากทรัพย์สินที่จำนำมีดอกผลนิตินัย (เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือเงินปันผล) เกิดขึ้นให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้ที่ได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น เว้นแต่ในสัญญาจำนำจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ถ้ามีการตกลงกันว่าให้ดอกผลนิตินัยเป็นของผู้จำนำ ดังนี้ ก็ต้องเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้
ตามอุทาหรณ์ กรณีแรก การที่ ก. กู้เงิน ข. 1 แสนบาทโดยนำรถยนต์มาจำนำไว้เป็นประกันหนี้นั้นและมีข้อสัญญาว่า ถ้า ก. ค้างดอกเบี้ยหรือเงินต้น ข. สามารถเอารถยนต์ที่จำนำให้คนเช่าขับเป็นแท็กซี่ได้ ดังนี้เมื่อ ข. นำรถยนต์ที่จำนำให้เช่าและได้ค่าเช่ามา ค่าเช่านั้นถือเป็นดอกผลนิตินัย
และเมื่อมิได้มีการ ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาจำนำ ข. จึงต้องนำค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยนั้น จัดสรรชำระค่าดอกเบี้ยที่ ก. ค้างชำระแก่ ข. ก่อน ถ้ายังมีเงินเหลือหรือในกรณีที่ไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ให้นำไปจัดสรรชำระเงินต้น ตามมาตรา 761
สำหรับกรณีหลัง การที่ ก. กู้เงิน ข. แล้วนำแม่โคพ่อโคไปจำนำไว้ ต่อมาแม่โคตกลูกออกมา ดังนี้ลูกโคถือว่าเป็นดอกผลธรรมดา และย่อมตกเป็นของผู้จำนำคือ ก. ซึ่งเป็นเจ้าของแม่โค และแม้ข้อเท็จจริง จะปรากฏว่า ก. ค้างดอกเบี้ย ข. อยู่ ข. ก็จะนำลูกโคไปขายเพื่อนำเงินมาชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นไม่ได้
เพราะตามมาตรา 761 สิทธิของผู้รับจำนำนอกจากจะครอบตัวทรัพย์ที่จำนำและครอบถึงดอกผลด้วยนั้น ก็จะครอบเฉพาะดอกผลนิตินัยเท่านั้นไม่ครอบถึงดอกผลธรรมดาด้วย ดังนั้น ก. ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงของลูกโค ย่อมสามารถติดตามเอาลูกโคคืนได้ตามมาตรา 1336
สรุป กรณีแรก ข. จะต้องนำค่าเช่าจัดสรรชำระค่าดอกเบี้ยที่ ก. ค้างชำระก่อน ถ้ามีเงินเหลือ หรือไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ ก็ให้นำไปจัดสรรชำระเงินต้น
กรณีหลัง (1) ข. ไม่มีอำนาจนำลูกโคไปขาย
(2) ก. เป็นเจ้าของที่แท้จริงของลูกโค และสามารถติดตามเอาลูกโคคืนได้